“สนธิญา” ยื่นจี้ “ประธานรัฐสภา” ค้านรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปมจริยธรรม “เพื่อไทย-ประชาชน” ชี้ละเมิดสิทธิ์ประชาชนที่เห็นชอบกว่า 16 ล้านคน ซัด 2 พรรคมีปัญหาเรื่องจริยธรรมมากสุด หวั่นเกิดความแตกแยกรอบใหม่
วันที่ 23 ก.ย.2567 เวลา 10.30น.ที่รัฐสภา นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร ได้ยื่นหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ผ่านนายเจษฎา อนุกูลโภคารัตน์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงาน ประสานการเมืองและรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ดำเนินการพิจารณาวินิจฉัย ไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2560 ของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนหรือพรรคการเมืองอื่น โดยใช้สิทธิตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 2 มาตรา 3มาตรา4 มาตรา5 มาตรา41 (1)(2)ประกอบมาตรา 50 อีกทั้งถือว่าเป็นผู้ มีส่วนได้เสียในฐานะ 1 ใน 16 ล้านคนที่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ผ่านการทำประชามติ และเป็นผู้ร้องสอบจริยธรรมร้ายแรงต่อป.ป.ช. ของ 44 สส.อดีตพรรคก้าวไกล
นายสนธิญายังเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้มา กว่า 7 ปี ผู้เสนอแก้ไขเรื่องจริยธรรมหรือมาตราต่างๆ ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาชนก็ผ่านการ ใช้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาแล้ว อีกทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน เคยใช้กลไกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตรวจสอบ รัฐบาลและ คุณสมบัติของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาอดีตนายกรัฐมนตรี จนเป็นที่มาของการหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งการร้องให้ประธานรัฐสภา พิจารณาวินิจฉัย ไม่รับเรื่องกรณี การขอแก้ไขเรื่องจริยธรรมหรือคุณสมบัติของผู้ที่ โดนคดีต่างๆ หรือมีปัญหาต่างๆ เพราะ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน เป็น 2 พรรคที่มีปัญหาเรื่องจริยธรรมและถูกกระบวนการ แห่งจริยธรรมดำเนินการและมีปัญหามากที่สุด
นายสนธิญายังหยิบยกเหตุผลประกอบกว่า 10 ข้ออาทิ สส.กำลังจะละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนที่ร่วมลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กว่า 16 ล้านคน ตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการสนับสนุนการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันหลักของประเทศ ที่กฎหมายความมั่นคงและกฎหมายทั่วไป ไม่สามารถเอา เป็นความผิดได้ กรณีส.ส 44 คนของอดีตพรรคก้าวไกลเคยกระทำมา อีกทั้งเป็นการทำนายความชอบธรรมของระบบการคัดสรรเลือกตั้งบุคคลที่เป็นคนดีไม่ทุจริตโกงหรือค้ายาเสพติด นอกจากนี้พรรคเพื่อไทยยังเคยรณรงค์ไม่รับร่างประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญขาดการชอบธรรมจริยธรรมคุณธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินของส.สที่ร่วมกันแก้กฎหมายเพื่อพรรคพวกและตัวเอง ขณะเดียวกันยังขาดต่อพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีพระราชดำรัสว่าต้องส่งเสริมให้คนดีมาปกครองบ้านเมืองโดยไม่ให้คนไม่ดีเข้ามาปกครองบ้านเมือง การที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนแก้ไขรัฐธรรมนูญมีประชาชนสนับสนุนกี่คนเป็นการกระทำของส.สที่ร่วมลงชื่ออันเป็นการกระทำที่ขัดต่อ รัฐธรรมนูญมาตรา 114 เรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่ทำเพื่อประโยชน์พรรคการเมืองและผู้ที่ทำผิดกฎหมายและจริยธรรมเพื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งในรัฐบาลที่ประชาชนไม่ได้อะไรเลย
“ปัญหาเร่งด่วนขณะนี้เช่นหนี้สินครัวเรือนคนไทยที่สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก หนี้สินประเทศที่ใช้งบประมาณเกินดุล ของแพงทั้งแผ่นดินเหตุใดส.สไม่ร่วมกัน แก้ปัญหา เศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทั้งนี้ย้ำว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถือว่าสมาชิก รัฐสภาทั้งสส.และสว. ฉ้อฉล ต่อประชาชนคนไทยที่รับร่างกฎหมายฉบับนี้ และเป็นการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะอาจเป็นการกระทำให้เกิดความแตกแยก พร้อมมั่นใจว่าเมื่อใดที่มีการเสนอและรับร่างในสภา ความแตกแยกจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”นายสนธิญา กล่าว