“วันนอร์” เผยร้องจริยธรรม “บิ๊กป้อม” ยังไม่ถึงมือ หากได้ผู้นำฝ่ายค้านฯ เตรียมนำเข้าคกก.จริยธรรมทันที ชี้ หากสส. ขาด-ลา ไม่มีเหตุผล เสนอให้พ้นสมาชิกภาพได้
วันที่ 19 ก.ย.2567 เวลา 10.10 น. ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่มีผู้มายื่น ขอให้ตรวจสอบจริยธรรม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ที่ขาดประชุมสภาฯ ว่า ตนยังไม่เห็นเนื้อหาที่มายื่น คิดว่าเจ้าหน้าที่รับไว้แล้วก็จะดำเนินการตามขั้นตอนแล้วส่งมาถึงตน ถ้าเขายื่นเรื่องสอบจริยธรรม ทางสภาฯก็จะพิจารณา ว่าเนื้อหาตรงกับที่ยื่นหรือไม่ หากตรงกัน ก็จะส่งคณะให้กรรมการจริยธรรม ของสภาฯ ซึ่งประกอบไปด้วย ประธานสภาฯ ผู้นำฝ่ายค้านฯ ตัวแทน สส.ของทุกพรรคการเมือง และอดีตสส. เพื่อพิจารณา ซึ่งคงจะมีการนัดประชุมต่อไป เนื่องจากคณะกรรมการจริยธรรม มีเรื่องต้องพิจารณาหลายเรื่อง
เมื่อถามว่า ขณะนี้ยังไม่มี ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนฯจะสามารถประชุมคณะกรรมการจริยธรรมได้หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ ก่าวว่า คิดดว่าคณะกรรมการจริยธรรมจะได้ประชุมเร็วๆนี้ เนื่องจากคณะกรรมการฯต้องมีองค์ประกอบครบ ต้องมีผู้นำฝ่ายค้านฯด้วย อย่างไรก็ตามตอนนี้ทุกอย่างพร้อมแล้ว เพียงแต่เจ้าหน้าที่เสนอมาว่าองค์ประกอบคณะกรรมการฯพร้อม ก็เริ่มประชุมได้
เมื่อถามว่าพล.อ.ประวิตร มีใบลาประชุมสภาฯหรือไม่ หรือขาดประชุมไปเฉยๆ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่าไม่ทราบ ต้องดูว่า สมัยประชุมที่แล้ว หรือสมัยประชุมนี้ พล.อ.ประวิตร ได้มาประชุมกี่ครั้ง และมีใบลาครบตามข้อบังคับหรือไม่ ซึ่งเราต้องพิจารณาตามข้อบังคับ
เมื่อถามว่า การเข้าร่วมประชุมหรือไม่เข้าร่วมประชุมประชาชนสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ ประธานสภาฯ กล่าวว่า ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ เพราะมีการเซ็นชื่อทุกครั้งที่มีการประชุม แม้แต่ประธานและรองประธานสภาฯ ก็ต้องเซ็นชื่อเพื่อแสดงตนว่ามาประชุม ซึ่งกรณีของพล.อ.ประวิตร เรื่องใบลา จะไม่มาถึงตน ส่วนมากการส่งใบลา จะอยู่ในขั้นของเจ้าหน้าที่ โดยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะดู ถ้ามีการลาเกินก็จะรายงานมา เพราะแต่ละสัปดาห์สส.ไม่ได้ลาคนเดียว โดยเลขาธิการสภาฯจะเป็นผู้รับใบลาแล้วรายงานขึ้นมา ซึ่งตนไม่ต้องเซ็นอนุญาตให้ลา ยกเว้นคนที่มาเซ็นชื่อร่วมประชุมไม่ทัน และขอมาเพิ่มชื่อทีหลัง ประธานต้องอนุญาต
“ผมไม่ทราบว่าข้อบังคับการประชุมระบุไว้ ว่าถ้าขาดประชุมเกินกี่ครั้ง แต่เขาเขียนไว้ว่า ขาดโดยไม่ลา หรือลาโดยไม่มีเหตุผลพอ ก็ต้องเสนอให้พ้นจากสมาชิกภาพได้ แต่ขึ้นอยู่กับใบลาและเหตุผล ซึ่งบางคนป่วย ไม่สามารถมาประชุมได้ ตลอดระยะเวลาสมัยประชุมนั้นก็มี เช่นอยู่โรงพยาบาล และแพทย์ส่งใบรับรองมา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสุดวิสัยที่มาประชุมไม่ได้ อย่างบางคนสมัยประชุมที่ผ่านมาตลอดสมัย ไม่เคยมาเลยเพราะอยู่โรงพยาบาล ไม่สะดวกที่จะมาประชุมได้ เช่น นั่งรถเข็น บางครั้งไม่สะดวก เวลามีโหวตเรื่องสำคัญ ยังนั่งรถเข็นมาเลย แล้วแต่สถานการณ์ เพราะฉะนั้นสภาต้องพิจารณาตามเหตุผล” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว