สภาฯ ฉลุย 451 เสียง รับหลักการแก้ร่างพ.ร.บ.ประชามติ ปลดล็อคโหวต 2 ชั้น พร้อมตั้งกมธ.ถกกฎหมาย “ก้าวไกล” ส่ง “ปิยบุตร” ร่วมเป็นกมธ. ด้าน “พริษฐ์” จ่อเสนอญัตติถกคำถามประชามติแก้รธน.ต่อสภา
วันที่ 18 มิ.ย.67 เวลา 09.30 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญ มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ จำนวน 4ฉบับ ที่เสนอโดยครม. พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทย โดยเนื้อหาร่างทั้ง 4 ฉบับ มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันคือ ขอแก้ไขผลการออกเสียงประชามติที่ถือเป็นข้อยุติ จากเดิมที่มีเงื่อนไขกำหนดล็อคไว้ 2 ชั้นคือ 1.ต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ 2.ต้องมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ ให้มีขั้นตอนผ่านการทำประชามติได้ง่ายขึ้น แต่ละฉบับเสนอแก้ไขให้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์คะแนนเสียงที่ผ่านประชามติแตกต่างกันไป อาทิ ร่างของรัฐบาล ขอให้ยึดเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง และคะแนนเสียงข้างมากต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง และสูงกว่าคะแนนโหวตโน
ทั้งนี้ร่างพรรคเพื่อไทย ให้ยึดเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนโหวตโน แต่ไม่มีเงื่อนไขเรื่องต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียง ร่างพรรคก้าวไกล ให้ยึดเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง ขณะที่ร่างของพรรคภูมิใจไทย เสนอให้แบ่งการทำประชามติเป็น 2ประเภทคือ 1.ประชามติเพื่อให้คำปรึกษาแก่ครม. ไม่ต้องอาศัยเสียงข้างมาก 2ชั้น ให้ยึดเอาเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงก็เพียงพอ 2.ประชามติเพื่อหาข้อยุติ ให้ยึดจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีคะแนนสูงกว่าคะแนนโหวตโน
จากนั้นที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้สส.แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง สส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอภิปรายแสดงความเห็นด้วยกับการแก้ไขขั้นตอนการทำประชามติให้มีหลักเกณฑ์ที่ผ่านการทำประชามติง่ายขึ้น ไม่ต้องยึดเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2ชั้น โดยมองว่า หลักเกณฑ์เดิมที่ใช้อยู่ เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติในการผ่านประชามติ เนื่องจากการออกเสียงประชามติเป็นเพียงการสอบถามความเห็นประชาชนในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง บางประเด็นอาจไม่ได้อยู่ในความสนใจของประชาชนโดยทั่วไป จึงไม่ออกมาใช้สิทธิ จึงไม่ควรนำจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงมามีผลต่อการออกเสียง
รวมถึงเสนอให้เพิ่มรูปแบบการทำประชามติในแบบอื่นๆเช่น ไปรษณีย์ อุปกรณ์อิเลคทรอนิก เพิ่มเติมนอกเหนือจากช่องทางการใช้บัตรลงคะแนน โดยให้กกต.ออกแบบระบบ เพื่อป้องกันการทุจริต ขณะที่สส.บางส่วนเสนอให้สามารถทำประชามติได้ในวันเดียวกับการเลือกตั้งสส. หรือวันเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อประหยัดงบประมาณ
จากนั้นให้มีการอภิปรายสรุป นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายสรุปว่า การแก้ไขเกี่ยวกับการใช้เสียงผ่านประชามติ ควรใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับเห็นชอบรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้นพรรคเพื่อไทยเสนอตรงไปตรงมา ในกรณีเสียงข้างมากสองชั้นเป็นกติกาที่ผู้ไม่เห็นด้วยรวมกับผู้ไม่มาออกเสียงลงคะแนนเป็นเสียงข้างมากและชนะผู้ที่ลงคะแนนเห็นชอบ ทั้งนี้สอดคล้องกับฉบับของรัฐบาล และไม่ต่างจากพรรคก้าวไกล นอกจากนั้นยังแก้ไขเกี่ยวกับการรณรงค์เรื่องที่ออกเสียงให้ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยทำได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบิดเบือนที่นำไปสู่การลงประชามติในเรื่องใดๆ เพราะเข้าใจผิด
“เป็นความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ต่อการแก้มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญ และไม่ให้พ.ร.บ.ประชามติขัดขวางการแก้ไข ดังนั้นด้วยหลักเกณฑ์ที่ตรงไปตรงมาคือ รัฐธรรมนูญฉบับแม่ทำประชามติด้วยหลักเกณฑ์อย่างไร ประชามติที่เกิดขึ้นโดยกฎหมายประชามติ ต้องเป็นไปหลักเกณฑ์เดียวกัน การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่ถูกยับยั้งหรือขัดขวาง แต่หากไม่แก้ไขให้ถูกต้อง การทำประชามติที่เกิดขึ้น อาจทำให้ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีกยาวนาน เพราะจะสรุปว่าประชาชนทั่วประเทศไม่เห็นด้วย” นายจาตุรนต์ อภิปราย
ขณะที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสรุปว่า ในการอภิปรายยของ สส. พบว่ามีการตั้งคำถามถึงการออกแบบคำถามประชามติ ซึ่งไม่เกี่ยวและอยู่ในเนื้อหาของร่างแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติ ดังนั้นพรรคก้าวไกลจะรวบรวมสส. เพื่อเสนอญัตติเพื่อถกเถียงถึงข้อเสนอคำถามประชามติเพื่อให้เป็นเวทีที่นำไปสู่การตั้งคำถามที่เหมาะสม หลังจากที่ พ.ร.บ.ประชามติฉบับแก้ไขแล้วเสร็จ
หลังจากที่ที่ประชุมอภิปรายแล้วเสร็จ ซึ่งใช้เวลา เกือบ 5 ชั่วโมง ได้ลงมติรับหลักการวาระแรก ด้วยเสียงเห็นชอบเอกฉันท์ 451 เสียง งดออกเสียง 1 คน จากนั้นได้เสนอตั้งกมธ. 31 คน ทั้งนี้ในการเสนอชื่อบุคคลเป็น กมธ.วิสามัญ นั้น พบว่า พรรคก้าวไกล เสนอได้ 7 คนโดยหนึ่งในนั้น พบชื่อของนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ขณะที่สัดส่วนของครม. ได้ส่ง นายชัยเกษม นิติศิริ แคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย
ขณะที่นางมนพร เจริญศรี รมช. คมนาคม กล่าวขอบคุณสภาฯ ที่รับหลักการ และเชื่อว่าจะสร้างระบอบประชาธิปไตยไทยมั่นคงและเข้มแข็ง