วันพุธ, กันยายน 18, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWS"ปธ.กสทช.”แจงวุฒิฯยันคุณสมบัติถูกถ้วน ตอกผลสอบอดีตกมธ.สว.บิดเบือน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ปธ.กสทช.”แจงวุฒิฯยันคุณสมบัติถูกถ้วน ตอกผลสอบอดีตกมธ.สว.บิดเบือน

“ปธ.กสทช.” แจงวุฒิฯยันมีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎหมาย ซัดผลสอบของอดีตกมธ.สว.ชุดเก่าบิดเบือน ไม่เป็นกลาง ย้ำทำงานเต็มเวลาไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ด้าน “เปรมศักดิ์” ของขึ้นไม่รับรองรายงานประจำปี กสทช. ซัดเป็นแดนสนธยามีผลประโยชน์มหาศาล

วันที่ 19 ส.ค.67 ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีพล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม มีการพิจารณารับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประจำปี 2566 และรายยงานติดตาม ตรวจสอบ และการประเมินผลปฏิบัติงาน กสทช. ทั้งนี้สว.ได้ตั้งข้อสังเกตถึงคุณสมบัติและลักษณ์ต้องห้ามของ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.พบผลการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการไอซีทีของวุฒิสภาชุดที่ผ่านมา ว่ามีลักษณะต้องห้ามและส่อว่ามีคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม เนื่องจากมีตำแหน่งเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัยมหิดล จึงไม่สามารถดำรงตำแหน่ง ประธานกสทช.ได้ ทั้งนี้อดีตกมธ.ไอซีที ได้ทำรายงานเสนอให้ปลดพ้นจากตำแหน่ง

โดยนพ.สรณ ชี้แจงว่า ตนมาตามหนังสือเชิญของประธานวุฒิสภา ส่วนกรรมการคนอื่นจะได้รับหนังสือเชิญ หรือเลือกมาชี้แจงเองหรือไม่ เป็นเอกสิทธิของแต่ละคน ขอชี้แจงประเด็นที่พาดพิงถึงตน ทั้งเรื่องการสรรหาเลขาธิการ กสทช.ที่ปัจจุบันมีรักษาการ ปฏิบัติหน้าที่ 4 ปีแล้ว แต่กสทช. ทำงานครบ 7 คนเมื่อ เม.ย. 2566 ได้ดำเนินการตามกฎหมาย ตั้งแต่ ต.ค. 2566 กระบวนการสรรหาเสร็จแล้ว มี.ค. 2567 แต่ไม่ได้ตัวเลขาฯ เพราะมีปัญหาฟ้องร้องในศาลทำให้การเดินหน้าต่อไปลำบาก ส่วนประเด็นคุณสมบัติของตนได้ทำหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย อดีตประธานวุฒิสภาชุดที่ผ่านมา โดยตนไม่ได้แย้งอำนาจและหน้าที่ของสว. ทั้งนี้สว.ตรวจสอบคุณสมบัติตนไปก่อนแล้วก่อนที่จะได้รับโปรดเกล้าฯ และการตรวจสอบคุณสมบัติซ้ำใหม่ไม่ได้กำหนดให้เป็นอำนาจของหน่วยงานใด คณะกรรมการที่ตรวจสอบไม่ใช่กรรมการที่เป็นกลาง ไม่มีกฎหมายที่บอกว่าต้องดำเนินการที่กรรมาธิการเสนอ

“รายงานของกมธ.วุฒิสภาที่อ้างถึงคุณสมบัติผมนั้นจัดทำที่มีอคติ ยึดโยงกับกลุ่มอำนาจ เป็นการให้ร้าย ลำเอียง ไม่โปร่งใส บิดเบือน ไม่เป็นกลาง ทำแบบรวบรัด ตัดตอนทำให้เสร็จ ภายใน 1 สัปดาห์ เร่งร้อน ลวกๆ ขู่กรรโชกให้ได้ข้อความหรือข้อมูลที่ต้องการ แต่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ในรายงานนี้จึงเป็นการกล่าวหาที่ไม่อยู่บนความสุจริตยุติธรรม สอดคล้องกับสว.ในที่นี้เคยบอกว่า สว.ชุดใหม่ไม่ได้เป็นกลุ่มหรือองค์กรที่รับมรดกจากใครในอดีต ทั้งนี้อดีตประธานวุฒิสภาคนที่แล้วเมื่อได้รับรายงานไม่เห็นด้วยกับรายงานและไม่ได้ดำเนินการอย่างไรต่อไป และเรื่องนี้ไม่ได้เป็นวาระวันนี้” นพ.สรณ ชี้แจง

นพ.สรณ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่ประธานคณะกรรมการติดตามและประเมินผล การปฏิบัติงานของ กสทช. (กตป.) แถลงการดำเนินงานนั้นไม่ทราบข้อเท็จจริงครบถ้วน การนำเรื่องกมธ.วุฒิ มาชี้แจงไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงใหัครบถ้วนก่อน จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่และไม่อยู่ในวาระการประชุมครั้งนี้ ทั้งนี้ กตป.ไม่ได้แถลง และผู้แถลงไม่ใช่สว.ที่จะมีสิทธิอภิปรายกล่าวหาบุคคลอื่นให้เสียหาย ถือเป็นการใช้โอกาสชี้แจงผลงานต่อวุฒิสภาโดยไม่ชอบ

“ข้อเท็จจริงผมลาออก พนักงานมหาวิทยาลัยมหิดล 6 มกราคม 2565 และแสดงหลักฐานว่าได้ลาออกแล้วต่อประธานวุฒิสภาเรียบร้อยแล้วตามกฎหมาย กสทช. และตั้งแต่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นประธานกสมทช. ผมไม่เคยขาดคุณสมบัติ ผมไม่เคยขาดคุณสมบัติ ผมทำงานเต็มเวลาไม่เคยเป็นกรรมการของบริษัทเอกชนใด ตลอดชีวิตของการเป็นแพทย์และอาจารย์แพทย์ เป็นอาชีพช่วยชีวิตเป็นไปตามจริธรรมวิชาชีพ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือเบียดเบียนเวลาการทำงาน ประธานกสทช.” นพ.สรณ ชี้แจง

ด้านนพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. อภิปรายว่า ปกติการพิจารณารายงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มาสู่วุฒิสภาส่วนใหญ่มีแต่รับรองแล้วผ่านไป เหมือนวุฒิสภาเป็นตรายาง ไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ แต่หน่วยงานของกสทช.จะให้ผ่านไม่ได้จริงๆ ด้วยเหตุผลคือ คณะกรรมการกสทช.ชุดนี้ ถือเป็นชุดที่ 3 มีอะไรบางอย่างที่ไม่ชอบมาพากล กรรมการกสทช.มี 7 ท่าน มาชี้แจงเพียง 6 ท่าน และทราบมาอีกว่า ประธานคณะกรรมการกสทช. ไม่ได้แจ้งให้มาชี้แจง ทั้งที่ทุกท่านต้องมีอิสระในการทำงาน ที่แปลกเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ประธานกสทช. ไปชี้แจงที่สภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่มีคณะกรรมการกสทช.ไปชี้แจง ทราบว่า ไม่ได้รับการแจ้งให้ไปชี้แจงต่อสภาฯ ในขณะเดียวกันคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ หรือค.ต.ป.มากันครบและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากถึงข้อสังเกตในการทำงาน โดยเฉพาะการควบรวมกิจการของโทรศัพท์ เมื่อเป็นเช่นนี้ตนอยากให้ประธานวุฒิสภา ไปดูขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าที่พหลโยธินซอย 8 จะได้เห็นว่า การทำงานตรงนั้นเป็นองค์กรใหม่ก็จริง มีพ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ตั้งแต่ปี 2553 แต่การเติบโตของกิจการในเครือข่ายนี้เติบโตมากจนน่ากลัว มีแต่ปัญหาผลประโยชน์ภายใน หลายคนเห็นว่าเป็นเรื่องซับซ้อนซ่อนเงื่อน ความจริงไม่มีอะไรซับซ้อน ปัญหามีมาจาก 2 คนเท่านั้น คือ คนหนึ่งขาดคุณสมบัติ อีกคนหนึ่งรักษาการมาเกือบ 4 ปีแล้วไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรในองค์กรนี้ ตนไม่ได้พูดโดยอาศัยข้อมูลจากที่อื่น แต่เป็นข้อมูลจากคณะกรรมาธิการเทคโนโลยี กิจการสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา ซึ่งกรรมาธิการฯชุดที่แล้วสอบสวนไว้ดีมาก ดำเนินการสืบสวนใช้เวลา 6 เดือนได้เชิญบุคคลต่าง ๆเข้ามาชี้แจงการตรวจสอบคุณสมบัติของประธานกสทช.ปรากฏว่า ไม่ได้รับความร่วมมือทั้งจากเจ้าหน้าที่หรือท่านใดมาชี้แจง

นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากกรรมาธิการฯ ตรวจสอบเสร็จแล้ว กลับมีหนังสือจากประธานกสทช.โต้แย้งว่า วุฒิสภาไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ ในประเทศไทยกฎหมายสูงสุดที่ใหญ่ที่สุดเป็นแม่บทของประเทศคือ รัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญให้อำนาจวุฒิสภากำกับองค์กรอิสระ แต่ประธานกสทช.โต้วุฒิสภาไม่มีอำนาจตรวจสอบ ขณะเดียวกันเลขาธิการวุฒิสภาได้มีหนังสือตอบกลับไปยังประธานกสทช.ว่า อำนาจของวุฒิสภาตรวจสอบองค์กรอิสระได้แน่นอน ตนถือว่าเป็นการท้าทายมาก ทำให้ประชาชนรู้สึกสับสนในอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ถ้าวุฒิสภาแตะองค์กรอิสระไม่ได้แล้วใครแตะต้องได้ ถ้าองค์กรอิสระกระทำผิด หรือบุคคลในองค์กรอิสระทำไม่ถูกกฎหมายใครจะแก้ไขได้

“กรรมาธิการฯ ชุดที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธานฯ ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของประธานกสทช. ว่าขาดคุณสมบัติหลายประการในข้อสรุปมี 95 หน้า ลงท้ายลงความเห็นว่า จากพยานหลักฐานข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในขั้นพิจารณาของกรรมาธิการฯประกอบกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมาธิการฯพิจารณาแล้วเห็นว่า นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ตามพ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ พล.อ.อนันตพรได้ทำหนังสือตามขั้นตอนส่งไปยังประธานวุฒิสภาขณะนั้น ปรากฏว่า เป็นช่วงสัปดาห์สุดท้ายของวุฒิสภา ช่วงนั้นเกิดคำถามหลายอย่างทำให้ประธานวุฒิสภาไม่ได้เซ็นหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีตามขั้นตอน เรื่องจึงมาตกที่ประธานวุฒิสภาคนปัจจุบันจะดำเนินการอย่างไร ถ้าวุฒิสภาตรวจสอบไม่ได้ประชาชนจะพึ่งใคร จึงขอเรียนประธานวุฒิสภาว่า ให้ดูเรื่องนี้ใหม่ว่า เรื่องมาถึงประธานวุฒิสภาหรือยัง ถ้าเห็นว่า ผลการตรวจสอบมีน้ำหนักน่าเชื่อถือให้ส่งไปยังนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งได้แถลงนโยบายจะขจัดคอรัปชั่นจะทำในสิ่งที่เป็นความหวังของประชาชน ถือเป็นการดีว่าจะกล้าลงดาบอะไรหรือไม่ เพราะผลการสอบชัดเจนชัดยิ่งกว่าชัดไม่อยากให้คาราคาซัง”นพ.เปรมศักดิ์กล่าว

นพ. เปรมศักดิ์ กล่าวว่า ผลประโยชน์ของกสทช.ในตำแหน่งไม่เท่าไหร่ แต่การอนุมัติคลื่นความถี่ มีวงเงินเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน แต่สิ่งที่คนทั่วไปไม่ทราบค่าตอบแทนบอร์ดกสทช. ประธานบอร์ดกสทช.ค่าตอบแทนเหมาจ่ายรายเดือน 361,167 บาท นอกจากนั้นยังมีค่าเสียโอกาสเดือนละ 89,667 บาท อยากถามว่า ค่าเสียโอกาสอะไร ส่วนกรรมการอีก 6 คน ค่าตอบแทนเหมารายเดือน 289,167 บาทค่าเสียโอกาส 71,667 บาทต่อเดือน ในขณะที่นายกรัฐมนตรี มีค่าตอบแทนรายเดือน 125,590 บาท ส่วนเงินนอกกฎหมายอีกไม่รู้เท่าไหร่ ค่าเสียโอกาสเขาเขียนไว้ทำไม

อย่างไรก็ตาม ประธานกสทช. ถูกกรรมาธิการฯตรวจสอบอย่างที่ตนอภิปรายว่า ท่านมีความบกพร่องในส่วนนี้ จึงเป็นข้อเรียกร้องของตนในฐานะวุฒิสภา และเพื่อนวุฒิสภาถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นแบบนี้ และประธานกสทช.ชอบโต้แย้งเสมอว่า วุฒิสภาไม่มีอำนาจแล้วใครจะตรวจสอบท่านได้ ท่านจะกลายเป็นคนที่แตะต้องได้อย่างนั้นหรือ พหลโยธินซอย 8 แทนที่จะเป็นแดนศิวิไล แต่กลายเป็นแดนสนธยา ตนจึงไม่สามารถรับรองรายงานของกสทช.ได้

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img