วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight‘ชูศักดิ์’ซัดพวก'นักร้อง'น่ารำคาญไร้สาระ ยันนายกฯตั้ง‘สุรพงษ์’ถูกต้องจ่อฟ้องกลับ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘ชูศักดิ์’ซัดพวก’นักร้อง’น่ารำคาญไร้สาระ ยันนายกฯตั้ง‘สุรพงษ์’ถูกต้องจ่อฟ้องกลับ

‘ชูศักดิ์ ’ เผยรบ.ไม่ไหวจะทนเล็งฟ้องหมิ่นประมาทกลับหลังถูก ‘นักร้อง’ ยื่นตรวจสอบจริยธรรม ‘นายกฯ’ ตั้ง ‘สุรพงษ์’ เป็นรมต. ยันไม่เคยต้องคำพิพากษา -มีบทเรียนยุค ‘นิด’ ต้องเข้มตรวจสอบคุณสมบัติ ซัดจะเอาคืนทางการเมือง ควรรู้เรื่องบ้าง ไม่ใช่จ้องแต่จะเล่นงาน เมินปม ‘คนบ้านป่าฯ’ งัดข้อ ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ เล็งรื้อแก้รธน.สกัดถูกยุบพรรค ชงสภาฯเร็วๆนี้

วันที่ 16 ก.ย.2567 เวลา13.15น. ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ฝ่าฝืนจริยธรรม แต่งตั้งนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นรมช.คมนาคมว่า ตนได้เรียกประชุมฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย เพื่อพิจารณากรณีดังกล่าว ที่มีผู้ยื่นเรื่องร้องเอาผิด น.ส.แพทองธาร อย่างกรณีล่าสุดที่ยื่นเอาผิดจริยธรรม กรณีตั้งนายสุรพงษ์ เป็นรมช.คมนาคม เนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก และสื่อมวลชนนำไปเป็นประเด็นพาดหัว โดยไม่ดูรายละเอียด ซึ่งนายสุรพงษ์ไม่เคยต้องคำพิพากษาใดๆ มาก่อน ซึ่งตั้งแต่การดำรงตำแหน่งนายกฯอบจ.กาญจนบุรี จนถึงปี 2566 ไม่เคยมีคำพิพากษาว่าทำผิด ดังนั้นการร้องดังกล่าวให้เข้าใจว่าเป็นข้อบกพร่องของการตั้งรัฐมนตรี และทำให้นายสุรพงษ์เสียหาย ซึ่งขณะนี้นายสุรพงษ์คิดดำเนินคดีทางกฎหมายข้อหาหมิ่นประมาท

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตนข้อสังเกตในคำร้องประเภทดังกล่าวทำให้เสียเวลาทำงานให้ประเทศ เพราะเป็นเรื่องจุกจิก ไม่มีสาระ ตนขอฝากไปยังองค์กรอิสระว่าเวลารับเรื่อง ที่เขาฉลาดที่ไม่ยืนยันข้อเท็จจริงว่าผิดหรือไม่ และขอให้หน่วยงานวินิจฉัยเป็นออย่างนั้น อย่างนี้หรือไม่ เหตุที่ไม่ยืนยันเพราะกลัวฟ้องกลับ ดังนั้นตนให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณา จำเป็นต้องดำเนินการที่คิดว่าาสามารถทำได้ โดยให้ดูเป็นพิเศษเพื่อจัดการตอบแทนกันบ้าง

“เรามีบทเรียนของนายกฯคนที่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ต้องตรวจสอบคุณสมบัติให้เข้มข้น แต่การใช้วิธีนี้ผมมองว่าไร้สาระ จนเป็นเรื่องน่ารำคาญ” นายชูศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า จะสามารถดำเนินการฟ้องกลับ หรือใช้ช่องทางทางกฎหมายได้บ้างนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้มีการเชิญฝ่ายกฎหมายมาแล้ว ซึ่งคงต้องดำเนินการจริงจัง และคงต้องดูว่าเข้าข้อกฎหมายที่ชัดเจนหรือไม่

เมื่อถามว่า จะมองว่าเป็นการเอาคืนกันหรือ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เป็นการเมืองแน่นอน เพียงแค่ว่า หากทำงานทางการเมือง ควรจะรู้เรื่องบ้าง ไม่ใช่สักแต่จะสู้กัน แต่ไม่ดูดุลพินิจว่าควรจะเป็นอย่างไร ถูกต้องสมควรมากน้อยเพียงใด

เมื่อถามถึงกรณีที่ถูกมองว่าเป็นการสู้กันระหว่างคนบ้านป่ากับคนบ้านจันทร์ส่องหล้า นายชูศักดิ์ หัวเราะ ก่อนกล่าวว่า “ไม่รู้บ้านไหน แต่ในท้ายที่สุดถึงเวลาที่เราต้องทบทวนดู ว่าควรจะทำกันอย่างไร หากบ้านเมืองเป็นเช่นนี้ ก็ไม่ต้องทำงานทำการกัน เราต้องดำเนินการ เพื่อให้การเมืองเดินต่อไปได้ ไม่ต้องมาพะว้าพะวง บางทีไร้สาระเกินไป

เมื่อถามว่าจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรมได้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้ก็มีการพิจารณาเรื่องนี้ เพราะนอกเหนือจากการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดที่แล้ว รัฐบาลนี้จะสานต่อในแง่ของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะแก้ไขเพิ่มเติมบางประเด็น เพื่อให้บ้านเมืองไปได้ เนื่องจากร่างทั้งฉบับยังต้องรอการทำประชามติก่อน

“สิ่งที่รัฐบาล กำลังคิดอยู่คือกรณีที่เสียงข้างมากของศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องมีความสำคัญมาก เช่น การยุบพรรค การเอาคนออกจากตำแหน่ง จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า ต้องมีเสียง 2 ใน 3 หรือ 4 ใน 5 จะได้เกิดความยุติธรรมขึ้นพอสมควร เพราะหากจะเอาคนออกจากตำแหน่ง แต่ชนะกันแค่ 5 ต่อ 4 ในเรื่องของความชอบธรรมก็น่าคิด จะพยายามจะแก้ไขในส่วนนี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอเข้าสู่สภาได้ในเร็วๆนี้ หรือในสัปดาห์หน้า” นายชูศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคประชาชน เตรียมแก้ไขร่างกฎหมาย ป.ป.ช. เกี่ยวกับการร้องจริยธรรม นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนนี้อาจจะยังไม่ตรงกันมากนัก เพราะพรรคประชาชนอาจจะให้ขอยกเลิกไปเลย แต่พรรคเพื่อไทยในขณะนี้เท่าที่คุยกัน ยังไม่น่าจะยกเลิกได้ เพราะเดี๋ยวจะหาว่าเราแก้เพื่อตัวเอง ขอให้เอาที่สมเหตุสมผล แต่ยืนยันว่า จะทำให้รอบคอบรัดกุม ซึ่งคิดว่าสามารถพูดคุยกันได้ อย่างไรก็ตาม คงเป็นการเสนอแยกกัน และอาจจะมีร่างของพรรคร่วมรัฐบาลอื่นอีก

เมื่อถามถึงร่างกฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อร่างกฎหมายประชามติผ่านวุฒิสภา ก็จะมีการเสนอเป็นร่างกฎหมาย ซึ่งจะถือว่าเป็นการเริ่มนับหนึ่ง เป็นการถามประชามติครั้งแรก.

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img