วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWS'สภาฯ' ถกญัตติปลาหมอคางดำ 'ก้าวไกล' สับแหลกชักธงขาว ยุบสภาฯหนี ถ้าไม่แก้ตั้งแต่วินาทีนี้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘สภาฯ’ ถกญัตติปลาหมอคางดำ ‘ก้าวไกล’ สับแหลกชักธงขาว ยุบสภาฯหนี ถ้าไม่แก้ตั้งแต่วินาทีนี้

‘สภาฯ’ ถกญัตติปลาหมอคางดำ ‘ก้าวไกล’ สับแหลก ถ้าไม่ได้พูดวันนี้ ‘รบ.คางเหลืองแน่’ ตะเพิดชักธงขาว ยุบสภาฯหนี ถ้าไม่แก้ตั้งแต่วินาทีนี้ ซัดวาระแห่งชาติ ชาตินี้หรือชาติหน้า

วันที่ 25 ก.ค.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุม สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายประดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม พิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจาขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำและการจัดการสายพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานเพื่อส่งให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยเป็นญัตติของ นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส. สมุทรสาคร พรรคก้าวไกล นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และนายณัฐชา บุญอินไชยสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล

โดยนายณัฐพงษ์ เสนอญัตติว่า ตนขอเตือนรัฐบาล ที่พูดมาเสมอว่าเรื่องนี้ต้องเป็นวาระแห่งชาติ ไม่แน่ใจว่า วาระแห่งชาติ สรุปแล้วจะเป็นชาตินี้หรือชาติหน้า เป็นสิ่งที่ชาวประมงสงสัย มีการไปให้คำสัญญาว่าจะใช้งบกลาง เพิ่มงบประมาณ จนทำให้พี่น้องชาวประมงเฮ แต่วันนี้ยังไม่เห็น ถ้าเป็นเช่นนี้ ขอเสียงเฮพี่น้องชาวประมงคืนได้หรือไม่ และญัตตินี้ก็สำคัญ การแก้ปัญหาก็จำเป็น แต่การหาคนรับผิดชอบก็จำเป็นไม่แพ้กัน เราอย่าไปดูเบาความโกรธ ความไม่พอใจของประชาชน เดี๋ยวจะหาว่าตนไม่เตือน

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ กฎหมายอาจยังไปไม่ถึง ยังเอาผิดไม่ได้ แต่บริบทแวดล้อม สังคมก็พอเห็นว่าเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ ที่ทำให้การระบาดของปลาหมอคางดำเป็นความรู้สึกร่วมของประชาชน ทุกวันนี้ระบาดไปถึง 17 จังหวัดแล้ว ถ้าปล่อยต่อไป ไม่แน่ใจว่าจะถึง 70 จังหวัดหรือไม่ เพราะปลาหมอคางดำ กัดกินโอกาสทางการศึกษาของลูกหลาน พี่น้องเกษตรกร กัดกินปลาพื้นถิ่น รวมถึงกัดกินโฉนดชาวบ้านไปจำนวนมาก

นายณัฐพงษ์ กล่าวอีกว่า เราต้องยอมรับว่าเรื่องนี้มีปัญหาตั้งแต่กระบวนการ เมื่อปี 49 ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ แม้มีรายงานการระบาดในต่างประเทศขณะนั้น แต่มีการอนุญาตให้นำเข้าได้อย่างไร ยังไม่นับเงื่อนไขการนำเข้าที่มีปัญหา เช่น การตัดครีบ ส่งซาก จริง ๆ แล้วเงื่อนไขอ่อนมาก เพราะควรคุมเข้มมากกว่านี้ แม้เงื่อนไขที่ว่าอ่อน สุดท้ายแล้วก็ยังทำไม่ครบถ้วน จึงขอให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร อย่าทำแค่ให้เป็นอีเวนต์ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ต้องประเมินผลด้วย รวมถึงต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ไม่ใช่ว่าปล่อยวันนี้ พรุ่งนี้ก็เปิดให้คนมาจับ สุดท้ายปลาที่เราตั้งใจจะให้เป็นนักล่า จะกลายเป็นเหยื่อเสียเอง ก็จะกลายเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ละลายงบประมาณของประเทศ ซึ่งไม่ควรเป็นแบบนั้น

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่ารวมถึงประเด็นการศึกษาการเหนี่ยวนำโครโมโซม ทำให้ปลาหมอคางดำเป็นหมัน ซึ่งต้องค้นคว้าวิจัยอย่างจริงจัง ตนกลัวว่า หากไม่มีข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ สุดท้ายแล้วจะสร้างปัญหาที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงการประสานขอความรู้จากต่างประเทศ เราควรเรียนลัด ไม่ใช่ไปลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง และต้องคุยกันเรื่องเยียวยา โดยยืนยันว่า การรับซื้อไม่ใช่การเยียวยา เพราะการรับซื้อ คือแรงจูงใจให้ไปจับ แต่การเยียวยา คือการไปชดเชยสิ่งที่เขาได้รับผลกระทบ และขอให้จับตาสายพันธุ์เอเลียนส์สปีชีส์อื่น เพราะเรื่องนี้ผ่านมาแล้ว 8 อธิบดี 7 รัฐมนตรี หวังอย่างยิ่งว่า จะจบลงในยุคสมัยนี้

ขณะที่นายพิทักษ์เดช เสนอญัตติ ว่า ปัญหานี้เกิดจากการลักลอบนำเข้า หรือการขออนุญาตนำเข้าเพื่อการทดลอง ซึ่งอาจหลุดลอดเข้าสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ทำลายระบบนิเวศ สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตของเกษตรกร วันนี้เป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลต้องสืบเสาะหาความเป็นจริง ว่า ปลาหมอคางดำ เข้ามาได้อย่างไร เพราะอะไร ใครเป็นผู้นำเข้า และแพร่กระจายได้อย่างไร เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ตนต้องพูด เดี๋ยวประชาชน จะหาว่าสส. พิทักษ์เดชโดนซาลาเปา ใบละ 28 บาท มาปิดปากไว้ ยืนยันว่า ใครปิดตนไม่ได้ และรัฐบาลต้องรับฟังเรื่องนี้เพื่อแก้ไข เพราะมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในจังหวัดข้างเคียง

นายพิทักษ์เดช กล่าวต่อว่า การให้ชาวประมงไปปราบปลาหมอคางดำโดยใช้เครื่องมือที่สามารถจัดการได้โดยเร็ว อาจใช้ไฟฟ้า แต่ยังติดข้อกฎหมายในไทย ซึ่งจะแก้ไขได้ช้ากว่า จึงขอฝากไปถึงรัฐบาล และกรมประมง ให้แก้ไขกฎหมาย ใช้วิธีการจัดการที่รวดเร็วกว่านี้ ตนหวังว่า สิ่งที่พูดวันนี้ จะเป็นสิ่งที่รัฐบาลทำตามความคาดหวังของพี่น้องประชาชน สามารถแก้ไขปัญหาและสืบหาข้อเท็จจริงของการนำเข้ามาของปลาหมอคางดำ สู่การรับผิดชอบ การเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และการควบคุมไม่ให้ลุกลามมากกว่านี้
ด้านนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ซึ่งเดิมเสนอญัตติให้ตั้งคณะกรรมมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ แต่ได้ขอถอนญัตติดังกล่าวออก และเปลี่ยนเป็นการเสนอการแก้ไขการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแทน พร้อมกล่าวว่า ตนอยากให้เรื่องนี้ได้รับการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ซึ่งวันนี้ตนได้รับการประสานว่ามีการนำญัตตินี้เข้า แต่ได้รับเสียงแว่วๆว่ามีความพยายามที่จะไม่ให้มีการเสนอญัตติดังกล่าวในวันนี้ ตนบอกว่าไม่ได้ เพราะปลาหมอคางดำระบาดเพิ่มขึ้นทุกวินาที ถ้าไม่เสนอวันนี้ รัฐบาลคางเหลืองแน่นอน ตนจึงบอกไปว่าถ้าไม่ได้เสนอญัตติในวันนี้ ตนไม่ยอม แต่สุดท้ายก็มีการยอมกัน

นายณัฐชา กล่าวต่อว่า ตนขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆว่าในสังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์กันเรื่องของกลุ่มทุนใหญ่ การนำเข้าผิดกฎหมาย สุดท้ายเป็นผลกระทบวงกว้างต่อพี่น้องประชาชน ถ้ารัฐบาลที่แล้วในห้วงเวลาที่ผ่านมาเราปฏิเสธไม่ได้เรื่องที่โด่งดังที่สุดคือเรื่องหมูเถื่อน ที่ระบาดเป็นวงกว้าง สุดท้ายจุดจบเป็นอย่างไร ตนไม่ขอลงรายละเอียด เดี๋ยวจะเป็นคนละเรื่อง แต่ที่ตนพยายามสื่อสารเรื่องปลาหมอคางดำเพราะไม่มีใครรับผิดชอบ ไม่มีต้นตอ และไม่รู้ ไม่เห็นว่าเป็นอย่างไรถึงมาระบาดในบ่อชาวบ้านได้

“เรื่องนี้นายกฯแถลงว่ายังไงต้องหาต้นตอสาเหตุให้ได้ ต้องแก้ปัญหาให้เร็ว นี่ผ่านมากี่วันแล้ว มาถึงวันนี้ปัญหาสาเหตุ ท่านจัดการอย่างไร ตนขอสรุปว่าสถานการณ์ตอนนี้นี่คือปลาเถื่อน ดูสิว่าระหว่างหมูเถื่อนกับปลาเถื่อนอันไหนรุนแรงกว่ากัน และครั้งนี้นักวิชาการหลายสำนักยืนยันว่าปลาหมอคางดำสายพันธุ์นี้ระบาดครั้งที่ร้ายแรงที่สุด เราจะปล่อยให้เกิดการส่งต่อระบบนิเวศที่ไม่สมบูรณ์ส่งต่อให้ลูกหลาน โดยรัฐบาลนี้หรือ เราเป็นผู้แทนฯ 17 จังหวัดที่ระบาด ท่านนั่งฟังข่าวอย่างเดียวหรือ วันนี้ไม่คิดจะทำอะไรเลยใช่หรือไม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ พูดอย่างเท่ว่าต้องตามล่าหาความจริงให้ได้ จากวันนั้นถึงวันนี้เหลือเวลาไม่ถึง 24 ชม. อยากถามว่ามีข้อมูลมากน้อยแค่ไหนว่าใครเป็นต้นตอสาเหตุ นี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องการ ผมรอดูว่าวันพรุ่งนี้ (26 ก.ค.) เป็นอย่างไรเมื่อครบ 7 วัน”นายณัฐชา กล่าว

นายณัชฐา กล่าวว่า เรื่องนี้ถ้าไม่เร่งแก้ไข ทุกวินาทีวันนี้มีความหมาย ถ้าไม่รีบอนุมัติงบประมาณมาช่วยเหลือเกษตรกร และมาเยียวยาเรื่องนี้จะไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทยอย่างเดียว แต่จะยกเป็นปัญหาภูมิภาค ฉะนั้นรอไม่ได้

“วินาทีนี้ท่านต้องดำเนินการเลย รวมถึงเรื่องของการประกาศเขตใน 17 จังหวัด นี้ ท่านต้องประกาศเลยว่าจังหวัดไหนชักธงแดง เมื่อจับเรียบร้อย ลดธงแดงลง ก็ชักธงเหลือง ธงเขียว เพื่อเฝ้าระวัง และกลับไปทบทวนว่าหากกลับมาระบาดอีกครั้งก็ชักธงแดง แต่ถ้าท่านไม่ชักธงอะไรเลย รัฐบาลท่านชักธงขาวได้เลย ยอมแพ้ยุบสภาฯไป” นายณัฐชา กล่าวอย่างฉุนเฉียว

จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นสนับสนุนญัตติดังกล่าวไปในทำนองเดียวกันว่ารัฐบาลต้องแก้ปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำโดยเร่งด่วน และควรมีมาตรการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อไม่ให้ผลกระทบมีต่อประชาชนไปมากกว่านี้
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img