‘ปธ.วันนอร์’ เผยฟังคลิปฉาว ‘นักการเมือง’ ตบทรัพย์ ‘ดิไอคอน’ แล้ว รับต้องมีคนมาชี้เป้าร้องเรียน สภาฯถึงเดินหน้าสาวหาตัวการได้ แจงปมเหตุเกิดเมื่อ2ปีที่แล้ว หากบุคคลนั้นเข้ามาเป็น ‘กมธ.ชุดปัจจุบัน’ สามารถลุยตรวจสอบได้ ยันทำเต็มที่ อะไรเป็นอำนาจหน้าที่ต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ ปชช.-รักษาความเชื่อมั่นฝ่ายนิติบัญญัติ เปิดคืบหน้า ‘2เคส’ พวกแอบอ้าง ฟันจมเขี้ยว กำชับจนท.เข้มสกรีน ส่งหนังสือถึง ‘ปธ.กมธ.สามัญ35คณะ’ เช็คละเอียด หากพบพิรุธ ถอดถอนออกทันที เมินตั้งคณะกลางฯพิจารณาโดยเฉพาะ ชี้มีหน่วยงานเกี่ยวข้องทำแล้ว-เป็นขั้นตอน
วันที่ 15 ต.ค.2567 เวลา 14.00 น. ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการตรวจสอบคลิปเสียงเชื่อมโยงนักการเมืองเรียกรับผลประโยชน์ผู้บริหาร ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด ในชั้นคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎรว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ตนได้เรียกเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และคณะผู้ดูแลความปลอดภัยของสภาฯ เข้ามาพูดคุยหลายเรื่อง ส่วนกรณีคลิปเสียงซึ่งเราฟังแล้ว แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นใคร ดังนั้นถ้ามีผู้ร้องมาหรือมีการอ้างกรรมาธิการ และกรรมาธิการแจ้งว่าได้รับความเสียหาย สภาฯก็ต้องดำเนินการต่อไป
“ไม่ใช่แค่เฉพาะกรรมาธิการ ถ้าประชาชนที่เกี่ยวข้องได้รับความเสียหายจากคลิปเสียง โดยเฉพาะคู่สนทนา คนอื่นไม่เท่าไร แต่คู่สนทนาถ้าเขาเสียหาย และมาแจ้งสภาฯ ทางสภาฯก็จะดำเนินการ เพราะมันเกี่ยวข้องกับเรื่องของกรรมาธิการในชุดนั้นๆ ว่าเกิดความเสียหายแล้ว เราก็ต้องดำเนินการต่อไป” นายวันมูหมัดนอร์ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีคลิปเสียงดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ2ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นสภาฯชุดเก่า จะดำเนินการตรวจสอบได้อย่างไร นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า หากเกี่ยวกับกรรมาธิการชุดที่แล้ว ถือว่าพ้นสภาพไปแล้ว แต่หากมีความต่อเนื่อง หรือบุคคลจากกรรมาธิการชุดที่แล้ มาเป็นกรรมาธิการในสภาฯชุดปัจจุบัน ก็สามารถตรวจสอบได้ แต่หากบุคคลนั้นพ้นตำแหน่งไปแล้ว หากมีผู้เสียหายก็ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป ยอมรับว่าเรื่องคลิปเสียง เราไม่สามารถจะระบุได้ว่าคลิปเสียงเป็นของใคร นอกจากต้องมีผู้มาร้องเพื่อยืนยัน สภาฯถึงจะตรวจสอบผู้เกี่ยวข้อง
เมื่อถามว่าตรงนี้เป็นช่องโหว่ที่ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อสภาฯได้ จะทำให้เสื่อมเสียหรือไม่ ประธานสภาฯ กล่าวว่า อะไรที่เป็นอำนาจหน้าที่ที่สภาฯดำเนินการได้ ต้องทำเพื่อประโยชน์ประชาชน และเพื่อความเชื่อถือในการทำงานของสภาฯ เพราะกรรมาธิการฯทำงานเพื่อช่วยประชาชน แต่ถ้าประชาชนไม่เชื่อถือ ก็ไม่เป็นประโยชน์ ฉะนั้นต้องรักษาความเชื่อถือเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบนิติบัญญัติให้ได้
“เราก็พยายามเต็มที่ ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องไปติดคุกติดตาราง แต่อย่างน้อยที่สุดต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน และระบบของฝ่ายนิติบัญญัติ” ประธานสภาฯ กล่าว
ประธานสภาฯ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง คนที่ไปแอบอ้างในกรรมาธิการบ้าง แอบอ้างมาถ่ายรูปในรัฐสภาบ้าง เพื่อใช้ประโยชน์ในการไปเรียกร้องในเรื่องต่างๆ จากบุคคลภายนอก ซึ่งไม่รู้เรื่องแล้วจะทำให้เกิดความเสียหายได้นั้น ได้ดำเนินการแจ้งความแล้ว 2 เรื่อง 1.กรณีสุภาพสตรีที่แต่งกายชุดข้าราชการ ได้แจ้งความตั้งแต่เดือนส.ค.ที่ผ่านมาแล้ว และกำลังติดตามอยู่ และ2.กรณีชายที่ไปถ่ายรูปในห้องประชุม ดูจากภาพวิดีโอเป็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่สภาฯเลิกการประชุมแล้ว ที่มีวาระสำคัญของการประชุมสภาฯ คือเลือกรองประธานสภาฯ คนที่1 และคนที่2 ซึ่งดำเนินการจบแล้ว สภาฯก็ปิดการประชุม ช่วงที่ปิด เจ้าหน้าที่กองการประชุมกำลังนำเอกสารการประชุมต่างๆที่แจกเก็บ และนำเอกสารที่จะประชุมวันต่อไปวางไว้ ในช่วงนั้นชายคนดังกล่าวเข้าไปครู่เดียว ไม่กี่นาที และถ่ายรูปเพื่อให้เห็นว่าเขาอยู่ในห้องประชุม ก็ได้แจ้งความดำเนินคดีแล้ว เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา และต้องติดตามต่อไป
“ทั้ง 2 กรณีนี้เป็นบุคคลที่มีคดีตามศาลต่างๆ เป็น 10 คดีแล้ว และถือโอกาสมาหาเรื่องที่สภาฯอีก สภาฯจึงได้ดำเนินการแจ้งความเพิ่มเติมอีกอย่างน้อยก็ 2 คดี เพราะเป็นพื้นที่หวงห้าม ไม่อนุญาตและติดบัตรแปลกปลอมเข้ามา” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
ประธานสภาฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ตนยังได้กำชับเลขาธิการสภาฯ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสภาฯว่า เราจะต้องเข้มงวดในเรื่องบุคคลภายนอกที่เข้ามาในสภาฯมากยิ่งขึ้น โดยตนจะออกหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการสามัญทั้ง 35 คณะ หรือประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญแต่ละคณะให้ตรวจสอบบุคคลต่างๆที่ตั้งเป็นที่ปรึกษา หรือคณะทำงานของคณะกรรมาธิการนั้นๆ ว่ามีบุคคลใดที่ไม่น่าเชื่อถือ ขอให้พิจารณาเพื่อถอดถอนจากกรรมาธิการ เพราะว่าถ้าเรื่องเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการชุดใดถ้ามีที่ปรึกษาหรือคณะทำงานไปแอบอ้างเกิดความเสียหายแล้ว คนแต่งตั้งคือประธานคณะกรรมาธิการจะต้องรับผิดชอบ อย่างน้อยที่สุดก็คือประมวลจริยธรรม เพราะประมวลจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภานั้นมันครอบคลุมไปถึงครอบครัวเขาด้วย ครอบครัวของ สส. ครอบครัวของกรรมาธิการ หรือประธานกรรมาธิการ ไปทำความเสียหาย ก็ต้องรับผิดชอบ ถ้าร้ายแรงก็ส่งไปคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามกฎหมาย ถ้าไม่ร้ายแรงก็มีบทลงโทษของสภาฯตามขั้นตอน ตั้งแต่การตักเตือน หรือไล่ออก ถ้าไม่ใช่ สส. และยังมีมาตรฐานลงโทษต่างๆอีก แต่หากเป็นการทำผิดอาญาเราก็จะดำเนินการไม่ละเว้น โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับประชาชนที่หลงเชื่อว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสภา ซึ่งกรณีนี้ก็ไม่ได้มีมากมายอะไร แต่ถ้ามีเราก็ต้องแก้ไข
เมื่อถามว่าการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบบุคคลที่แอบอ้างจำเป็นต้องมีการตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาหรือไม่ เพราะหากให้คณะกรรมาธิการตรวจสอบกันเองอาจจะมีการละเว้นให้กันได้ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า จริงๆ ในสภาฯเรามีคณะกรรมาธิการดำเนินการเรื่องนี้ได้อยู่แล้ว ถ้าเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตหรือไปแอบอ้าง คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ(กมธ.ป.ป.ช.) สภาฯก็เข้ามาตรวจสอบได้ หรือเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับผู้บริโภค กรรมาธิการนั้นก็เรียกผู้เกี่ยวข้องมา แต่ถ้านอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการก็ส่งมาให้สภาฯ สภาฯก็จะดำเนินการว่าถ้าผิดอาญาก็ส่งเรื่องให้ตำรวจ ถ้าผิดจริยธรรมก็ดำเนินการให้คณะกรรมการจริยธรรมสอบสวนต่อไป ซึ่งในคณะกรรมการมีตำรวจ อัยการ และอดีตผู้พิพากษาเป็นกรรมการอยู่แล้ว แต่ขั้นตอนอาจจะช้ากว่าการไปร้องที่ ป.ป.ช.โดยตรง ถ้าเป็นกรณีความเสียหายจากการทุจริต ซึ่งในสมัย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีตประธานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.ก็ได้ไปร้องเรียนที่ ป.ป.ช.โดยตรง และมีผู้ถูกลงโทษ 1-2 ราย