การเมือง/รัฐสภา/ 20 มิ.ย.
‘วิโรจน์’ ลั่นภูมิใจก้าวไกลเขย่าขวัญ ‘สุทิน’ได้ สับเละงบกลาโหมไม่คำนึงภัยคุกคามประเทศ แต่เพื่อความกินหรูอยู่สบายของนายพล ปล่อยลดอัตรานายพลเป็นไปตามธรรมชาติ แต่เอามาเคลมเป็นผลงาน จับตางบซื้อเครื่องบินขับไล่กองทัพอากาศ 1.95 หมื่นล้าน เตือนอย่าให้ซ้ำรอยเรือฟริเกต
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณกระทรวงกลาโหมว่า ที่ผ่านมาพบว่ากระทรวงกลาโหม มีอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนในระดับที่ต่ำมากๆ และต่ำอย่างน่าเป็นห่วง โดยข้อมูลวันที่ 7 มิ.ย. 67 พบว่าอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนงบปี 67 ของกระทรวงกลาโหมอยู่ที่ 17.67 % กองทัพบกงามไส้ที่สุด 4.89% เข้าใจว่าวันนี้น่าจะดีขึ้นแต่น่าจะไม่ถึง 20 % กองทัพเรือ 23.24 % กองทัพอากาศ 11.73% ซึ่งปีงบประมาณ 67 ที่เหลืออีก 3 เดือนจะเบิกจ่ายทันได้อย่างไร เป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนที่ย่ำแย่มากๆ สะท้อนถึงอาการโรคที่ไม่ตั้งใจส่งเสริมความมั่นคงประเทศให้สอดรับกับบริบทภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก
นายวิโรจน์ กล่าวว่า อัตราการเบิกจ่ายงบของกองทัพเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน สุดท้ายนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ก็มาระดมเปิดใบสั่งซื้อในช่วงท้ายปีงบประมาณ ท่ามกลางข่าวหนาหูว่าที่ล้าช้าอาจเป็นเพราะต้องใช้เวลาไปกับการเรียกรับเงินทอนกับบริษัทโบรกเกอร์ที่ทำหน้าที่ซื้ออาวุธมาแล้วก็ขายไป ยานเกราะที่ซื้อมาใช้ได้ซักพักก็จอดซ่อมนานแรมปี เพราะต้องรออะไหล่ เป็นปัญหาเดิมๆ ที่กองทัพก็รู้ๆ กันอยู่ แต่ก็ไม่ยอมซื้อยานเกราะที่ผลิตโดยผู้ผลิตอาวุธภายในประเทศ ทั้งที่โรงงานเหล่านั้นเคยผลิตส่งขายต่างประเทศทั่วโลกและขายให้กับสหประชาชาติด้วยซ้ำ มีอะไหล่ และวิศวกรที่รอซ่อมบำรุงให้กองทัพอย่างทันท่วงที ขาดแต่ว่าไม่มีสำรองเงินทอนไว้ปรนเปรอนายพลเท่านั้นเอง
นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า นายทหารระดับสูงและรมว.กลาโหมทราบดีว่าอุปสรรคสำคัญที่ทำให้กระทรวงกลาโหมขาดงบประมาณในการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพก็คืองบบุคลากรที่มีสัดส่วนที่สูงมาก จนกองทัพไม่มีเงินเหลือพอที่จะลงทุนด้านความมั่นคง ไม่มีเงินที่จะซื้อเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่ทันสมัยที่เห็นภัยความมั่นคงในรูปแบบใหม่เกิดขึ้นตรงหน้า ถ้าดูงบบุคลากรในภาพรวมของกระทรวงกลาโหม แม้ว่าจะลดลง แต่ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากการปรับปรุงโครงสร้างภายในกระทรวงเลย โดยงบบุคลากรของทั้งกระทรวงลดลงเพียงแค่ 2,519 ล้านบาท ลดลงเพียงแค่ 2.31 % แต่ภาพรวมของกระทรวงกลาโหมทั้งกระทรวงกลับได้รับงบประมาณปี 68 เพิ่มขึ้น 2,603 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.31 %
นายวิโรจน์ กล่าวว่า กองทัพบกงบบุคลากรลดลง 2,179 ล้านบาท ลดลง3.54 % แต่ปี 68 งบของกองทัพบกอยู่ที่ 9.605 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 681 ล้าน หรือ 0.71 % กองทัพเรืองบบุคลากรลดลง 344 ล้านบาท ลดลง 1.62 % แต่ในปี 68 งบของกองทัพเรืออยู่ที่ 4.15 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 507 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.23 % กองทัพอากาศ งบบุคลากรลดลง 193 ล้านบาท ลดลง 1.33 % แต่ในปี 68 งบของกองทัพอากาศอยู่ที่ 3.69 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 529 ล้านบาท หรือ 1.45 % สรุปทุกเหล่าทัพงบเพิ่มขึ้นเรียบวุธ เมื่อเห็นการลดลงของงบบุคลากรแล้วอาจจะนึกดีใจ คิดว่ากองทัพมีการปรับตัว แต่ตนยืนยันว่าการลดแบบนี้เป็นการลดแบบธรรมชาติ ไม่ได้ลดจากการปรับปรุงโครงการสร้างภายในกระทรวงแต่อย่างใด
นายวิโรจน์ กล่าวว่า เป็นการลดแบบพอเป็นพิธีเพราะกลัวฝ่ายค้านด่า เพราะ รมว.กลาโหมเคยยอมรับกลางสภามาแล้ว แบบไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนบอกว่ากลัวก้าวไกล จริงๆ ตนแอบภูมิใจว่าเป็นประธานกมธ.การทหารที่แอบสร้างความหวาดกลัวให้กับรมว.กลาโหมได้ถึงเพียงนี้ มือตนนี่สั่นรอรับพวงมาลัยจากท่านเลย ตนอยากฝากบอก รมว.กลาโหมว่าคราวหน้าให้เอาพวงมาลัยมาแลกกับวิโรจน์ อย่าเอาพวงมาลัยไปให้กับคนที่เขาไม่อยากรับเลยเสียจะดีกว่า การลดงบประมาณบุคลากรที่เกิดขึ้นเกิดจากการทยอยเกษียณของกำลังพลที่รับบรรจุในช่วงสงครามเย็นหรือก่อน 14 ต.ค. 16 หรือ 6 ต.ค. 19 ที่ครบกำหนดเกษียณในช่วงเวลานี้พอดี ทำให้งบบุคลากรลดลงตามธรรมชาติไม่ได้เกิดจากความพยายามใดๆ ของรมว.กลาโหมเลย ใครนั่งเป็นเสนาบดีก็ลดลง ความพอดิบพอดีไม่ใช่ปัญหา ตนมองว่าเป็นโอกาสด้วยซ้ำไป แต่แทนที่ รมว.กลาโหมจะเป็นพลเรือน จะใช้จังหวะนี้เปลี่ยนผ่านให้อำนาจประชาชนนำกองทัพให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน เร่งควบรวมหน่วยงานต่างๆ ภายในกระทรวงกลาโหมอย่างจริงจังก็ไม่ยอมทำ จะปิดอัตราบรรจุที่เกษียณไปแล้วเพื่อไม่ให้กลับเข้ามาก็ไม่ทำ
“ตอนนี้ถ้าให้น้องหญิงกับเสด็จพี่เอาไม้กายสิทธิ์ไปจิ้มตรงไหนในกองทัพจะมีแต่เสียงคลื่น รมว.กลาโหมก็เอาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติอยู่แล้วมาเคลมเป็นผลงานไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างอะไร จะชวนนายทหารมาพนมมือและบริกรรมคาถาด้วยอำนาจ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สัตว์ปีกทั้งหลายที่ไม่อยากเวียนว่ายตายเกิด แล้วก็จะจบลงด้วยแล้วทุกอย่างจะดีเอง สาธุ อย่างนั้นหรือ จะเอาอย่างนี้จริงๆ หรือ” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวว่า โครงการเออรี่รีไทร์ทำมาตั้งแต่ปี 63 ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สาเหตุที่ไม่ประสบความสำเร็จคือไม่มีงบที่จะจ่ายให้นายทหารที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งใช้งบแค่ปีละประมาณ 250 ล้านบาท คิดเป็นการจ่ายเงินชดเชยประมาณ 7 เดือน สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเคยส่งเข้า ครม.มาแล้ว แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งในปี 68 ตนตรวจดูไม่พบงบในส่วนนี้ เช่นเดียวกัน แล้วโครงการเออร์ลี่รีไทร์จะประสบความสำเร็จได้อย่างไร ส่วนที่โฆษณาบอกว่าจะลดนายพลลงครึ่งหนึ่ง ต้องอ่านหมายเหตุให้ดี เพราะว่าเป็นการลดจำนวนพลที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้น จากปี 51 ที่มีอยู่มากถึง 162 นาย ปัจจุบันลดลงอย่างต้วมเตี้ยมเหลืออยู่มากถึง 433 นาย กว่าจะเหลือ 384 นายตามเป้าหมายต้องรอถึงปี 71 ส่วนนายพลอีก 965 นายถ้าไม่คิดจะคิดควบรวมหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนในกระทรวงกลาโหม นายพลทั้ง 965 นายนี้ก็จะดำรงอยู่ต่อไป
นายวิโรจน์ กล่าวว่า สถานการณ์ความมั่นคงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่ ตนคิดว่านายทหารระดับสูงและรมว.กลาโหมรู้ดี คือ สถานการณ์ชายแดนพม่า ซึ่งมีการใช้ระเบิดนำวิถีโจมตีทางอากาศ มีรายงานว่ามีการใช้โดรนพลีชีพ ความถี่ของกิจกรรมที่ผิดกฎหมายในพื้นที่ชายแดน ยาเสพติด ค้ามนุษย์ ค้าของเถื่อนก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่ามีรายงานการใช้โดรนมาใช้ในปฏิบัติการ แต่กองทัพบกให้ความสำคัญต่ำมากๆ แม้ว่าในปีงบประมาณนี้มีโครงการจัดหาอากาศยานไร้นักบินทางยุทธวิธีหรือโดรนก็เป็นการจัดซื้อแค่ 10 ตัว มีกรอบวงเงินเพียงแค่ 700 ล้านบาท สำหรับแอนตี้โดรน เพื่อสกัดโดรนของฝ่ายตรงข้ามก็มีวงเงินจุ๋มจิ๋มเพียงแค่ 540 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณ 68 เพียงแค่ 81 ล้านบาท เท่านั้น สะท้อนถึงการประเมินสถานการณ์ที่ต่ำและล้าหลังมาก และเป็นการจัดงบที่ไม่สะท้อนกับรายงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติเลย เห็นสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นหัวหลักหัวตอ นี่หรือกองทัพที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของประเทศ
นายวิโรจน์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องงบประมาณในโครงการซ่อมแซมและปรับปรุงยุทโธปกรณ์ของกองทัพบก แม้งบประมาณจะเพิ่มขึ้นจาก 2,810 ล้านบาท มาเป็น 2,902 ล้านบาทในปี 68 เพิ่มขึ้น 92 ล้านบาท แต่พอมาพิจารณางบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดหาเงินซื้ออะไหล่ ประกาศว่าถูกปรับลดในปี 68 ให้เหลือแค่ 1,095 ล้านบาท ลดจากปี 67 ถึง 580 ล้านบาท จึงเกิดข้อสงสัยว่าในเมื่องบซื้ออะไหล่ลดลงแล้วจะแก้ปัญหายานเกราะ ยานพาหนะที่ใช้ในยุทธการที่จอดรอซ่อมอยู่จำนวนมากได้อย่างไร จึงเชื่อได้ว่างบที่เพิ่มขึ้น 92 ล้านบาท น่าจะเป็นเพียงการบำรุงรักษาพื้นฐาน ยานเกราะที่จอดรอซ่อมจำนวนมากเพราะรออะไหล่ก็ยังต้องจอดปลูกสะระแหน่ต่อไปใช่หรือไม่ งบซ่อมบำรุงรวมกัน 195 ล้านบาทเทียบกับงบค่ารถประจำตำแหน่งของบรรดานายพลอยู่ที่กว่า 550 ล้านบาท นี่หรือคือการจัดงบประมาณที่คำนึงถึงภัยคุกคาม ตนคิดว่านี่คือการจัดงบเพื่อความกินหรูอยู่สบายของเหล่าบรรดานายพลโดยไม่คำนึงถึงการปฏิบัติงานของเหล่าทหารหาญมากกว่า
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ถ้าไม่แก้ไขที่โครงสร้างหน่วยงานภายในกระทรวงกลาโหม ปรับลดอัตราบรรจุข้าราชการให้สอดรับกับบริบทความมั่นคงในโลกยุคใหม่ และภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เพื่อให้งบบุคลากรลดลงอย่างมีนัยสำคัญและยังหลอกตัวเองไปกับการลดลงของงบบุคลกรแบบธรรมชาติต่อไปเรื่อยๆ กองทัพจะไม่มีพื้นที่ทางการคลัง ไม่มีงบประมาณที่เพียงพอต่อการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ ไม่มีงบลงทุนในเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งจะทำให้กองทัพอ่อนแอในระยะยาว มีเพียงความพร้อมในการก่อรัฐประหารและประหัตประหารชีวิตพี่น้องประชาชนเท่านั้นเอง
นายวิโรจน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ในปี 68 ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการส่งกำลังและซ่อมบำรุงและผลิตเพื่อแจกจ่ายของกองทัพบก สูงถึง 3,904 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 1,286 ล้านบาท ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตทุกปีว่างบก้อนนี้มีอัตราการเบิกจ่ายที่ต่ำ และมักถูกเปลี่ยนแปลงไปจัดซื้ออาวุธประเภทอื่น โดยใช้ระเบียบกระทรวงกลาโหมเป็นเครื่องมือ จึงฝากกมธ.วิสามัญฯ ติดตามงบก้อนนี้อย่างเข้มงวดด้วย เรื่องนี้ต้องสะกิดบอก รมว.กลาโหมไว้ด้วย เพราะแม้แต่นายสุทิน ที่เป็น รมว.กลาโหมก็ได้แต่มองตาปริบๆ เหมือนกัน เพราะระเบียบนี้ในข้อที่ 17 เขียนไว้ว่าเมื่อกองทัพตกลงกับสำนักงบฯ แล้วให้รายงานให้ รมว.กลาโหมภายใน 45 วัน หมายความว่าระเบียบนี้อนุญาตให้กองทัพงุบงิบกับสำนักงบฯ ได้ แล้วค่อยมาแจ้งให้รมว.กลาโหมทราบในภายหลัง ทำเหมือน รมว.กลาโหม เป็นแค่โฆษกกองทัพบก คือรู้ทีหลังแล้วก็ไปชี้แจงด้วยก็แล้วคน คนที่ลงนามในระเบียบนี้เมื่อปี 63 ไม่ใช่ใคร แต่คือพล.อ.ประยุทธ์ ตนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นายสุทินจะกล้าแก้ไขระเบียบ ฉบับนี้เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องเป็นหัวหลักหัวตอถูกเปลี่ยนแปลงงบประมาณแบบข้ามหัวอีกต่อไป
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้โครงการที่มีงบผูกพันวงเงินสูงสุดในงบปี 68 คือโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ทดแทนระยะที่ 1 ของกองทัพอากาศที่มีวงเงินสูงถึง 1.95 หมื่นล้านบาท ผูกพันงบประมานตั้งแต่ปี 68-72 งวดแรกผูกพันไว้ 15 % หรือคิดเป็นมูลค่า 2,925 ล้านบาท ตนเข้าใจความจำเป็นของโครงการนี้ เพราะเครื่องบินขับไล่ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีอายุการใช้งานมาถึง 35 ปีแล้ว แต่ขอร้องไปยังรัฐบาลว่าจะต้องไม่เป็นการเอาเงินภาษีไปแลกมาดื้อๆ ต้องคำนึงถึงนโยบายชดเชยทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ทำให้ประชาชนที่เป็นพลเรือนได้ประโยชน์ร่วมด้วย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการทหาร และการพัฒนาประเทศ ซึ่งหากกระบวนการจัดซื้อเป็นไปอย่างโปร่งใส พรรคก้าวไกลพร้อมสนับสนุน เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับโครงการจัดซื้อเรือฟริเกต
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า สุดท้ายประชาชนควรจะคาดหวังกับรมว. กลาโหม ว่าจะสามารถเปลี่ยนผ่านให้กองทัพอยู่ภายใต้พลเรือน แต่ที่ผ่านมา งบประมาณไม่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญได้เลย
“รัฐมนตรีพลเรือนกลับเป็นเพียงหุ่นเชิด เป็นโฆษกคอยแก้ต่างให้กองทัพ ดำเนินโนบาย ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ ของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง อาจจะทำได้ดีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ทำเองด้วยซ้ำ น่าผิดหวังมากที่คุณสุทินไม่สามารถโอบรับความหวังของประชาชนในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองได้เลย” นายวิโรจน์กล่าว