วันอาทิตย์, กันยายน 8, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight‘คลัง’ยัน‘ดิจิทัลวอลเล็ต’กระตุ้นเศรษฐกิจ โต้‘ฝ่ายค้าน’ไม่ขัดก.ม.-อุดช่องโหว่ทุจริต
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘คลัง’ยัน‘ดิจิทัลวอลเล็ต’กระตุ้นเศรษฐกิจ โต้‘ฝ่ายค้าน’ไม่ขัดก.ม.-อุดช่องโหว่ทุจริต

3 ขุนคลังแจงยันดิจิทัลวอลเลตกระตุ้นเศรษฐกิจ “จุลพันธ์” โต้ฝ่ายค้านย้ำไม่ขัดกฎหมาย พิจารณารอบคอบอุดช่องทุจริต-ไม่โปร่งใส ด้าน “พิชัย” ปัดไม่ได้คิดไป ทำไป คิดตั้งแต่วันแรก ชี้หากจะแก้ปัญหาโครงสร้างต้องรู้ก่อนว่าทำให้ใคร ขณะที่“เผ่าภูมิ” ยันดิจิทัลวอลเล็ตเหมือนเหรียญ 2 ด้านที่มองไม่ตรงกัน 5 ด้าน

เมื่อวันที่ 17 ก.ค.67 เวลา 10.45 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท วาระแรก นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงถึงการเปลี่ยนแหล่งเงิน ว่า เพื่อให้เหมาะสม เพราะเป็นไปตามการพิจารณาหน่วยงานได้พิจารณาว่า สามารถบริหารจัดการได้ตามกรอบของวงเงินงบประมาณ ส่วนการปรับกลไกและแหล่งเงิน ทั้งนี้การใช้กลไกมาตรา 28 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง อาจมีข้อจำกัดในรายละเอียดของการใช้เงิน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ฐานะฝ่ายบริหารไม่ต้องการ จึงเป็นสาเหตุที่เปลี่ยนเพื่อใช้ช่องทางอื่นที่ดำเนินการได้ ทั้งนี้รัฐบาลยืนยันในกรอบเวลาดำเนินการปลายปีนี้ เงินถึงมือประชาชนแน่นอน แม้จะปรับรายละเอียด เช่น แหล่งเงิน ซึ่งยืนยันว่าระบบเสร็จได้ทัน ทั้งเงินมีเพียงพอทำโครงการให้ประชาชน 50 ล้านคน หรือวงเงิน 5 แสนล้านบาท

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

“ที่บอกว่าสุ่มเสี่ยงขัดกฎหมาย คำว่าสุ่มเสี่ยง รู้ว่าไม่ได้ผิด ที่ยกมานั้นชี้แจงแทนว่าตามกรอบวินัยการเงินการคลังและกรอบงบประมาณ สิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่ ครม. 3-5 คนคิด แต่ผ่านความเห็นและพิจารณาจำนวนมาก ยืนยันว่าเป็นไปตามกรอบกฎหมายจึงเดินหน้ามาในแนวทางนี้” รมช.คลัง กล่าว

รมช.คลัง กล่าวต่อว่า การเดินหน้าโครงการนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่การสงเคราะห์ ดังนั้นไม่ต้องถามว่าเป็นกลุ่มเปราะบางหรือไม่ ส่วนสถานการณ์วิกฤตที่ถกเถียง แม้เราจะเติบโต แต่เติบโตต่ำ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดี จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องใช้เงินเพื่อกระตุ้น ดังนั้นต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าประชาชนใช้เพื่อเป็นประโยชน์กับชีวิตของประชาชน ส่วนข้อจำกัดที่มีในรายละเอียด ยืนยันว่าไม่เคยมีนโยบายของรัฐในอดีตที่ตัวคูณสูงเท่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต

“ที่เป็นห่วงว่าตั้งงบประมาณขาดดุลสูงเต็มเพดาน แต่ไม่มีความเสี่ยงของกลไกงบประมาณ เพราะมีกฎหมายที่รองรับสถานการณ์วิกฤตของประเทศทุกสถานการณ์ กรณีที่รัฐบาลหากจัดเก็บพลาดเป้า มีกลไกตามกฎหมายที่รองรับ สามารถเดินหน้าได้ ไม่มีเหตุขาดดุลเต็มเพดาน กู้ไม่ได้ หากหน่วยงานขอเงินปลายปีแล้วจะไม่ได้ ไม่เคยมีเกิดขึ้น” รมช.คลัง กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ขอยืนยันว่าได้ทำโครงการฯอย่างละเอียดรอบคอบ อุดช่องที่จะทำให้เกิดการทุจริตเหมือนที่เคยเกิดกรณีที่ผู้รับเงินใช้เงินผิดประเภท ผิดวัตถุประสงค์ หรือผิดจากกลไกที่กำหนด ดังนั้นยืนยันว่าไม่มีทุจริต ขณะที่กล่าวหาว่าตั้งใจแจกเงินผู้อายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะอีก 2 ปีสามารถเลือกตั้งได้ หากรัฐบาลคิดแบบนั้น ควรต้องจ่ายคนที่อายุ 14 ปีเพราะเมื่อรัฐบาลหมดวาระสามารถเลือกตั้งได้

พิชัย ชุณหวชิร

ต่อมาเวลา 11.08 น. นายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง ชี้แจงกรณีที่สมาชิกระบุว่าการแจกเงินในครั้งนี้จะเป็นการสร้างหนี้ ว่า หากมีการใช้งบประมาณ โดยที่มีการเก็บรายได้ไม่เพียงพอก็ต้องมีการกู้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะใช้จากตัวงบประมาณเอง หรือ ม.28 ก็ตาม นี่ก็คือภาระหนี้ในวันนี้ และหนี้ที่ต้องกู้ในอนาคต แต่สิ่งที่เรามองเห็น คือความจำเป็นในการที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจของเรามีลักษณะที่หดตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เราก็ทราบปัญหากันลึกๆ ว่า ปัญหาหนี้ หรือที่บางคนเรียกว่า เป็น 10 ปีที่สูญเปล่า แล้วเราไม่ได้ทำอะไร แต่วันนี้เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว วิกฤตเกิดขึ้นแล้ว เป็นวิกฤตที่ไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่เป็นวิกฤตที่เรามองเห็นอยู่ข้างหน้าว่า หากเราไม่ทำอะไรที่จะเป็นการกระตุ้น ไม่ช้าก็เร็ววิกฤตจะมาแน่นอน

รมว.คลัง กล่าวถึงผลพวงของวิกฤติเศรษฐกิจที่จะกระทบกับ 3 กลุ่ม คือ 1.ประชาชน หรือหนี้ครัวเรือน ที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2.หนี้ของร้านค้า ซึ่งฝ่ายหนึ่งคือผู้บริโภคเอง ที่มีสาเหตุมาจากการมีรายได้ไม่เพียงพอ และมีเหตุผลมาจากรายได้ประเทศที่ต่ำเกินไป เราจึงต้องมาแก้ปัญหาที่รายได้ส่วนนี้ และ 3.เมื่อ สถานการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว กำลังซื้อลดลง เงินเฟ้อขึ้น ตนเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ที่มีหน้าที่ในการดูแลทั้งภาคผู้บริโภคและภาคผู้ผลิต สิ่งที่เราทำคือก็ต้องสร้างหนี้ เพื่อแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม การเพิ่มหนี้ในครั้งนี้ ก็ยังอยู่ในวิสัยที่คิดว่า หนี้มากหรือน้อยไปหรือไม่ จากความสามารถในการชำระคืนของประเทศ ย้ำว่า วันนี้มีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างต่อเนื่อง นี่จึงเป็นรายจ่ายพิเศษเพื่อกระตุ้น และแม้หลายคนจะบอกว่า สิ่งนี้จะไปสู่นายทุนใหญ่ แต่สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น สุดท้ายก็วนกลับมาสู่รายย่อยแน่นอน

“ที่สมาชิกบอกว่า ทำไมไม่แก้ที่โครงสร้าง ผมขอถามว่า เราต้องรู้ก่อนว่าทำให้ใคร และใช้กระบวนการแก้ไขปัญหาเพื่อเรื่องอะไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ อยู่ระหว่างการพิจารณา และระหว่างการเซ็นสัญญาบีโอไอ ที่จะเป็นตัวบอกว่า ปัญหาโครงสร้างที่ควรแก้คืออะไร และจะออกผลควบคู่ไปกับกระบวนการผลิตและการลงทุน เพื่อให้เกิดขีดความสามารถในการแข่งขัน ลงวันนี้ไม่เกิดทันที กระตุ้นไม่ได้ทันที แต่จำเป็นต้องทำ ทำในจังหวะที่เหมาะสม สอดคล้องกับผู้ที่มาใช้ ส่วนที่บอกว่า มีความล่าช้า คิดไปทำไป ทำไมไม่คิดให้จบทีเดียว ผมขอปฏิเสธว่า ไม่ใช่คิดไปทำไป เราคิดตั้งแต่วันแรกแล้ว ว่าเป็นนโยบายที่ต้องทำ เราคิดตลอดเสมอว่าจะต้องปรับปรุง เพื่อหาว่ามีทางไหนบ้างที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และเป็นการจัดสรรงบประมาณในจังหวะเวลาที่เราเลือกแล้ว เพื่อนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่มี ถ้าเราเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องปรับปรุง เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต ก็เป็นทางเลือกแรกที่ต้องใช้ก่อน แต่ถ้าเรื่องการหาเม็ดเงิน เพื่อปรับปรุงมาทำโครงการที่จำเป็นเช่นเดียวกัน ในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เราก็ให้ความสำคัญเป็นอันดับที่สอง ยืนยันว่า เป็นการจัดสรรเม็ดเงินอย่างมีประสิทธิภาพ”นายพิชัย กล่าว

เผ่าภูมิ โรจนสกุล

ต่อมา 11.20 น. นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ชี้แจงว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเหมือนเหรียญ 2 ด้านที่มองไม่ตรงกัน 5 ด้านคือ 1.เศรษฐกิจประเทศยังไม่ต้องการกระตุ้นอย่างหนัก แต่รัฐบาลมองว่า มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ 2.การกู้เงินมาใช้จ่าย ที่มองว่ามีการกู้เงินเต็มเพดานแล้ว แต่ความจริงหนี้สาธารณะประเทศไทยอยู่ที่ ร้อยละ 64 นั้น มาจากการใช้คำนิยามที่เข้มข้นกว่ามาตรฐานสากล และไอเอ็มเอฟเพราะนับหนี้สาธารณะในส่วนที่สากลไม่นับคือ รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นภาระต่อรัฐบาล ถ้าเรานับหนี้สาธารณะตามคำนิยามสากลแล้ว หนี้สาธารณะประเทศไทยอยู่แค่ ร้อยละ 58.4 ยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่มีปัญหาใดๆ 3.การมองว่าผลตอบแทนได้ไม่คุ้มเสีย ยกตัวเลขว่า ลงทุน 5แสนล้านบาท แต่ได้ผลตอบแทนแค่ 3.5แสนล้านบาท เป็นการมองที่ผิดพลาดทางวิชาการ การคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ได้มีแค่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ข้อมูลพื้นฐานประชาชนจะเข้ามาอยู่ในระบบ ทำให้มาตรการภาครัฐหลังจากนี้สามารถตรงไปช่วยเหลือประชาชนได้โดยตรง ต้องเอาไปรวมอยู่ในการประเมินความคุ้มค่าของโครงการด้วย

รมช.คลัง กล่าวต่อว่า 4.การมองว่า เอื้อประโยชน์รายใหญ่ แต่รัฐบาลมองว่า การกำหนดรัศมีการใช้เงิน 4 กิโลเมตร เพราะต้องการให้เงินไหลเข้าชุมชน ไม่เข้าสู่เมืองใหญ่ ทุกเงื่อนไขทำให้เงินลงสู่ชุมชนมากสุด 5.การไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆร่วมด้วย ยืนยันว่า รัฐบาลมีทั้งมาตรการอัดเม็ดเงินจริง และการอัดเม็ดเงินลักษณะสินเชื่อ แต่มีผลทางเศรษฐกิจคล้ายกัน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img