วันพฤหัสบดี, กันยายน 26, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight‘4 สส.ปชป.อาวุโส’ค้านร่วม‘รัฐบาลพท.’ ‘ชวน’รับมีผลฐานเสียงใต้แต่ไม่สูญพันธุ์
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘4 สส.ปชป.อาวุโส’ค้านร่วม‘รัฐบาลพท.’ ‘ชวน’รับมีผลฐานเสียงใต้แต่ไม่สูญพันธุ์

“4 สส.ปชป.อาวุโส” ถกเครียดกลางห้องประชุมสภาฯ ไม่เห็นด้วยเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทย “ชวน” ร่ายยาวกรีดใส่ “คนบางกลุ่ม” เข้าพรรคมา ใช้ตำแหน่งเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง เชื่อไปดอง “เพื่อไทย” ส่งผลต่อฐานเสียงภาคใต้ แต่มั่นใจ “ปชป.ยังไม่สูญพันธุ์” เหตุ “คนรุ่นเก่า” ทำผลงานไว้เยอะ ซัดคนที่พูด“หมดยุค” เพิ่งเข้าพรรคมา แต่อาศัยบารมีคนรุ่นก่อน

เมื่อวันที่ 28 ส.ค.67 ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ยื่นหนังสือเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เข้าร่วมรัฐบาล และพรรคประชาธิปัตย์นัดประชุมกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคฯในวันที่ 29 ส.ค.นี้ เวลา 17.00 น. และประชุมร่วม กก.บห.กับสส.พรรค เวลา 19.30 น. โดยมีวาระคือการเข้าร่วมรัฐบาล โดยองค์ประชุมร่วม แบ่งเป็น กก.บห. 38 คน สส. 25 คน แต่ก็มีในส่วนที่ซ้ำซ้อน คือเป็นทั้ง กก.บห.และสส.จำนวน 10 คน ดังนั้นองค์ประชุมทั้งหมด จึงมีจำนวน 53 คน ซึ่งสส. 25 เสียง โดยเสียงข้างมาก 21 เสียง พร้อมร่วมรัฐบาล มีเพียง 4 เสียงที่ไม่เห็นด้วยในการร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย 1.นายชวน หลีกภัย 2.นายบัญญัติ บรรทัดฐาน 3.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคฯ และ 4.นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา

ทั้งนี้ นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์เปิดใจว่า พรุ่งนี้มีการนัดประชุม กก.บห.และสส.พรรค เวลา 19.30 น. ซึ่งส่วนตัวขอยืนยันในจุดยืนเดิม ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มีตั้งแต่วันแรกที่การตั้งรัฐบาลชุดของนายเศรษฐา ทวีสิน ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะไม่สามารถทรยศประชาชนได้ ซึ่งตนเป็นผู้ขอร้องประชาชนไม่ให้เลือกพรรคไทยรักไทย พรรคเพื่อไทย ไม่ใช่เพราะความขัดแย้งส่วนตัว แต่เป็นเพราะพรรคเหล่านั้น ประกาศชัดเจนที่จะพัฒนาจังหวัดที่เลือกเขาก่อน ส่วนจังหวัดอื่นไว้ทีหลัง ซึ่งวิธีเหล่านี้ เราไม่เคยเห็นมาก่อน นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา 90 ปี ไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหน ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากการยึดอำนาจ ยิ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล จะให้ความเป็นธรรมกับทุกภาคอย่างยุติธรรม โดยไม่สนใจว่าใครจะเลือกใครเป็นรัฐบาล แต่จัดการบ้านเมืองด้วยความเป็นธรรม

นายชวน กล่าวว่า แต่ต้องยอมรับว่า เรื่องการเลือกปฏิบัติ ตนต่อสู้มาเพียงลำพัง ด้วยการขอว่า “อย่าเลือกเขานะ” ไม่ได้ไปกลั่นแกล้งหรือทำร้าย อย่างที่นายราเมศ รัตนเชวง เคยถูกกระทำ ทำให้เขาได้รับเลือกน้อยมาก ไม่มีสส.ภาคใต้แม้แต่คนเดียว ซึ่งเป็นผลมาจากที่ตนรณรงค์ แล้ววันหนึ่งจะมาบอกให้ตนสนับสนุนพรรคที่ตนบอกว่า “อย่าเลือก” มันชัดเจนว่า ไม่เป็นการทรยศชาวบ้าน ตนทำไม่ได้ จึงขอยืนยันว่า แม้เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี แต่จุดยืนยังเหมือนเดิม

เมื่อถามว่า หากในวันพรุ่งนี้ มติของพรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยในการร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย นายชวน กล่าวว่า คงไม่ใช่การเห็นด้วย เพราะมีการติดต่อกันแล้ว ที่มาถามว่า “เขามาเชิญ” ความจริง ตนคิดว่า คนของเราไปติดต่อเขา ก่อนเขาเชิญ หรือสงสัยว่า ไปขอให้เขามาเชิญด้วยซ้ำ แต่ตามมารยาท ก็มาเชิญด้วยวิธีนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะก่อนหน้าจะมีหนังสือเชิญ “คนของเราบางคน” ก็ไปประสานติดต่อ จึงถูกสื่อมวลชนเรียกว่า “พรรคอีแอบ” “พรรครอเสียบ” จึงอยากขออย่าเรียกพรรคประชาธิปัตย์แบบนี้ เพราะเป็นพฤติกรรมของคนส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ การเรียกแบบนี้ ทำให้พรรคเสื่อมเสีย อยากปกป้องเกียรติภูมิของพรรค เราไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้คนใดคนหนึ่ง ได้เป็นนายกอยู่สัก 1-2 สมัยแล้วล้มไป แต่พรรคประชาธิปัตย์อยู่มาเกือบ 80 ปี ปฏิบัติตามอุดมการณ์ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นหลักประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน ไม่อยากให้เสื่อมเสียด้วยการกระทำของกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน

นายชวน กล่าวยอมรับว่า ตนเป็นเสียงข้างน้อยในพรรคประชาธิปัตย์ ชัดเจนตั้งแต่มีการลงมติเลือกนายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ตนได้หารือกับนายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ และนายสรรเพชญ บุญญามณี ว่าอย่างน้อย 4 คน จะยังคงยืนยันในจุดยืนเดิม แต่ไม่ว่ามติของพรรคเป็นอย่างไร ก็พร้อมจะเคารพ เพียงแต่ไม่เห็นด้วยที่จะร่วมกับพรรคการเมืองที่เคยกลั่นแกล้งประชาชน และเชื่อว่าการตัดสินใจร่วมรัฐบาลในครั้งนี้ จะส่งผลต่อฐานเสียงภาคใต้ไม่น้อย

ส่วนที่หลายคนมองว่าพรรคประชาธิปัตย์อาจสูญพันธุ์ นายชวน กล่าวว่า ความดีของพรรคยังมีอยู่ ผลงานก็มี แต่คนไม่ค่อยพูดถึง แต่คนที่รู้ เขาจะยังระลึกถึง แต่คงต้องใช้เวลาในการพัฒนาพรรค ให้กลับมาน่าเชื่อถือเหมือนเดิม เพราะในสมัยก่อน ไม่เคยคิดว่าจะต้องร่วมรัฐบาลทุกครั้ง ไม่จำเป็นต้องไปเหมา ไปซื้อพรรค เพื่อเป็นเสียงข้างมาก เหมือนอย่างในสมัยของนายทักษิณ ชินวัตร ทำ แต่เข้าใจว่า นักการเมืองรุ่นหลัง ไม่คิดที่จะเติบโต คิดเพียงว่าจะเป็นรัฐมนตรีสัก 2-3 คน ก็พอแล้ว แต่พรรคประชาธิปัตย์ดั้งเดิม เขาไม่คิดอย่างนี้ คิดแต่จะสร้างพรรคให้ใหญ่ เพื่อแกนนำเป็นรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของบ้านเมือง ที่ควรจะทำบทบาทตัวเองให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรีและมีประโยชน์ต่อบ้านเมือง การเป็นรัฐบาลก็ดี ได้พัฒนาประเทศ แต่ถ้าถึงขนาดเสียศักดิ์ศรีไปเป็นรัฐบาล การเป็นฝ่ายค้านก็ไม่เสียหาย

ถามว่า ที่คนรุ่นใหม่มองว่า หมดยุคของลุงชวนแล้ว นายชวน กล่าวว่า มันไม่มีกำหนดอายุ มีคนคิดเหมือนกันว่า ตนเป็นขวากหนามของเขา ทำให้ไปร่วมรัฐบาลไม่ได้ จึงพยายามพูดว่า “หมดยุคของผู้อาวุโส” แต่ในความจริงแล้ว ตนเป็นผู้สร้าง มากกว่าผู้ทำลาย และคนที่พูดเหล่านั้นอาศัยบารมีพรรค ที่พวกตนทำเอาไว้ แต่คนเหล่านั้นยังไม่เคยทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับพรรคเลย เพียงแต่อาศัยชื่อพรรค เพื่อเข้ามาเป็นนักการเมือง ตนก็เคยได้ยินเรื่องนี้ แต่ไม่ได้โกรธ แม้กระทั่งเรื่องที่ “จะขับพ้นออกจากพรรค” ก็มาดูว่าใครเป็นคนพูด พอทราบ ก็เข้าใจ เพราะเขาก็เพิ่งเข้าพรรคมา อาศัยบารมีของพรรค ที่คนรุ่นก่อนเขาสะสมสร้างมา นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 10 ซึ่งยังไม่ได้สร้างความน่าเชื่อถือให้พรรคเท่ากับรุ่นก่อน

“ดังนั้น ใครที่คิดจะปลด ต้องดูกฎหมาย ไม่ได้กำหนดอายุ ผมยังคงทำหน้าที่ของตัวเองอยู่ ผมกลายเป็นคนหัวคัดค้าน ทั้งที่มีหลายคนไม่เห็นด้วย แต่เขาไม่อยากเปลืองตัว เป็นการกระทำของคนบางกลุ่ม ทำให้คนทั่วไปยังเข้าใจว่า ประชาธิปัตย์โดยทั่วไปยังพอใช้ได้อยู่ เพียงแต่คนบางกลุ่มเท่านั้น ที่เข้ามาใช้ตำแหน่งในพรรค เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งคนกลุ่มนั้นไม่รู้ว่าจะทำยังไงกับผม จนพยายามจะบอกว่าขัดแย้งมาแล้ว 20 ปี จึงอยากถามว่าขัดแย้งเรื่องอะไร ไม่ได้ทะเลาะเพื่อประโยชน์ส่วนตัวกัน แต่เป็นเรื่องของประชาชน”นายชวน กล่าวและว่า ไม่สามารถรับยืนยันได้ว่า จะลงเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img