วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWSสภาถกญัตติด่วน!ปมตุลาการศาลรธน. “เท้ง”ถามหาจรรยาบรรณ "อดิศร"ลั่นไม่ตลก!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

สภาถกญัตติด่วน!ปมตุลาการศาลรธน. “เท้ง”ถามหาจรรยาบรรณ “อดิศร”ลั่นไม่ตลก!

สภาถกญัตติด่วน! ปมตุลาการ ศาล รธน. บรรยาย “ยุบพรรคก้าวไกล” ฝ่ายค้าน-รัฐบาลประสานเสียง “เท้ง ณัฐพงษ์” มั่นใจถกเถียงได้ไม่ผิด ขอสบายใจได้ไม่ก้าวล่วง เย้ย เราคือ สส.ผู้ทรงสิทธิ์จากประชาชนโดยตรง ด้าน “อดิศร” มาเป็นกลอนกฎหมาย ซัดเป็นการทำลาย “ตราชู” ลั่น ผมไม่ตลกกับท่าน ในเมื่อปาราชิกแล้วต้องสึก อย่าเป็นกาดำในกระบวนการยุติธรรม

วันที่ 22 ส.ค. 67 เวลา 17.10 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ได้ลุกขึ้นขอเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่องขอให้สภาพิจารณาเกี่ยวกับการแสดงออกของผู้ดำรงตำแหน่งขององค์กรตุลาการในเวทีสาธารณะ และการปฎิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระ เพื่อให้ส่งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาดำเนินการต่อไป

โดยนายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวย้ำก่อนเสนอหลักการว่า เนื่องจากวันนี้เป็นการประชุมที่อาจจะมีการกล่าวถึงบุคคลภายนอก เพราะฉะนั้นเราจะไม่คุ้มครองตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นการถ่ายทอดสดการประชุม ดังนั้นจึงอยากให้พึงระวัง รวมถึงหากจะกล่าวถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ก็ให้พึงระวังเรื่องการละเมิดอำนาจศาล

จากนั้น นายณัฐพงษ์ อภิปรายหลักการในการเสนอญัตติว่า สืบเนื่องจากข่าวเมื่อวานนี้ ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม กรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่ง ขึ้นไปบรรยายเวทีสาธารณะที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการแสดงความคิดเห็นถึงพรรคประชาชนโดยตรงว่าพวกเราต้องขอบคุณท่านที่ยุบพรรคก้าวไกล จนนำมาสู่การที่พรรคประชาชนได้รับเงินบริจาคสูงถึง 20 ล้านบาท

ตนคิดว่าการแสดงความคิดความเห็นแบบนี้ต่อที่สาธารณะของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องมีการคิดไตร่ตรองอย่างดี เพื่อเป็นการทัศนคติส่วนตัวหรือเป็นการแสดงทัศนะคติที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจหน้าที่ของท่าน ในฐานะองค์กรอิสระ ภายใต้รัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ถ้าแสดงความคิดความเห็นส่วนตัวทั่วไป ตนคิดว่าไม่ขัดข้องครับ แต่เนื่องจากเป็นการแสดงความคิดความเห็น ในฐานะที่ท่านเป็นองค์คณะตุลาการที่พิพากษาประหารชีวิตนักการเมือง โทษสูงสุดถึงการยุบพรรค แล้วท่านออกมาแสดงความคิดเห็นตอบประเด็นดังกล่าวแบบนี้ เชิงประชดประชันหรือถากถาง ตนคิดว่าแบบนี้เป็นความชอบธรรมของสภาผู้แทนราษฎรของประชาชนที่รับฟังอยู่ เราเป็นผู้แทนของประชาชนที่ทรงอำนาจสูงสุดควรจะต้องตั้งคำถามได้ต่อองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ

นายณัฐพงษ์ ได้อ่านมาตรฐานทางจริยธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 2 ว่าด้วยจริยธรรมอันเป็นค่านิยม ว่า ข้อที่ 13 บัญญัติไว้ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องปฎิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรมเป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติ และข้อ 17 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่ทำการใดๆให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์และการดำรงตำแหน่ง

“จากการแสดงทัศนคติบนเวทีสาธารณะแบบนี้ ท่านคิดว่าเป็นการแสดงทัศนคติที่เป็นกลางหรือไม่ครับ เป็นการแสดงทัศนคติที่สาธารณชนตั้งคำถามได้หรือไม่ครับ ว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ยุบพรรคก้าวไกลไปนั้นท่านใช้อคติส่วนตัวในการวินิจฉัยหรือไม่ ผมคิดว่าเรื่องแบบนี้เราตั้งคำถามได้ ในสภาฯแห่งนี้เป็นสิ่งที่เป็นเวทีที่เราพูดแสดงความคิดเห็นแบบนี้ร่วมกันได้” นายณัฐพงษ์ กล่าว

นายณัฐพงษ์ กล่าวด้วยว่าตามจรรยาบรรณวิชาชีพคนที่เป็นตุลาการ ผู้พิพากษาไม่พึงแสดงปาฐกถาบรรยายสอนหรือเข้าร่วมการสัมมนาอภิปรายแสดงความคิดเห็นใดๆต่อสาธารณชน ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ และเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา ตนคิดว่าคงไม่มีผู้พิพากษาคนไหนยอมรับได้ในกรณีนี้

“นี่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงออกชัดเจน กลัวทำให้เกิดความเสื่อมเสียของจรรยาบรรณวิชาชีพตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ …อยากจะเรียกร้องเพื่อนสมาชิกเห็นชอบกับญัตตินี้ เพื่อส่งข้อสังเกตไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพราะพวกเรายืนยันว่าในเรื่องของมาตรฐานจรรยาบรรณ ซึ่งเป็นเรื่องนามธรรม ควรจะต้องให้คนภายในองค์กรนั้นตรวจสอบกันเอง ดังนั้นเรื่องนี้สบายใจได้ ไม่ใช่เรื่องฝ่ายนิติบัญญัติจะไปใช้อำนาจล่วงเกินฝ่ายอื่น” นายณัฐพงษ์ กล่าว

“พวกเราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ผู้ทรงสิทธิ์ ได้รับอำนาจจากประชาชน สิ่งที่เราทำได้ร่วมกันแน่นอนคือการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง เรามีอำนาจเต็มที่ดำเนินการเรื่องนี้ เพื่อทำให้สภาผู้แทนราษฎรของเราส่งความศักดิ์และสิทธิ์ในการเป็นผู้แทนของปวงชน” นายณัฐพงษ์ กล่าว

ขณะที่นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่องเดียวกัน เสนอหลักการว่า ตนได้ดูข่าวตุลาการท่านหนึ่ง ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจ ไม่ทราบว่าท่านพูดแบบตั้งใจมาพูดหรือตกกระไดพลอยโจน ในการแสดงความคิดเห็นในลักษณะตนเองเป็นใหญ่ อวดเบ่งและเหยียดหยามเสียดสีบุคคลซึ่งเคยเป็นคู่กรณีในศาลรัฐธรรมนูญ

“ผมให้ความเคารพนะครับคำว่าศาล เพราะผมเรียนนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราสอนว่านิติศาสตร์ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ให้ความยุติธรรมโดยไม่มีอคติ ไม่มีมายาคติ จนพระบิดาแห่งกฎหมายไทยได้เขียนกลอนสั้นๆ ไว้ว่า เอ็งกินเหล้าเมายาไม่ว่าหรอก / แต่อย่าออกนอกทางไปให้เสียผล / จงอย่ากินสินบาทคาดสินบน / เรามันชนชั้นปัญญาตุลาการ กรณีที่เกิดภาคใต้ไม่ใช่สินบนนะครับ แต่เป็นการกระทำโดยอาศัยตนเองได้ตัดสินคดีมา ยังติดค้างในใจหรือเปล่า” นายอดิศร กล่าว

นายอดิศร ย้ำว่า วันนี้เราพูดถึง Balance of Power นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เขาถ่วงดุลกัน เรากำลังทำหน้าที่ถ่วงดุลกับฝ่ายตุลาการ เรามีคดีความ ท่านตัดสินยุบพรรค ประหารชีวิตนายกรัฐมนตรี 5:4 คนหนึ่งเอียงไปทางไหน คนนั้นชนะ วันนี้จะต้องหาทางร่วมกันในการแก้รัฐธรรมนูญ และวิธีพิจารณาความตามอำนาจหน้าที่ของท่านต่อไป

“เราให้ท่านไปเป็นพระ โดยการกลั่นกรองของวุฒิสภา ผมไม่ได้ว่านะครับ กลั่นกรองมาแล้ว ให้ท่านเป็นพระอยู่บนหิ้ง เพราะต้องอยู่ในธรรมวินัย ต้องปฏิบัติตนเยี่ยงพระ เยี่ยงสมณะ เมื่อท่านทำผิดพระวินัย ท่านปาราชิก ไปบิณฑบาตไม่มีใครใส่บาตรแล้ว ตนว่าคนเดียวนะครับ ไม่ได้ว่าทั้งองค์กร มีคนบอกว่าคุณอย่านะ ท่านครับ ไม่ต้องกลัว เรานิติบัญญัติ ตุลาการต้องดีใจ พวกเราถ่วงดุลท่าน เราไม่มีอคตินะครับ เราเห็นท่านไปพูดแล้วไม่เหมาะสม ไม่ทราบว่าก่อนตัดสินคดีใดๆ ของท่านท่านมีอคติหรือไม่ เป็นกลางหรือเปล่า” นายอดิศร กล่าว

นายอดิศร กล่าวต่อว่า มีคนบอกตนว่า Justice must not only be done, but must also be seen to be done แปลความว่า ความยุติธรรมต้องไม่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ต้องมีความเชื่อว่าเกิดขึ้นจริง ต้องไม่มีอคติ ต้องเป็นกลาง

“ท่านยังอารมณ์ค้างติดตลก ผมไม่ตลกกับท่าน ท่านกำลังทำลายความยุติธรรมจะโดยเจตนาหรือไม่ วันนี้ผมจึงจำเป็น ท่านกำลังทำลายตราชู ความยุติธรรมไม่ว่าด้วยเจตนาหรือไม่ ซึ่งตามญัตติขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ผมเห็นว่าไม่จำเป็นต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเมื่อพระปาราชิกก็ต้องสึก ขออย่าเป็นกาดำ เพราะเป็นสิ่งไม่ดีในกระบวนการยุติธรรมคนเพียงคนเดียวทำให้กระบวนการยุติธรรมขาดความเชื่อมั่น” นายอดิศร กล่าว

นายอดิศร กล่าวต่อว่า ตนอยากให้ตุลาการนิติบัญญัติและบริหารทำหน้าที่ของตัวเอง อย่ายกตนข่มท่าน ยืนยันว่าไม่ได้มีข้อขัดแย้งกับตุลาการทั้งหมดมีเรื่องแค่เฉพาะบุคคล นิ้วไหนร้ายก็ตัดทิ้ง ตัดอวัยวะรักษาชีวิต วันนี้สภาทรงเกียรติไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลเราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติด้วยกัน เป็นผู้เสียหายร่วมกัน จะต้องปกปักรักษา

“ท่านเป็นตุลาการชี้นิ้วว่าคนอื่นขาดจริยธรรม แต่อีก 3 นิ้วที่ชี้เข้าหาตัวเองท่านจะไม่อธิบายได้อย่างไร ไม่อยากให้ความยุติธรรมต่ำมากกว่านี้ท่านอยู่สูงแล้ว ให้อยู่สูงต่อไปวินิจฉัยความขัดแย้งของพวกเรา แต่ถ้าท่านอยากลงมาต่ำให้ลงมา มาเกลือกกลั้วกับพวกเรา ผ่านการเลือกตั้งมีประชาชนตรวจสอบ” นายอดิศร กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img