“กกต.” เบี้ยวแจง “กมธ.พัฒนาการเมืองฯ” อ้างติดภารกิจ “ไอลอว์” จี้เปิดผลกระบวนการเลือก สว.ทุกขั้นตอน เหตุหน่วยเลือกใช้มาตรฐานไม่เหมือนกัน ตัวแทนสื่อ ยันมีจริงกระบวนการดักคอยผู้สมัคร “แยม ฐปณีย์” ยก เป็นการเลือกที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพมากที่สุด ด้าน “ธนกร” ถามความโปร่งใสมันเกิดจากคนสมัครหรือไม่ ลั่นยังไม่เห็นใครผิดกติกา ป้อง กกต. บอกทำหน้าที่ดีแล้ว ตรงไปตรงมาไม่มีส่วนได้เสีย ขออย่าด้อยค่าว่าที่ สว. บอกทุกอาชีพมีสิทธิ์เข้าสภาสูงได้
วันที่ 4 ก.ค. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม วาระการพิจารณาทบทวนและสรุปประสบการณ์การเลือกวุฒิสภา (สว.) โดยเชิญเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ติดภารกิจ ไม่สามารถมาร่วมประชุมได้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มไอลอว์ (i Law) และตัวแทนสื่อมวลชนเข้าร่วมชี้แจงด้วย
โดยตัวแทน i Law ระบุว่า อยากเรียกร้องให้ กกต. เปิดเผยข้อมูลการบันทึกภาพกล้องวงจรปิดทั้งหมด ในการเลือก สว. ทุกระดับ รวมถึงผลคะแนนดิบและผลการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงและตรวจสอบได้ เพราะจากการสังเกตการณ์ไม่สามารถตรวจสอบกระบวนการและผลได้เลย นอกจากนี้มาตรฐานการควบคุมการเลือกไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกันทุกหน่วย พร้อมฝากเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ด้วย เพราะหากยังไม่สามารถแก้ได้แล้วเสร็จ สว.ก็จะมีที่มาในลักษณะนี้
ขณะที่ตัวแทนสื่อมวลชน สะท้อนกระบวนการจัดการหลังบ้านของ กกต. ว่า ระบบการเลือกในครั้งนี้มีปัญหาตั้งแต่ระบบลงทะเบียนแล้ว โดยสื่อมวลชนที่ลงทะเบียนไปตั้งแต่รอบแรก รายชื่อตกหล่น ทำให้ไม่สามารถเข้าไปบันทึกภาพด้านในห้องเลือกได้ ต้องใช้ภาพจากระบบกลางของ กกต. ซึ่งตอนแรกเข้าใจตรงกันว่าจะเป็นการบันทึกภาพ CCTV 20 กลุ่ม แต่ปรากฏว่าพอเลือกจริง ภาพที่ออกมากลับกลายเป็นลักษณะอีเวนต์ มีไลฟ์ มีผู้บรรยาย ตัดภาพสลับกันไปมา ทำให้ไม่ได้เห็นบรรยากาศการเลือกที่แท้จริงนอกจากนี้ สิ่งที่พบยังมีสิ่งที่ต้องสงสัยคือมีกลุ่มคนที่คอยดักรอผู้สมัครที่ออกมา พร้อมส่งสัญญาณให้กัน แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ จึงเป็นข้อสังเกตถึงความโปร่งใส
ด้านน.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย จาก The Reporters ตั้งฉายาว่าเป็นการเลือก สว.ที่ลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนมากที่สุด ตามความรู้สึกของสื่อมวลชน เพราะตามระเบียบการเลือกที่ออกมาตอนแรก สื่อมวลชนไม่สามารถสัมภาษณ์ผู้สมัครได้ โดยตนเคยสะท้อนผ่าน กกต.แล้ว ตั้งแต่งานพบสื่อครั้งแรก ว่าสื่อจะทำข่าวอย่างไร ตนคิดว่าไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะห้ามไม่ให้ผู้สมัครสัมภาษณ์สื่อ แม้กระทั่ง สส. ซึ่งสื่อมวลชนเองก็มีวิจารณญาณ และการที่มีสื่อมากจะทำให้มีข้อมูลที่หลากหลาย ตนคิดว่าคำสั่งศาลปกครองทำให้ตนรู้สึกมีความหวัง และศาลปกครองก็ดูเข้าใจ โดยศาลย้ำว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะรับรู้ ตนมองว่าสิทธิเสรีภาพสื่อก็สะท้อนไปถึงสิทธิเสรีภาพประชาชน ระเบียบแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีกในอนาคต
ทำให้นายธนกร วังบุญคงชนะ กมธ.และที่ปรึกษา ตั้งข้อสังเกตว่าเราต้องแยกว่าเราสงสัยความโปร่งใสของ กกต. หรือ เราสงสัยผู้สมัคร ตนดูแล้ว ความโปร่งใสมันเกิดจากผู้สมัครหรือไม่ วันนี้การเลือก สว.ถูกออกแบบมาแบบนี้ จะให้เหมือน สส.ไม่ได้ กระบวนการหรือระเบียบที่ออกมา 20 กลุ่มอาชีพ ตนรับได้ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ทุกสาขาอาชีพเข้าไปสู่ สว.ได้ ซึ่งตนในฐานะ สส. ทำได้แค่ติดตามข่าว ตั้งคำถามว่ามันผิดหรือไม่ ก็ไม่รู้ว่าจะโทษใคร เพราะมันถูกออกแบบมาแบบนี้ ถ้าคนเข้าใจคณิตศาสตร์มากกว่าคนอื่นก็ได้เปรียบ
“ทุกคนสงสัยว่า 1-6 ทุกอาชีพ 70-80 คะแนนหมดเลย แต่ อันดับ 7-9 ได้ 22-26 คะแนน ตรงนี้จะแก้อย่างไร มองไปวันข้างหน้าดีกว่า ทุกอย่างมาตามกระบวนการที่ถูกต้อง ผมยังไม่เห็นใครทำผิดกติกาเลย กกต.ก็ต้องตรวจสอบ ผมอยากฝากเอาไว้อย่าไปด้อยค่าอาชีพต่างๆ เช่น คนขับรถ หรือใคร ผมคิดว่าตรงนี้มันถูกออกแบบว่าทุกอาชีพเข้ามาได้ ชนชั้นใดก็ต้องเข้ามาได้ เพราะฉะนั้น เราอย่าไปมองเรื่องอาชีพแต่มองว่าถ้าเขาเข้ามาแล้วไม่ชอบด้วยกฏหมาย คุณก็ต้องตรวจสอบ … คำว่าโปร่งใสมันเกิดจากการที่ กกต. ทำหน้าที่สุจริตหรือเปล่า ตรงนี้ต้องดู แต่ผมว่าการเลือกครั้งนี้ กกต. ต้องทำหน้าที่ตรงไปตรงมาไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย และผมมองมันวุ่นวายก็เพราะเป็นการเลือกครั้งแรก ไม่เคยเลือกมาก่อน … ผมคิดว่าต้องให้โอกาส คนไหนที่ถูกร้องเรียนก็ให้เข้าไปชี้แจง” นายธนกร กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ทุกคนน่าจะมีจุดเชื่อมคือการเลือก สว. ครั้งนี้เป็นปัญหา เป็นส่วนผสมกติกาที่ถูกเซตมาแล้ว ตนคิดว่าต้องแยก ประเด็นแรก ในอนาคตจะทำอย่างไร ตนคิดว่าวุฒิสภาไม่จำเป็น แต่ถ้าจะมีและอำนาจเยอะก็ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งจะให้เลือกแบบ สส.ก็จะเกิดข้อครหา ดังนั้น อาจจะมีโมเดลจากการเลือก สสร. ก่อน ส่วนประเด็นที่สอง ตนคิดว่าเป็นเรื่องเฉพาะหน้า ต้องแยกเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายและเรื่องที่ถูกกฎหมายแต่ไม่เหมาะสม โดยตนจะนำความเห็นนี้ไปเสนอเชิญ กกต.มาอีกครั้ง