“นิด้าโพล” เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนพบว่า 39.77 เชื่อมีดีลลับทางการเมือง พรรคร่วมรัฐบาบพยายามล้มรัฐบาล และเปลี่ยนตัวนายกฯ
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “Believe It or Not! ทางการเมืองไทย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19-20 มิถุนายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับข้อตกลงลับทางการเมือง ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 39.77 ระบุว่า เชื่อมาก รองลงมา ร้อยละ 31.06 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 15.73 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 10.31 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย และร้อยละ 3.13 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับความพยายามของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะล้มรัฐบาลนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 31.45 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ รองลงมา ร้อยละ 26.03 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 21.83 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย ร้อยละ 17.71 ระบุว่า เชื่อมาก และร้อยละ 2.98 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ส่วนความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีที่อาจจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 28.70 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย รองลงมา ร้อยละ 28.02 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 25.34 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 15.73 ระบุว่า เชื่อมาก และร้อยละ 2.21 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สำหรับความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 31.15 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ รองลงมา ร้อยละ 23.66 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 21.60 ระบุว่า เชื่อมาก ร้อยละ 20.61 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย และร้อยละ 2.98 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับการใช้เส้นสายทางการเมืองของผู้สมัครบางคนเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 55.42 ระบุว่า เชื่อมาก รองลงมา ร้อยละ 28.55 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 7.63 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 7.48 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย และร้อยละ 0.92 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ