วันอาทิตย์, กันยายน 29, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWS‘ศิริกัญญา’ แจงกลไกยื่นศาล จะเป็นทางเลือกสุดท้าย ยันเห็นช่องใช้ ‘ศาลปกครอง’ ได้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘ศิริกัญญา’ แจงกลไกยื่นศาล จะเป็นทางเลือกสุดท้าย ยันเห็นช่องใช้ ‘ศาลปกครอง’ ได้

ศิริกัญญา’ แจงกลไกยื่นศาล จะเป็นทางเลือกสุดท้าย ยันเห็นช่องใช้ ‘ศาลปกครอง’ ได้ แต่ต้องให้กระบวนการสำเร็จถึงวาระ 3 ชี้ งบ 67 วงเงินทำนโยบาย ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ เสี่ยงผิดกฎหมาย ไม่ได้ใช้งบภายในปีงบประมาณ ไม่เข้าใจรัฐบาล ทำไมยอมเสี่ยงขนาดนี้

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 67 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์รายการ ‘กรรมกรข่าว คุยนอกจอ’ ถึงการไม่รับตำแหน่งในกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ว่า กลายเป็นธรรมเนียมไปแล้ว ครั้งแรกที่เราไม่รับตำแหน่งเพราะกินเวลานานมาก เพียงเพื่อจัดลำดับตำแหน่งให้ทุกคนลงตัวตามที่ทุกคนอยากได้ อย่างรองประธานก็มี 10 กว่าท่าน โฆษกอีก 5-6 ท่าน

“มันวุ่นวาย เราก็เลยตัดปัญหาตรงที่ว่าคุณไปใช้เวลาของคุณให้เต็มที่ แต่พรรคก้าวไกลก็จะไม่รับตำแหน่ง อันนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายปีมาแล้ว และเราก็เลยพบว่าการเป็นแค่กรรมาธิการ ไม่ได้ขัดขวางกระบวนการทำงานในห้องงบประมาณแต่อย่างใด จึงยึดเป็นธรรมเนียมของพรรคก้าวไกล” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีให้สัมภาษณ์ว่าถ้างบ 68 โครงการดิจิทัลวอลเล็ตผ่านวาระสาม อาจจะไปยื่นศาล น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า วันนั้นตนไม่ได้พลาด แต่อาจจะพูดสั้นไปสักหน่อย ตอนอภิปรายงบประมาณก็มีพูดถึงเรื่องที่รัฐบาลสุ่มเสี่ยงที่จะผิดพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตราต่างๆ หลังจากนั้น ก็มีการเตือนข้าราชการประจำด้วยว่า ถ้ากำลังทำอะไรผิด ให้ส่งหนังสือท้วงติงเป็นลายลักษณ์อักษรมาถึงผู้บังคับบัญชา หลังจากนั้นก็วนอยู่ในหัวตนตลอดเวลาว่า ถ้าจะทำต่อจริงๆ จะมีกลไกใดได้บ้าง หลังจากที่เราพยายามในสภาเสร็จสิ้นแล้ว กลไกของศาลอาจจะเป็นตัวเลือกหลังสุดที่เราจะเลือกจะทำ อย่างไรเราก็ต้องสู้สภาให้จบสิ้นก่อน โดยเท่าที่ไปศึกษาก็มีช่องทางที่จะไปที่ศาลปกครองได้ แต่ก็ยังไม่ได้มีการพูดคุยในพรรคให้ตกผลึก

“มีช่องทางที่ไปได้จริงๆ แต่ต้องมีความผิดที่สำเร็จแล้ว ดังนั้น จะต้องมีการออกกฎระเบียบต่างๆ (ของดิจิทัล วอลเล็ต‘) หลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 68 ผ่านทั้งสามวาระแล้ว ดังนั้น ยังสุกดิบอยู่ เดี๋ยวต้องรอกระบวนการที่มันแล้วเสร็จก่อนถึงจะดำเนินการต่อได้ ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะไปที่ศาลปกครองหรือไม่” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

เมื่อถามว่า หลักการยังเหมือนเดิมหรือไม่ ที่อำนาจออกกฏหมายอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ควรให้องค์กรอิสระ อย่างศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาแทรกแซง น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เหมือนเดิม ถ้าเป็นเรื่องนโยบาย เราจะไม่เข้าไปขัดขวาง โดยใช้กระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน และแม้แต่ศาลปกครอง ถ้าเป็นเรื่องนโยบายเราก็ไม่ทำ เพียงแต่ว่ากระบวนการบางกระบวนการ ที่มันอาจจะผิด เราก็อาจจะต้องพิจารณาว่าจะต้องมีช่องทางไหนบ้าง มีกลไกไหนบ้างที่จะไป

เมื่อถามย้ำว่า หากกระบวนการผิด ก็ยังร้องศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า เราก็กังวลเรื่องที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือความผิดที่ไม่ได้เป็นความผิดร้ายแรงที่ส่งผลกระทบขนาดนั้น เราต้องบอกก่อนว่าไม่ใช่ว่าเราไม่เคยใช้ช่องทางศาลรัฐธรรมนูญ อย่างคดีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ก็เป็นการยื่นศาลรัฐธรรมนูญของเรา อย่างไรก็ตาม ด้วยความเหมาะสม หนักเบา ยังคงยึดในหลักการว่า เราจะไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องที่เป็นนโยบาย

เมื่อถามว่า อีกฝั่งหนึ่งกล่าวว่า หากยื่นศาลไม่ว่าจะเป็นศาลใด เพื่อระงับยับยั้งดิจิทัลวอลเล็ต หมายถึงงบประมาณทั้งฉบับต้องชะลออออกไป ประเทศจะเกิดความเสียหาย น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า งบประมาณ 2568 มีความสำคัญที่สุด หากจะระงับยับยั้งนอกเหนือจากกลไกที่ใช้ได้ในสภา ซึ่งเราจะใช้กระบวนการในกรรมาธิการไปจนแล้วเสร็จ แต่สำหรับงบประมาณ 2567 ซึ่งมีการของบเพิ่มเติมกลางปีด้วยการกู้เงินเพิ่มอีก 112,000 ล้านบาท ตรงนี้ไม่ได้กระทบกับใครเลย นอกจากดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแหล่งเงิน ที่มีความเสี่ยงผิดกฎหมาย ถ้ารัฐบาลจะเดินหน้าก็หาแหล่งเงินอื่นได้โดยที่ไม่ต้องเสี่ยงผิดกฎหมาย เราจึงคิดว่าเรื่องงบ 67 จะไม่กระทบประชาชนแน่นอน

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวย้ำว่า งบประมาณ 2567 ที่จะใช้เป็นงบข้ามปี ซึ่งจะอนุมัติในงบปีงบประมาณ 2567 แต่จะขอไปใช้ในปี 2568 ซึ่งงบนี้จำเป็นที่จะต้องใช้ให้หมดภายในปีเท่านั้น ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง การจะใช้ข้ามปีได้ต้องก่อหนี้ผูกพันหรือทำสัญญาให้แล้วเสร็จ แต่ในกรณีดิจิทัลวอลเล็ต ไม่มีการทำสัญญา แต่ถ้ารัฐบาลจะถือว่ามีการลงทะเบียน โดยนับการลงทะเบียนเป็นการผูกพันทำสัญญา ซึ่งมันก็สุ่มเสี่ยง ถ้ามีหน่วยงานที่ใช้กรณีนี้เป็นบรรทัดฐาน แล้วบอกว่าถ้าอย่างนั้นโครงการยังไม่ได้ทำ แต่ให้ประชาชนลงทะเบียนก่อน แล้วถือว่าผูกพันตามสัญญาแล้ว ขอไปใช้ในปีถัดไป แบบนี้จะเกิดความเสียหายได้ในอนาคต จะมีการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีในหลายหน่วย เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นเทคนิค แต่ข้าราชการประจำก็ทราบดีว่า กำลังทำอะไรอยู่

“เป็นช่องทางที่เราเห็นว่า มันทำผิดตำตา เราก็ไม่อยากเห็นการกระทำที่มีความผิดกฎหมายแบบนี้ ซึ่งผลที่เราอยากเห็นก็คืออยากแค่ยับยั้ง ไม่ใช่เป็นการเอาผิดหรือเป็นการล้มโครงการไปเลย รัฐบาลก็ยังเดินหน้าต่อไปได้โดยใช้แหล่งเงินอื่น” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นโครงการที่พรรคเพื่อไทยสัญญากับประชาชนไว้ อย่างไรก็คงต้องให้รัฐบาลทำตามที่สัญญา เราก็คอยดูว่า จะไม่มีกระบวนการไหนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นโยบายที่เขาอยากทำก็ต้องให้ทำไป ส่วนเราเห็นด้วยหรือไม่ก็แสดงความเห็นได้อยู่แล้วทั้งในและนอกสภา และยืนยันว่าจะใช้กระบวนการในสภาให้ถึงที่สุดก่อน

“มันเป็นไปด้วยเหตุผลเดียวจริงๆ ว่า ต้องทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้สำเร็จ เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้เสียอะไรไปมากกว่าในเรื่องของความนิยมความเชื่อใจและชื่อเสียงที่ทำมาในอดีตของรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย มันเลยกลายเป็นว่าต้องยอมแลกทุกอย่าง ทำให้เกิดความเสี่ยงในทุกด้านอย่างที่เห็น ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมถึงต้องยอมทำทุกอย่างขนาดนี้ เพื่อรักษาหน้าอย่างที่เห็น” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img