กรมราชทัณฑ์แจงตรวจ SWAB ’’รุ้ง ปนัสยา’’ 2 ครั้ง ไม่พบเชื้อ ย้ำไม่มีนโยบายปกปิดข้อมูล
เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 64 กรมราชทัณฑ์ เปิดเผยยอดผู้ติดเชื้อจากการตรวจตัดกรองเชิงรุกในเรือนจำและทัณฑสถานพื้นที่เสี่ยง (เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร) พบผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวน 1,104 ราย ในเรือนจำพิเศษธนบุรี (ข้อมูล ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2564 เวลา 15.00 นาฬิกา) โดยทั้งหมดที่ตรวจพบเพิ่ม เป็นผู้ต้องขังที่ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว คือไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย และได้ดำเนินการรักษาด้วยการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เพื่อต้านไวรัสเป็นที่เรียบร้อย พร้อมเร่งดำเนินการตรวจเชื้อช้ำในกลุ่มที่ยังไม่พบเชื้อเพื่อยืนยันผล ด้วยวิธี RT-PCR เพื่อแยกกลุ่มเป้หมายที่ติดเชื้และไม่ติดเชื้อออกจากกันได้อย่างทันท่วงที
ซึ่งคาดว่จะสามารถดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมราชทัณฑ์ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับมือ แก้ไข และจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
โดยเฉพาะการเร่งประสานโรงพยาบาลแม่ข่าย การเตรียมความพร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และสำรองยาที่ใช้รักษาให้เพียงพอ พร้อมการดำเนินการฝ้าระวังอย่างเข้มข้นในด้านอื่นเพื่อป้องกันเชื้อ ทั้งจากเจ้าหน้าที่ในเรือนจำและการติดเชื้อจากผู้ต้องขังเข้าใหม่ รวมถึงเป้าหมายสำคัญ คือการเร่งจัดหาวัคซีนแก่เจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง
โดยขณะนี้ เริ่มฉีตวัคซีนแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในเรือนจำส่วนใหญ่แล้ว สำหรับผู้ต้องชังจะเริ่มต้นในกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว จนครอบคลุมผู้ต้องชังทุกรายในที่สุด
นอกจากนั้นกรมราชทัณฑ์ยังได้ออกเอกสารชี้แจงกรณีน.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่าครอบครัวติดเชื้อโควิด – 19 จากตัวเองได้รับเชื้อมาจากในเรือนจำ ซึ่งผู้ต้องขังและนักโทษไม่เคยทราบว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ในเรือนจำมีมากน้อยแค่ไหน โดยเอกสารดังกล่าวได้ ยืนยันมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 จริงในหลายเรือนจำ แต่กรมราชทัณฑ์ต้องดำเนินการตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
โดยในกรณีของน.ส.ปนัสยานั้น กรมราชทัณฑ์ ได้รับตัวมาเมื่อวันที่ 8 มี.ค.64 และได้ควบคุมภายในห้องกักโรคของแดนแรกรับ พร้อมทั้งดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ด้วยการ SWAB ครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 มี.ค.64 และวันที่ 23 เม.ย.64 ผลตรวจทั้งสองครั้งไม่พบการติดเชื้อ จนกระทั่งวันที่ 26 เม.ย.64 ได้อนุญาตให้น.ส.ปนัสยาออกจากห้องกักโรค (บนอาคารเรือนนอน) ลงมาอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังอื่นภายในแดนแรกรับ และได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 6 พ.ค.64
ซึ่งทัณฑสถานหญิงกลาง แบ่งการควบคุมเป็น 2 แดน คือ แดนแรกรับ เป็นแดนที่น.ส.ปนัสยาถูกควบคุมตัวอยู่ มีผู้ต้องขังประมาณ 1,500 คนได้ทำการตรวจคัดกรองผู้ต้องขัง 100% เมื่อวันที่ 8 พ.ค.64 ภายหลังจากน.ส.ปนัสยาได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว และไม่พบผู้ต้องขังแดนนี้ติดเชื้อ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงผู้ต้องขังที่นอนห้องเดียวกันและใช้ชีวิตใกล้ชิดกับน.ส.ปนัสยา ตั้งแต่พ้นจากห้องกักโรค จำนวน 4 คน ก็ไม่พบการติดเชื้อเช่นกัน
สำหรับอีกแดนหนึ่ง คือ แดนผู้ต้องขังเด็ดขาดที่เกิดการระบาดของโรค ซึ่งมีผู้ต้องขังประมาณ 2,900 คน ทำการตรวจคัดกรองผู้ต้องขัง 100% พบผู้ต้องขังติดเชื้ออยู่ในแดนนี้ จำนวน 1,039 คน และได้ย้ายผู้ต้องขังที่ติดเชื้อไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น ขอสร้างความเข้าใจต่อสังคมว่ากรมราชทัณฑ์ ไม่ได้มีนโยบายหรือสั่งการให้ปิดบังข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด – 19 ในเรือนจำและทัณฑสถานแต่อย่างใด อีกทั้งยังได้มีหนังสือกำชับให้เรือนจำและทัณฑสถานปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด