วันเสาร์, มิถุนายน 29, 2024
หน้าแรกNEWS“ศิริกัญญา”สับงบฯ 68 ทำสถิติขาดดุลสูงสุดเกือบ 4 ทศวรรษ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ศิริกัญญา”สับงบฯ 68 ทำสถิติขาดดุลสูงสุดเกือบ 4 ทศวรรษ

“ศิริกัญญา” สับรัฐตั้งงบฯ 68 เสพติดขาดดุลสูงในประวัติการณ์เกือบ 4 ทศวรรษ ใช้เงินมือเติบเสี่ยงพาประเทศล่ม ดันทุรังทำดิจิทัลวอลเล็ต หวังส่งหนี้ก้อนโตให้รบ.ชุดต่อไปไร้ความรับผิดชอบ จวกหาเจ้าภาพไม่ได้ตัดแปะในงบกลาง เหน็บนโยบายกล่องดวงใจซอฟต์พาวเวอร์ถูกสำนักงบฯหั่นไม่สนลูกใคร

วันที่ 19 มิ.ย.2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯสมัยวิสามัญ โดยมีนายมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เป็นจำนวน 272,700 ล้านบาท วาระแรก เวลา 13.50 น. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า การจัดงบประมาณปี 2568 ทำให้ประเทศไทยทำลายสถิติวินัยทางการคลังหลายตัว นอกจากรายจ่ายลงทุนที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปีแล้ว การตั้งงบขาดดุลต่อจีดีพีหรือการกู้ขาดดุลก็สูงที่สุดในรอบ 36 ปีเช่นกัน

ขณะที่ดอกเบี้ยต่อรายได้ก็สูงที่สุดในรอบ 14 ปีเช่นเดียวกับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็สูงที่สุดในรอบ 29 ปี แต่ก็ยังมีเรื่องดีคือการชำระคืนเงินต้นต่องบก็สูงที่สุดในรอบ 31 ปี ซึ่งในหลายประเทศที่มีปัญหาการคลังเรื้อรังก็มีการกำหนดไว้ในกฎหมายว่าจะไม่กู้ชดเชยขาดดุลเกิน 3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่ประเทศไทยในปีนี้จะอยู่ที่ 4.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี และในปี 2567 ที่มีการกู้เพื่อทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็จะทำให้งบขาดดุลต่อจีดีพีสูงถึง 4.3 เปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกัน

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า จริงๆ เราไม่เคยทำแบบนี้เลย ถือเป็นความกล้าหาญที่กล้าทำขนาดนี้ แต่แน่นอนว่าอาจจะมีหลายปีที่ถือว่ามีวิกฤตทำให้ต้องกู้มากกว่าที่ตั้งขาดดุลไว้ หรือจำเป็นต้องมีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อกู้เงินเพิ่มเติม แต่ในการวางแผนงบประมาณในปีปกติที่ไม่ใช้ปีที่เป็นวิกฤตเศรษฐกิจก็ไม่ต้องกู้มากเช่นนี้ และดูเหมือนรัฐบาลจะเริ่มเสพติดการขาดดุล เพราะเป็นการกู้เต็มเพดานทุกปีตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาที่กู้แค่ 50-80 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่หากมาดูปีหลังๆ กลับกู้มากขึ้นซึ่งหากจะกู้เต็มเพดานในช่วงที่มีวิกฤตโควิดก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ในปี 2567 และ 2568 กลับกู้สูงถึง 99 เปอร์เซ็นต์

“ปัญหาคือเมื่อเราใช้จ่ายเกินตัวแต่หาเงินไม่ทันก็จะทำให้ชีวิตเราเสี่ยง แต่ครั้งนี้ไม่ได้เสี่ยงแค่คนๆ เดียว แต่รัฐบาลนี้ที่ใช้เงินมือเติบนั้น ท่านกำลังพาประเทศไปเสี่ยงด้วย แล้วหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน น้ำท่วมหนัก แล้งหนัก หรือมีโรคระบาดอีกครั้ง เราจะไม่เหลือพื้นที่และงบประมาณไปรองรับเช่นนั้นได้ แต่ที่รัฐบาลกำลังทำอยู่คือทำตัวโนสน โนแคร์ ว่าประเทศไปเสี่ยงเช่นนี้เพราะแค่ต้องการให้มีเงินมากพอที่จะทำโครงการเดียวนั่นคือโครงการดิจิทัลวอลเล็ต” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า ขณะที่สัดส่วนรายจ่ายลงทุนสูงสุดในรอบ 17 ปีนั้น ที่นายกรัฐมนตรีดูเหมือนจะภูมิใจในเรื่องนี้แต่จริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเช่นนั้น เพราะในจำนวนนี้มีงบดิจิทัลวอลเล็ตรวมอยู่ด้วยถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เมื่อเราลองตัด 80 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นโครงการดิจิทัลวอลเล็ตออกไปก็พบว่ารายจ่ายลงทุนจะเหลืออยู่ที่ 20.8 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าปริ่มเกณฑ์ขั้นต่ำเท่านั้น และอาจจะมีการจงใจตัดงบรายจ่ายประจำบางรายการออก ซึ่งหากได้งบเต็มรายการ ยอดรายจ่ายลงทุนจะอยู่เพียงแค่ 16.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และที่พรรค ก.ก.เคยถูกกล่าวหาว่าจะตัดบำนาญราชการ แต่คนที่ตัดจริงๆ คือรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งอาจจะบอกว่าไปใช้งบกลางหรือเงินคงคลังก็ได้ แต่เรื่องนี้อยู่ที่การจัดความสำคัญและเกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ปีนี้ที่หนักขึ้นเพราะรัฐบาลต้องพยายามประดิษฐ์ตัวเลขให้อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง และงบกลางต้องถูกกันเอาไว้เพื่อใช้ทำดิจิทัลวอลเล็ต

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ที่ต้องตั้งงบคืนเงินต้นไว้สูงก็เพราะต้องนำไปขยายกรอบการกู้ขาดดุล ที่มาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 20 เปอร์เซ็นต์บวกกับงบชำระเงินต้น 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากยังคงการชำระเงินต้นไว้ที่ 1.4 แสนล้านบาทกรอบก็จะไม่พอทำดิจิทัลวอลเล็ต แม้จะมีผลออกมาเป็นที่น่าพอใจแต่สุดท้ายก็ใช้ทำแค่โครงการเดียวคือดิจิทัลวอลเล็ต ขณะที่ตัวชี้วัดที่ 4 หนี้สาธารณะต่อจีดีพี ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทุบสถิติในช่วงปี 2564 และหลังจากนั้นก็ไม่เห็นว่าหนี้สาธารณะจะลดลงได้ โดยสถิติจะพลิกอีกครั้งในปี 2570 ที่จะพุ่งสูงเกือบ 69 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่เพดานการกู้อยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ และรัฐบาลนี้จะพยายามส่งมอบหนี้ก้อนใหญ่แบบนี้ให้รัฐบาลต่อไปโดยไม่รับผิดชอบอะไรทางการคลังเลยหรือ

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า แม้ปีนี้จะเบ่งงบประมาณถึง 3.752 ล้านล้านบาท แต่ใช้ได้จริงๆ เพียงแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น เพราะมีงบประมาณบางตัวที่ไม่สามารถตัดได้ เมื่อคิดเช่นนี้แล้วงบที่จะนำไปพัฒนาประเทศต่างๆ นำไปทำตามโครงการอิกไนท์ไทยแลนด์หรือนโยบายของรัฐบาลก็เหลือไม่ถึง 1 ล้านล้านบาทด้วยซ้ำ ซึ่งทางออกทางเดียวคือต้องเพิ่มรายได้และแสดงศักยภาพหาเงินให้ประเทศได้แล้ว รัฐบาลมีความพยายามที่จะขับเคลื่อนนโยบายของตัวเองอย่างเห็นได้ชัด แต่ท่านกลับสั่งและให้โจทย์ไปอย่างเดียวแต่ไม่ได้แนวทางและทิศทาง

“ขณะที่โครงการซอฟต์พาวเวอร์ที่เป็นกล่องดวงใจกลับถูกหั่นงบลงไม่ถึงครึ่งทั้งที่ขอไป 12,000 ล้านบาท เหลือจริงๆ แค่ 5,200 ล้านบาท เรียกได้ว่าสำนักงบประมาณตัดหมดไม่สนลูกใคร ฝากถึงนายกฯ ว่าหากจะอยากผลักดันโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ขอให้ได้ถึงครึ่งของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะดีมาก เพราะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมากเกินไป ซึ่งไม่ใช่แค่งบประมาณ ภาระทางการคลัง หรือทรัพยากรเท่านั้นแต่สมาธิของคณะรัฐมนตรีด้วยที่หายไปและถูกทุ่มให้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตโครงการเดียว” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า ซึ่งเรายังต้องมาลุ้นกันต่อว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะได้ทำหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ใส่รายละเอียดไว้แต่กลับเพิ่มรายการใหม่เข้ามาในงบกลาง คือ 1.รัฐบาลได้หาทางหนีทีไร่หากไม่ได้ทำก็จะได้ทำอย่างอื่นได้ง่ายขึ้น 2.ที่ไม่ได้ใส่ลงไปในรายจ่ายฉุกเฉินแต่นำมาใส่ในงบกลาง เพราะหากใส่ในรายจ่ายฉุกเฉินก็จะเกินกรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ไม่ให้เกิน 3.5 เปอร์เซ็นต์ และ 3.หาเจ้าภาพไม่ได้จึงนำมาแปะลอยๆ ซึ่งถือเป็นความบริหารที่ผิดพลาดจากการที่หาเจ้าภาพไม่ได้จึงต้องใช้ข้ออ้างในการนำมาแปะไว้ในงบกลาง นี่ไม่ใช่แค่ท่านเอาตัวเองไปเสี่ยงคนเดียว เอาประเทศเป็นเดิมพัน แต่ยังเอาข้าราชการประจำไปเสี่ยงด้วย และเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) จะใช้ได้หรือไม่ได้ หรือจะเป็นไปตามเจตนาของ ธกส.หรือไม่ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ส่งให้กฤษฎีกาตีความ หรือแม้แต่จะส่งเข้าบอร์ด ธกส.ตีความก็ยังไม่ทำ และขอฝากไปถึงข้าราชการประจำทุกท่านหากท่านพบว่ามีข้อผิดพลาดขอให้ส่งหนังสือท้วงติงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรต่อความไม่ชอบมาพากลทั้งในด้านกฎหมายและวิชาการก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img