วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWS‘กมธ.พัฒนาการเมือง สว.’ ถกเข้ม ‘คดีตากใบ’ ก่อนถึงเส้นตาย! 25 ต.ค.นี้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘กมธ.พัฒนาการเมือง สว.’ ถกเข้ม ‘คดีตากใบ’ ก่อนถึงเส้นตาย! 25 ต.ค.นี้

‘กมธ.พัฒนาการเมือง สว.’ ถกเข้ม ‘คดีตากใบ’ ก่อนถึงเส้นตาย! ‘อัยการ’ รับหากหมดอายุความไม่สามารถฟ้องต่อได้ ด้าน ‘ตร.ภูธร ภาค 9’ ยันออกหมายแดง14 คน พร้อมติดต่อสถานทูตแล้ว มี 2 คนเดินทางถูกต้องบินญี่ปุ่นกับยูเค ที่เหลือเผ่นออก ‘ช่องทางธรรมชาติ’ ขณะที่ ‘กอ.รมน.’ แนะหลัง 25 ต.ค.นี้ ปชช.รวมตัวแสดงสัญลักษณ์ต้องระมัดระวังกระทบเสียหาย ส่วน ‘สมช.’ ขอประเมินสถานการณ์อีกมี ยันไร้ล็อบบี้ ยึดสันติวิธีแก้ปัญหา

วันที่ 22 ต.ค.2567 เวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มีนางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา(สว.) เป็นประธาน กมธ.ฯ พิจารณาติดตามเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลอยนวลพ้นผิด กรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส โดยมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าชี้แจง ได้แก่ พล.ต.ต.นิตินัย หลังยาหน่าย รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 พ.ต.อ.รังสี มั่นจิตร หัวหน้างานซักถามศูนย์พิทักษ์สันติ และพ.ต.ท.เสกสรรค์ คงคืน รองผู้กำกับกลุ่มงานสอบสวนคดีความมั่นคง

2.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แก่ พ.ต.อ.ดร.จารุวิทย์ วงศ์ชัยกิตติพร รองผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน และพ.อ.พีระพัชร์ บำรุงทินรัตน์ ผู้อำนวยการส่วนงานเสริมสร้างความมั่นคง, 3.สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้แก่ นายสรพงค์ ศรียานงค์ ที่ปรึกษาด้านการประสานกิจการความมั่นคง, 4.สำนักงานอัยการภาค 9 ได้แก่นายอารยะ กระโหมวงศ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9, นายสินทวิชญ์ มโนภาส, นายปราการ สังขอินทรี, นายชัยชาญ ยมจินดา อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด, นายสุณัย ผาสุก ผู้แทน Human Rights Watch Asia, Ms. Katia Chirizzi ผู้แทนข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน สหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิก, นายดอน ปาทาน, นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก และ รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีทั้งนี้ มีพล.ต.ต.สุนทร ขวัญเพ็ชร สว. และนายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) เข้าร่วมรับฟังด้วย

โดยนายชัยชาญ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า จากกรณีที่ทางอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 8 คนจากคดีตากใบนั้น และได้มีการส่งกลับมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และส่งกลับมาที่อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 สำนักงานอัยการภาค 9 และส่งกลับมาที่หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของตน เมื่อรับสำนวนมาแล้วต้องแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เพื่อจัดการให้ได้ตัวผู้ต้องหา 8 คนมาดำเนินคดีทำคู่ขนานไปกับพนักงานสอบสวน ตนไม่มีสิทธิ์ทำอะไรทั้งสิ้น แม้กระทั่งการสอบสวน นอกจากร่างฟ้อง จนกว่าจะได้ผู้ต้องหาทั้ง 8 คน และรอว่าเมื่อถึงวันที่ 25ต.ค. เวลา 16.00 น. ตามเวลาราชการ หากพนักงานสอบสวนสามารถนำตัวผู้ต้องหา 8 คนหรือคนใดคนหนึ่งมา ก็สามารถส่งฟ้องต่อได้เลย

“แต่หากเกินเวลาหรือตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค.เป็นต้นไป คดีจะถือว่าขาดอายุความ ซึ่งหากคดีขาดอายุ พนักงานอัยการต้องสั่งยุติคดี เพราะไม่สามารถส่งต่อไปที่ศาลได้ และไม่ใช่อำนาจของอัยการปัตตานี แต่ต้องส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อให้สั่งยุติคดีอีกครั้ง จากนั้นจึงจะต้องส่งกลับมาที่อัยการปัตตานีเพื่อส่งแก้คดี แล้วแจ้งให้ญาติผู้เสียชีวิตทราบว่าคดีนี้ขาดอายุความแล้ว ไม่สามารถส่งฟ้องศาลได้” นายชัยชาญ กล่าว

ด้านนายรอมฎอน ที่มาร่วมสังเกตการณ์ถามว่าจากที่ตำรวจภูธรภาค 9 อ้างว่าได้ขอหมายแดง หรือ Red Notice ไปยังอินเตอร์โพล ให้ตามตัวผู้ต้องหาในคดีตากใบทั้ง 14 คนแล้ว แต่จากที่ตนเองได้ตรวจสอบหมายแดงทั้ง 6,681 คนจากทั่วโลก พบว่า รัฐบาลไทยร้องขอหมายจับไปเพียง 3 คนเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ต้องหาในคดีตากใบแต่อย่างใด จึงไม่แน่ใจว่าคำชี้แจงต่อกรรมาธิการตกหล่นอย่างไร ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบอีกครั้งในเวลานี้

“จากข้อมูลล่าสุดเท่าที่มี ผู้ต้องหาทั้ง 14 คน เป็นไปได้ว่าจะอยู่สถานที่ไหน ขอให้เปิดเผยมาโดยไม่ต้องกลัวว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี เพราะเวลานี้ประชาชนต้องการรับทราบข้อมูลของผู้ต้องหาทั้งหมด โดยเฉพาะอยู่ต่างประเทศกี่คน ประเทศใดบ้าง อยู่ในประเทศไทยกี่คน อยู่ที่ไหนบ้าง และมีจำเลยหรือผู้ต้องหาบางคนอยู่ในค่ายทหารหรือไม่ ซึ่งส่งผลต่อการทำหน้าที่ของตำรวจ ทั้งนี้ ยังขอตั้งคำถามด้วยว่า ทั้ง 14 คนนี้ ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เพราะคดีนี้มีเดิมพันที่สูงมากเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ รวมถึงมีมาตรการคุ้มครองญาติของผู้เสียหายที่ฟ้องคดีอย่างไรหลังจากคดีหมดอายุความ และมีแนวคิดจะฟ้องร้องประชาชนที่กล้าหาญจะฟ้องร้องคดีนี้หรือไม่ อย่างไร” นายรอมฎอน กล่าว

ทำให้พ.ต.อ.รังสี หัวหน้างานซักถามศูนย์พิทักษ์สันติ ชี้แจงว่า วันที่ตนเองชี้แจงต่อ กมธ.การกฎหมายฯ เมื่อ 9 วันที่ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ตำรวจภูธรภาค 9 ทำหนังสือถึงกองการต่างประเทศ ซึ่งขึ้นตรงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) โดยกองการต่างประเทศแจ้งว่าได้ประสานกับอินเตอร์โพล และตนได้แจ้งว่าออกหมายแดงแล้ว 14 ราย

“ยืนยันว่ากองการต่างประเทศได้ออกหมายเลขแล้วเรียบร้อย โดยบุคคล 2 คนที่ออกจากต่างประเทศอย่างถูกต้องคือสหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น จึงได้ทำหนังสือถึงสถานทูตแล้ว ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือ กองสืบของแต่ละภูมิภาคได้แจ้งกลับมาว่าไม่ปรากฏพบ คาดว่ามีการหลบหนีผ่านช่องทางธรรมชาติ จึงทำหนังสือถึงกรมศุลกากร ซึ่งระเบียบปฏิบัติต้องอาศัยการประสานกับตำรวจท้องที่นั้นๆ ไม่สามารถจับกุมได้ทันที ส่วนจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ยังไม่ทราบ ขณะที่ผู้ต้องหาที่เป็นข้าราชการทหารนั้น ได้ตรวจค้นในค่ายทหารจังหวัดลำปางและแสดงหมายจับแล้ว แต่ก็ไม่ได้พบตัว” พ.ต.อ.รังสี กล่าว

ด้านรศ.เอกรินทร์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีตั้งคำถามว่า จะรับมือกับการแสดงออกของประชาชนอย่างไร หากคดีหมดอายุความ ซึ่งต้องไม่ไปละเมิดประชาชน ได้ประสานไปยังประเทศปลายทางที่ผู้ต้องหาไปอยู่หรือไม่ หากประสานแล้ว ประสานอย่างไร ต่างจากมาตรฐานเดิมหรือแตกต่างอย่างไร ทั้งนี้ หากเลยวันที่ 25 ต.ค.นี้ไป บุคคลเหล่านั้นจะสามารถกลับเข้ามาทำงานในหน่วยงานตัวเองได้หรือไม่

พ.ต.อ.ดร.จารุวิทย์ รองผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค4 (ส่วนหน้า) ชี้แจงว่า พลเมืองไทยย่อมได้รับการคุ้มครองจากรัฐอย่างเท่าเทียมกันตามหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ กอ.รมน. ต้องปฏิบัติตามกรอบกฎหมาย ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องเคารพกฎหมายและสิทธิของผู้อื่น เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่ง และ กอ.รมน. พยายามบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยกระดับการป้องกันเหตุไม่พึงประสงค์ทุกรูปแบบ

“ส่วนขั้นตอนหลังพ้นอายุความวันที่ 25ต.ค. และอาจมีการแสดงออกของประชาชนในรูปแบบต่างๆ หน่วยงานรัฐจะมีการดำเนินการทางกฎหมายหรือไม่นั้น ผู้ที่แสดงออกต้องพึงระมัดระวังข้อความหรือท่าทีที่สื่อความหมายออกไป และเกิดผลกระทบ สร้างความเสียหาย ต้องว่ากันไปเป็นรายกรณี แต่โดยพื้นฐานทุกคนสามารถแสดงออกได้ในสิ่งที่มีความถูกต้องและมีดุลยพินิจที่เหมาะสม” พ.ต.อ.ดร.จารุวิทย์ กล่าว

ขณะที่นายสรพงค์ ที่ปรึกษาด้านการประสานกิจการความมั่นคง ชี้แจงว่า สมช. วางนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง การคุ้มครองพยาน สำหรับกรณีตากใบที่ยังเหลือขั้นตอนการตามตัวผู้ต้องหา หากไม่สามารถนำตัวมาขึ้นศาลได้ จะส่งผลให้เกิดความหวาดระแวงและไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ แต่จะมากเพียงใดต้องประเมินสถานการณ์หลังวันที่ 25ต.ค. สำหรับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลังหมดอายุความนั้น นับตั้งแต่ปี 2547 การชุมนุมได้มีพัฒนาการขึ้นมา และได้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมและ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานฯ ซึ่งจะนำไปปรับใช้ในอนาคต

“ยืนยันว่า ไม่มีการล็อบบี้ แต่พยายามสร้างความเข้าใจกับทั้งในและต่างประเทศว่าเรายึดสันติวิธีในการแก้ปัญหา แต่มีความเห็นต่างในพื้นที่ และมีทั้งการใช้ความรุนแรงและใช้สันติวิธีแตกต่างกันไป ย่อมส่งผลต่อการดำเนินนโยบาย รวมถึงการพูดคุยสันติสุขต่อไปด้วย” นายสรพงค์ กล่าว

ขณะที่นายสุนทร พฤกษพิพัฒน์ สว. ในฐานะกรรมาธิการ ถามว่า ผู้ที่อนุญาตให้พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ลาหยุด มีส่วนรู้เห็นหรือไม่ส่วนผิดด้วยหรือไม่ ที่ทำให้หลบหนีไปจนขาดอายุความและเมื่อถึงวันที่ 25ต.ค. เราจะมีทางใดแทนที่จะบอกว่าหมดอายุความ เรามีวิธีแบบอื่นหรือไม่

นางอังคณา ประธานกมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ชี้แจงว่า ผู้ที่อนุญาตให้พล.อ.พิศาล ลาคือประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ตนไม่มีหน้าที่ไปก้าวก่ายสภาผู้แทนราษฎร จึงขอฝาก สส.ไปถามด้วย ทั้งนี้ ตนยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากหน่วยงานเรื่องเกี่ยวกับการดูแลความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีการสร้างทัศนคติเชิงลบต่อผู้สูญเสียด้วยว่าการออกมาเรียกร้องต่างๆ ในวันนี้เพราะมีคนหนุนหลัง

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img