วันศุกร์, ตุลาคม 18, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWS'กมธ.นิรโทษฯ' ปิดจ้อบไม่ลง! มอบการบ้านลงรายละเอียดก่อนโยนให้สภาฯชี้ขาดปม.ม.112
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘กมธ.นิรโทษฯ’ ปิดจ้อบไม่ลง! มอบการบ้านลงรายละเอียดก่อนโยนให้สภาฯชี้ขาดปม.ม.112

กมธ.นิรโทษฯปิดจ้อบไม่ลง! ยังมีการบ้านให้ไปลงรายละเอียดเจาะกลุ่มความเห็นให้เหมาเข่ง ’ม.112’ แต่มี ‘เงื่อนไข’ ขีดเส้นสรุปสัปดาห์หน้า คาดส่งสภาฯทันสิ้นเดือนนี้ ย้ำหน้าที่แค่หาแนวทาง โยนเข้าสภาฯเคาะชี้ขาด ด้าน‘ชัยธวัช’ ชี้เป็นเรื่องดี หวังเป็น ‘กันชน’ ให้สังคมไทยช่วงเปลี่ยนผ่าน ช่วยลดขัดแย้งการเมือง

วันที่ 18 ก.ค.2567 เวลา 15.10 น. ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎรแถลงภายหลังการประชุมกมธ.ฯ เพื่อสรุปแนวทางในการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ถือว่าเกือบจะได้ข้อยุติทั้งหมดแล้ว สรุปดังนี้ 1.ควรมีการนิรโทษกรรมการกระทำหรือมูลเหตุจูงใจทางการเมืองชัดเจน ตั้งแต่ปี2548 – ปัจจุบัน เรามีบทนิยามชัดเจนแล้วว่ามีความผิดอะไรบ้างที่เข้าข่ายจะได้รับการนิรโทษฯ และเรามีมติเอกฉันท์ ไม่มีอะไรขัดข้อง2.กมธ.มีมติเกี่ยวกับความผิดต่อชีวิต หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น ตามมาตรา288 , 289 จะไม่รวมในการได้รับการนิรโทษกรรม เนื่องจากเป็นการประทุษร้ายต่อชีวิต ทำให้ถึงแก่ชีวิต ไม่ใช่การกระทำความผิดต่อรัฐฝ่ายเดียว

ประธานกมธ.ฯนิรโทษกรรม กล่าวต่อว่า 3.ความผิดที่เกี่ยวกับมาตรา110 และมาตรา112 ทางคณะกรรมการนิรโทษกรรมที่ตั้งขึ้นมา มีความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นความผิดที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง และทางกมธ.ฯเห็นว่า การทำงานของเราเป็นเพียงการศึกษาหาแนวทางการตรากฎหมาย จึงมีมติร่วมกันที่จะไม่โหวตให้มีผู้ชนะ หรือแพ้ แต่มีข้อสรุปให้ส่งความเห็น แบ่งเป็น 3กลุ่มประเภท คือ 1.ไม่เห็นด้วยให้นิรโทษกรรมในคดีมาตรา110 และมาตรา112 2.เห็นควรให้นิรโทษกรรมในคดีมาตรา110 และมาตรา112 โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และ3.เห็นควรให้นิรโทษกรรมในคดีตามมาตรา110 และมาตรา112 แต่ต้องมีมาตรการ มีเงื่อนไข เช่น ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา มีมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ความเห็นของทั้ง3กลุ่มประเภท จะได้บรรจุลงไปในรายงานด้วย

“ภาพรวมเรามีหน้าที่ศึกษา เราควรส่งความเห็นทั้งหมดให้สภาฯไปพิจารณา ว่ามีความเห็นประการใดก็สุดแล้วแต่แต่จะไม่ปิดกั้นความเห็นของฝ่ายใด เราส่งความเห็นไปทั้งหมด นอกจากนี้ได้มอบหมายให้เลขานุการกมธ.ฯจัดทำรายงาน ซึ่งในการประชุมกมธ.ฯสัปดาห์หน้าก็จะพิจารณาสรุปรายงานอีกครั้ง คาดว่าจะส่งรายงานให้สภาฯทันภายในสิ้นเดือนก.ค.นี้” นายชูศักดิ์ กล่าว

ด้านนายนิกร จำนง เลขานุการกมธ.ฯ กล่าวว่า เรามีการเตรียมรายงานไว้ถึง 3 เล่ม แต่ขณะนี้ส่งพิมพ์แล้ว 2 เล่ม เหลืออีก 1 เล่มคือ ฝ่ายที่มีความเห็นว่าควรมีการนิรโทษกรรม 112 แบบมีเงื่อนไข ฉะนั้น เราจึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อสรุปว่าจะมีเงื่อนไขอย่างไร และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องไปให้ความเห็น เนื่องจากเป็นความเห็นของฝ่ายที่เห็นว่านิรโทษแบบมีเงื่อนไข ทั้งนี้ ความเห็นทั้งหมดจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ซึ่งจะได้เห็นว่าแต่ละคนมีความเห็นกันอย่างไรบ้าง ย้ำว่าทุกอย่างก็เป็นไปตามแผนงาน และคาดว่าน่าจะมีบทสรุปที่ดีที่สมควรจะไปออกกฎหมายต่อไป

ขณะที่นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ.ฯ กล่าวว่า นายชูศักดิ์ได้มอบหมายให้ตนช่วยไปรวบรวมความเห็นมาประกอบในรายงานเพื่อให้สรุปได้ทันในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นความเห็นของฝ่ายที่เห็นด้วยให้มีการนิรโทษกรรมในคดีมาตรา112 และตนมีความเห็นว่า ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอที่มีความสำคัญ เนื่องจากการนิรโทษกรรมในคดีมาตรา 112 ต้องยอมรับว่า มีข้อถกเถียงกันพอสมควร แต่รายละเอียดที่จะยอมรับ เพื่อนำมาพิจารณาว่าจะมีการนิรโทษกรรมหรือไม่ต้องมีการลงรายละเอียดว่า ควรมีตัวอย่างและกำหนดเงื่อนไข รวมถึงมาตรการการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งตนมองว่า เป็นข้อดี และเป็นข้อเสนอใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทยเพื่อให้ฝ่ายที่อาจมีความเห็นที่แตกต่างกันได้พิจารณาแล้ว อาจจะมีการยอมรับกันได้

เมื่อถามว่าการนิรโทษกรรมในคดีมาตรา112 แบบมีเงื่อนไขคือเงื่อนไขอะไร นายชัยธวัช กล่าวว่า ยกตัวอย่างคือ ก่อนที่จะมีสิทธิ์ที่จะได้รับการพิจารณาว่าจะมีการนิรโทษกรรมหรือไม่ จะต้องมีการมาแถลงข้อเท็จจริงของผู้ที่กระทำผิดหรือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ว่าเหตุใดจึงกระทำการไปแบบนั้น มีแรงจูงใจทางการเมืองอย่างไร ทำไมจึงเชื่อแบบนั้นแม้กระทั่งอาจจะถูกถามว่ามีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่อย่างไร และอาจจะเปิดโอกาสให้คู่กรณีหรือเจ้าหน้าที่รัฐได้ให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด หรืออาจมีการกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องไปผ่านกระบวนการอื่นๆ หรือทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง และอาจจะต้องรับเงื่อนไขว่าห้ามกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งภายในเวลากี่ปี

“นี่จะเป็นกันชนให้สังคมไทยในเวลาเปลี่ยนผ่าน และลดความขัดแย้งทางการเมือง โดยภายหลังจากได้รับการนิรโทษกรรมในคดีมาตรา112 แล้ว อาจจะต้องเข้าร่วมกิจกรรม หรือกระบวนการ หรือรายงานตัวอย่างต่อเนื่อง” นายชัยธวัชกล่าว

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลมั่นใจหรือไม่ว่าหากเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสภาฯแล้ว จะได้รับความเห็นชอบกับร่างที่พรรคก้าวไกลเสนอ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าเมื่อ กมธ.ได้เสนอรายงานให้สภาฯ พิจารณาแล้ว น่าจะมีหลายพรรคการเมืองยื่นร่าง พ.ร.บ.ของตัวเอง ซึ่งมีหลักการตรงกันว่าการนิรโทษกรรมเป็นมาตรการ ในการช่วยคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง เพียงแต่อาจจะเห็นไม่ตรงกันรายละเอียดบ้าง แม้แต่ สส.ของพรรคก้าวไกล ก็ยังมีการพูดคุยกันเองว่า หลังจากเห็นรายงานนี้ ก็อาจจะมีการปรับร่างกฏหมายของพรรค เพื่อให้มีความสอดคล้องกับบางข้อเสนอที่น่าสนใจของกมธ.แต่ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน เพราะต้องรอให้การพิจารณาของ กมธ.เสร็จก่อน

ทั้งนี้ ภายหลังการให้สัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวได้ถามย้ำถึงบรรยากาศในที่ประชุม เนื่องจากมีรายงานว่ามีการถกเถียงกันอย่างหนัก ถึงขนาดที่พรรคก้าวไกลต้องยกเลิกการแถลงข่าวภายหลังการประชุม นายชัยธวัช พยักหน้า พร้อมกล่าวว่า”ดีครับ“ นายชูศักดิ์ จึงกล่าวว่า “เป็นไปด้วยดี ทุกฝ่ายเอาเหตุผลมาสู้กัน ไม่มีทุบโต๊ะ” ผู้สื่อข่าวกล่าวแซวอีกว่า เห็นเดินมาก็ยิ้มเลย ทั้งสองคนจึงหัวเราะ ก่อนที่นายชูศักดิ์จะโอบไหล่นายชัยธวัช พร้อมกล่าวว่า “ไม่เห็นต้องสู้อะไรเลย”

จากนั้น นายชัยธวัช จึงชี้แจงเหตุผลที่ยกเลิกการแถลงว่า ตอนแรกคิดว่าจะจบวันนี้ แต่เนื่องจาก ประธานกมธ.ฯ มอบหมายให้ไปทำการบ้านเพิ่มเติม เพื่อทำให้จบให้ได้ในสัปดาห์หน้า

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img