“วิลาศ” ขุด 6 ปมซ่อนเงื่อนสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ แฉจุดเสี่ยง “บันไดหนีไฟ” ไม่ได้มาตรฐาน แถมมีการปกปิดไทม์ไลน์ผู้ติดโควิด-19 จ่อชง “ป.ป.ช.-สตง.” สอบ หากไม่ได้รับคำตอบ
เมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 ที่รัฐสภา นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีตส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงประเด็นความน่าสงสัยการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ว่า ขณะนี้มีการส่งมอบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่แล้ว แต่มีข้อสงสัย 6 ประเด็นต่อการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่คือ
1.การปรับผู้รับจ้างรายวัน วันละ 12.28 ล้านบาท กรณีการก่อสร้างอาคารรัฐสภาไม่เสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค.2563 ที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำหนังสือถึงผู้รับจ้างเพื่อแจ้งเรื่องการปรับเงินนั้น มีความคืบหน้าถึงไหน เพราะผ่านมา 4 เดือน ยังไม่มีความเห็นจากสภาฯ ว่าดำเนินการอะไรไปบ้าง และทราบว่า มีการสั่งการภายในด้วยวาจาในทำนองให้พิจารณางดค่าปรับ
2.สิ่งที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุจะการส่งมอบงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2564 แต่ตนเข้าไปสภาฯเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2564 พบว่า ยังมีการก่อสร้างอยู่หลายจุด อาทิ ห้องทันตกรรมที่ยังก่อสร้างอยู่ รวมถึงชั้น 11 ที่เป็นโซนเครื่องยอด และโถงงานพระราชพิธี ที่ยังสงวนสิทธิการเปิดใช้พื้นที่ เนื่องจากยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จใช่หรือไม่
3.การระบุต้องใช้เวลาตรวจรับงาน 6 เดือน มีข้อสงสัยคือ ถ้ามีการก่อสร้างผิดจากสัญญา จะคิดค่าปรับอย่างไร
4.กรณีดินถม มีการทำผิดจากแบบ มีการตรวจรับมอบงานหรือยัง
5.รายงานการตรวจประเมินอาคารของสมาคมผู้ตรวจสอบอาคารที่เข้ามาตรวจสอบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เมื่อธ.ค.2563-ก.พ.2564 พบว่า อาคารมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย 192 ข้อ แบ่งเป็นเสี่ยงมาก 81 ข้อ เสี่ยงปานกลาง 101 ข้อ เสี่ยงน้อย 10 ข้อ และได้แจ้งรายงานความเสี่ยงให้สภาฯทราบแล้วเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2564 ได้มีการแก้ไขตามข้อเสนอก่อนส่งมอบงานหรือยัง จุดที่มีความเสี่ยงมากคือ เส้นทางหนีไฟที่ใช้วัสดุไม่ทนไฟ ติดเข้ากับผนังบันไดที่ช่องบันไดหนีไฟ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ วัสดุเหล่านี้ไม่สามารถทนความร้อนที่เกิดขึ้นได้ ความสว่างภายในบันไดหนีไฟไม่เพียงพอ มองไม่เห็นเส้นทาง บันไดหนีไฟ 30 บันได มีความกว้างต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้เกิดความแออัดในการอพยพหนีไฟ รวมถึงช่องจ่ายลมอัดอากาศภายในช่องบันไดหนีไฟภายในอาคารชั้น 10 และชั้น 11 ข้างโถงพระโรง ไม่พบช่องจ่ายลม ทำให้ไม่สามารถป้องกันควันไฟจากภายนอกเข้ามาในช่องบันไดข้างโถงพระโรงได้
6.สภาฯมีการปกปิดไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสภาฯ ไม่แจ้งว่า ผู้ติดเชื้อเดินทางไปไหนมาบ้าง เป็นการทำผิดพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558
“จะรอคำชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องในเรื่องเหล่านี้ หากพบว่าคำตอบที่ได้ไม่ตรงกับข้อมูลที่มีอยู่ จะยื่นเรื่องให้ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) และ สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) ดำเนินการเอาผิดต่อผู้เกี่ยวข้องต่อไป”นายวิลาศกล่าว