“กมธ.การเมือง” เชิญ “นายกฯ” แจงเกณฑ์ตัดสินใจรับรองร่างกม.การเงิน แต่ส่ง “รองเลขาฯ” แทน คาใจใช้เกณฑ์อื่นนอกจากภาระงบประมาณ ปัดตกหรือไม่
วันที่ 12 ส.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นประธานกมธ. ได้นัดประชุมวันที่ 15 ส.ค. โดยมีวาระพิจารณา สำคัญ คือ ศึกษาสถานะและกระบวนการขั้นตอนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน และกำหนดเชิญ นายเศรษฐา ทวีสินนายกฯ นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ ว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
โดย นายพริษฐ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีการตอบรับมาแล้วว่า นายกฯได้ส่งรองเลขาธิการนายกฯ มาร่วมพิจารณา ซึ่งประเด็นที่จะพิจารณาคือ ปัจจุบัน ประธานสภาฯใช้เกณฑ์อะไรวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินหรือไม่ เมื่อวินิจฉัยและตัดสินว่าเป็นนายกฯ ใช้เกณฑ์อะไรตัดสินใจว่า จะให้คำรับรองและส่งเข้าสภาหรือไม่ ซึ่งเป็นการตรวจสอบและกรอบเวลา ทั้งนี้ในขั้นตอนที่เกี่ยวกับนายกฯ มีร่างการเงินหลายยฉบับใช้เวลาพิจารณานาน เกินกว่า 6 เดือน โดยกมธ.ต้องการให้มีตัวแทนายกฯ ชี้แจงและหาทางออกร่วมกัน
“ในขั้นตอนของนายกฯใช้เกณฑ์อะไรตัดสินใจรับรองหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญให้อำนาจนายกฯ พิจารณาเพื่อประเมินว่าเมื่อกฎหมายผ่านแล้วจะเป็นภาระทางงบประมาณแก่รัฐบาลหรือไม่ แต่ปัจจุบันนายกฯมีเกณฑ์อื่นหรือไม่ หรือใช้เกณฑ์อื่นพิจารณาหรือไม่ เช่น กรณีเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสาระของกฎหมายหากมีร่างกฎหมายซึ่งไม่ได้เพิ่มภาระงบประมาณมาก แม้ไม่เห็นด้วยเนื้อหาต้องรับรองพิจารณาในสภา” นายพริษฐ์ กล่าว
ประธานกมธ.การเมือง กล่าวด้วยว่า สำหรับกรอบระยะเวลาได้ความชัดเจนในขั้นตอนพิจารณาตัดสินใจอย่างไร เพราะหากนายกฯ ใช้เวลาพิจารณานานทั้งในร่างกฎหมายที่เสนอโดย สส. หรือ ของประชาชนเสนอ อาจจะทำให้ทำงานต่อลำบาก อย่างไรก็ดีเมื่อนายกฯ ไม่มาเอง รวมถึงเลขาธิการนายกฯ ไม่มา แต่ส่งรองเลขาธิการนายกฯมาแทน ต้องรอดูว่าจะให้คำตอบได้หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามขั้นตอนของการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นั้น หากถูกพิจารณาว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน สภาฯต้องส่งให้นายกฯ ลงนามรับรองก่อน โดยที่ผ่านมาพบว่าสภาฯส่งร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินให้นายกฯ พิจารณา รวม 56 ฉบับ พบว่ารอลงนามรับรอง 40 ฉบับ และไม่ลงนามรับรอง 16 ฉบับ ซึ่งแบ่งเป็นของสส. 8 ฉบับ และของประชาชน 8 ฉบับ