โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 67 ใช้ดิจิทัลวอลเล็ต 1.22 แสนล้านเฟสแรก กลุ่มเปราะบาง
เมื่อวันที่ 22 ส.ค.67 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอม ของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. 2567”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้ตั้งเป็นจำนวน รวมทั้งสิ้น 122,000,000,000 บาท จำแนกเป็นรายจ่ายตามที่จะระบุต่อไปในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 4 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมงบกลาง ให้ตั้งเป็นจำนวน 122,000,000,000 บาท
จำแนกดังนี้
(1) ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็ง ของระบบเศรษฐกิจ 122,000,000,000 บาท
มาตรา 5 ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจสั่งจ่ายเงินแผ่นดิน ตามรายการและจำนวนเงิน
ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่สำนักงบประมาณจะได้จัดสรร หรือตามที่จะได้มีการโอนเปลี่ยนแปลงตามกฎหมาย
มาตรา 6 ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ
1.โดยที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพ สร้างโอกาศในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ได้
จึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจำนวนไม่เกิน 122,000,000,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวน 122,000,000,000 บาท จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
2. ประมาณการเงินที่พึงได้มาสำหรับจ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนี้
(1) ภาษีและรายได้อื่น โดยเป็นแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการ จำนวน 10,000,000,000 บาท
(2) เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 112,000,000,000 บาท