“วิโรจน์” แสดงความเสียใจเหตุไฟไหม้รถบัสน้องนักเรียน ชี้ เบื้องต้นต้องเร่งชดเชยเยียวยาจิตใจ เด็กที่ปลอดภัย-ผู้ปกครอง บอกระดับรัฐมนตรีต้องเป็นเจ้าภาพตรวจสอบด้านวิศวกรรมสาเหตุเพลิงไหม้ จ่อใช้กลไกสภาฯ หาแนวทางป้องกัน ใครจะว่าวัวหายล้อมคอก ก็ต้องล้อมให้แน่นหนาเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำ
วันที่ 1 ต.ค. 2567 ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงเหตุเพลิงไหม้รถบัสของนักเรียน ที่บริเวณหน้าห้างเซียรังสิต ว่า ทราบว่าขณะนี้มีเด็กออกจากรถได้ประมาณ 19 คน ที่เหลือ คาดว่าน่าจะเสียชีวิต เบื้องต้นต้องแสดงความเสียใจอย่างมาก ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและคิดว่า เบื้องต้นต้องเยียวยาสภาพจิตใจของเด็ก 19 คนก่อน และเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ปกครองพ่อแม่ด้วย สำหรับเด็กและผู้เสียชีวิตบนรถบัส คงต้องเร่งรัดดำเนินการพิสูจน์อัตลักษณ์ ซึ่งตนเห็นว่าเรื่องที่ต้องทำก่อนคือให้ความสำคัญ กับหัวใจของคนก่อน หลังจากนี้คงต้องดูแลชดเชยเยียวยา แม้จะลำบากแต่ก็ต้องดำเนินการชดเชยเยียวยาอย่างเต็มที่
ขั้นตอนต่อไปคือการสอบสวนอย่างตรงไปตรงมา ยางระเบิดจริงหรือไม่ ยางระเบิดได้อย่างไร มีการซ่อมบำรุงรถหรือไม่ และทำไมประตูฉุกเฉินถึงเปิดไม่ได้ และ การจัดทัศนศึกษาได้คำนึงถึงความปลอดภัย ในการเดินทางส่วนนี้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาที่ต้องเข้าไปติดตามด้วย
นายวิโรจน์ ยังกล่าวด้วยว่ามีคำถามเกิดขึ้น ว่าเด็กอนุบาลและเด็กโตมีความจำเป็นต้องเดินทางไปทัศนศึกษาในระยะไกลขนาดนี้ด้วยหรือ หากมีความจำเป็นในการทัศนศึกษามีการตรวจสภาพรถก่อนหรือไม่ ความพร้อมในการบำรุงรักษา และการเตรียมความพร้อมในกรณีมีเหตุฉุกเฉินขึ้น ซึ่งพบว่าทำไมเด็กถึงไปอยู่กับบริเวณหลังรถ และพบว่าประตูหลังรถเปิดไม่ได้ นี่จึงเป็นข้อสังเกตและมองว่าการตรวจสอบทางด้านวิศวกรรมตรวจสอบได้ไม่ยาก ทั้งนี้การตรวจสอบด้านวิศวกรรม วันนี้ พรุ่งนี้ก็สามารถพิสูจน์ได้แล้ว โดย สามารถตรวจสอบ ได้หลังจากที่มีการเข้าพิสูจน์อัตลักษณ์แล้ว แต่คำถามคือถ้ารถไม่ได้มีความพร้อม 100% ทำไมจึงพาผู้ที่มาทัศนศึกษาในระยะทางที่ไกลขนาดนี้ ทั้งตัวผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาจะต้องมีคำตอบที่ชัดเจนอย่างตรงไปตรงมาให้กับผู้ปกครองและประชาชนในส่วนนี้ด้วย
เมื่อถามว่างานสภาฯจะมีการใช้กลไกใดหรือไม่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า ต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะใช้กลไกใดในเรื่องนี้ ซึ่งตนมองว่าเรื่องนี้มี 2 ส่วนคือเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะชดเชยเยียวยาอย่างไร จะดูแลสภาพจิตใจอย่างไร และสุดท้ายถ้ามีการกระทำความผิดหรือการกระทำอันประมาท ก็ต้องดำเนินการกับผู้ที่กระทำการอันประมาทด้วย แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการทัศนศึกษา ต่อไปจากนี้ต้องมีกระบวนการ ตรวจสอบความพร้อมของยานพาหนะ ที่บกพร่องตกหล่นไม่ได้เลย
“ใครจะว่าวัวหายล้อมคอกมันก็ต้องล้อมมันก็ต้องล้อมให้แน่นหนาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น ส่วนเจ้าภาพหลักในการรับผิดชอบ ควรต้องเป็นระดับรัฐมนตรีเพราะชีวิตคนมีมูลค่ามหาศาลและไม่ควรเกิดขึ้น การเกิดอุบัติเหตุทางจราจรพอที่จะอธิบายได้และเกิดขึ้นแล้วนำมาซึ่งเหตุสะเทือนขวัญเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้น จริงๆยางแตกก็ไม่ควรเกิดขึ้น แต่หากยางรั่วก็ความเป็นไปได้ แต่ไม่ควรที่จะเกิดเพลิงไหม้เช่นนี้ ซึ่งรถคันดังกล่าวติดตั้งแก๊สก็ต้องถามด้วยว่า มีวิศวกรเซ็นรับรองอย่างถูกต้องหรือไม่ ไม่ใช่แค่มีลายเซ็นก็พอ มีการตรวจสอบความปลอดภัยทางวิศวกรรมหรือเปล่า ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้พิสูจน์หลักฐานสามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นการขอลายเซ็นมาก็ต้องมีการสืบสวนเอาผิดกับวิศวกรคนนั้นต่อไป คุณเอารถติดตั้งแก๊สพาเด็กนักเรียนมาสมควรหรือเปล่า ก็ต้องตั้งคำถามต่อไป” นายวิโรจน์กล่าว