”จุลพันธ์“ แย้ม ดิจิทัลวอลเล็ต 1 เล็งใช้รูปแบบใหม่ เปลี่ยนจ่ายเป็นเงินสด ชี้ ป้องกัน”นักร้อง” เพื่อให้ รบ. ”อิ๊งค์“ ปลอดภัย อุบ รอฟังตอนแถลงนโยบายกลาง ก.ย. นี้
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมว.คลัง กล่าวถึงนโยบายเงินดิจิตอล 10,000 บาท ว่ายืนยันได้นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ได้แสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่าจะเดินหน้าโครงการดิจิทัล 10,000 บาท แต่แน่นอนว่ารูปแบบอาจจะมีการปรับเปลี่ยน แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการแถลงนโยบาย แม้ว่าจะพอรับทราบโครงสร้างใหม่มาแล้วบ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถพูดได้อย่างชัดเจนต้องรอให้กระบวนการครบถ้วนก่อน ซึ่งคาดว่าจะรู้ความคืบหน้าประมาณ 10 วัน
ทั้งนี้ช่วงราว 15-17 ก.ย. คาดว่าจะมีการแถลงนโยบาย ซึ่งหากเป็นไปตามกรอบเวลาก็จะทราบว่าโครงสร้างของโครงการ ปรับเปลี่ยนเป็นอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตามเงินที่ได้มีการเตรียมไว้ ไม่ว่าจะเป็นงบกลาง ปี 67 จำนวน 1.22 แสนล้าน และงบ 68 ที่กำลังพิจารณาอยู่ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเติมเงินให้กับประชาชนได้อย่างแน่นอน
ส่วนเรื่องการจ่ายเงินสดเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ เนื่องจากกลัวว่าการจ่ายเงินสดจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายและไม่กระจายลงฐานรากอย่างแท้จริง นายจุลพันธ์ ยอมรับว่ามีหลายมุมมองต่อการดำเนินโครงการ เพราะลักษณะการดำเนินนโยบายสาธารณะมีมุมมองที่แตกต่างกัน และในการทำรูปแบบดิจิทัล 100% ก็มีข้อท้วงติงทั้งการเข้าถึงกลุ่มเปราะบาง และทางวุฒิสภา (สว.) ก็เห็นร้องห่มร้องไห้ ให้แจกเป็นเงินสด ซึ่งต้องยอมรับว่าได้ยินมาจริง ๆ จากตัวแทนของประชาชน ซึ่งได้รับฟัง และตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา มาจนถึงรัฐบาลแพทองธาร ก็เชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่รับฟังเสียงสะท้อนของประชาชน และทุกฝ่าย รวมถึงฝ่ายค้านและภาคราชการ ซึ่งเมื่อมีเสียงสะท้อนมาก็รับฟัง
สำหรับสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนประเด็นแรก กลไกการเดินหน้ารัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเต็มไปด้วยนักร้อง เมื่อมีการลองเข้ามาแล้วก็มีการสะดุดติดขัดไม่ใช่เพียงรัฐบาลเท่านั้น แต่กระทบไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในเรื่องของเศรษฐกิจปากท้อง ทำให้กระทบกับความเชื่อมั่นต่อการบริโภค การลงทุน การเดินหน้าชีวิตให้สะดุดติดขัดขัดไป เป็นอะไรที่เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยง มองว่ารัฐบาลแพองธาร ต้องปรับให้มีความปลอดภัยมากขึ้น
และมีข้อสังเกตข้อห่วงใยจากหน่วยงานของรัฐ และจากประชาชนฝ่ายค้านในเรื่องของการปรับเปลี่ยนรูปแบบบางจุดเพื่อให้เกิดประโยชน์โดยเร็ว กระตุ้นเศรษฐกิจในการเป็นเม็ดเงินให้กับประชาชน ยอมรับว่าการปรับเปลี่ยนเป็นเงินสดมีความเป็นไปได้ในบางส่วน แต่สุดท้ายจะเป็นอย่างไรก็ต้องให้มีการพิจารณาร่วมกันในพรรคร่วมรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม จะยังเดินหน้าโครงการต่อ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีโครงการที่เป็นในลักษณะของดิจิทัลวอลเล็ต แต่เรื่องการทำโครงการเงินดิทัลวอลเล็ต ยังมีอีกหนึ่งวัตถุประสงค์ที่ทราบกันมาตลอดคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศไทย เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ไม่อาจละเลยได้ ยังอยู่ในวัตถุประสงค์อยู่ แต่รูปแบบจะเป็นอย่างไรเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในระดับที่น่าพึงพอใจในระดับที่ยอมรับได้ เรื่องนั้นต่างหากที่เป็นคำตอบ
แน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนอะไรก็ตาม ก็มีทั้งในแง่บวกและแง่ลบในตัวของมันเอง ต้องหาจุดสมดุลที่มีความเหมาะสมที่สุดเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ และบรรลุวัตถุประสงค์ ทำอย่างไรให้ได้ทุกอย่างในระดับที่ยอมรับได้