“พปชร.” คัดค้านเจรจาผลประโยชน์ปิโตรเลียมตามกรอบ MOU 44 ประกาศ ลั่นจะไม่ยอมเสียแผ่นดินไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียว จี้ “แพทองธาร” ยกเลิกด่วนก่อนเสียดินแดน
วันที่ 30 ต.ค.2567 เวลา 09.00 น.ที่อาคารรัฐสภา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นำโดย นายชัยมงคล ไชยรบ สส.สกลนคร พรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานด้านวิชาการของพรรคฯ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรคฯ ร่วมแถลงข่าวคัดค้านการเจรจาผลประโยชน์ปิโตรเลียมในกรอบ MOU44
โดย นายชัยมงคล กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ประกาศในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคว่า พรรคพลังประชารัฐจะคัดค้าน MOU 44 ซึ่งมีความเสี่ยงจะทำให้เสียดินแดน เสี่ยงเสียอธิปไตยของชาติ และเสี่ยงเสียทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นของประชาชน และย้ำให้พรรคพลังประชารัฐดำเนินการให้เป็นที่พึ่งแก่ประชาชน โดยเราจะไม่ยอมเสียพื้นที่ไปแม้แต่ตารางนิ้วเดียว และจะร่วมกันลงชื่อเพื่อทำจดหมายเปิดผนึกถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่ง สส.ของพรรคจะไปยื่นจดหมายให้กับนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง
“พรรคพลังประชารัฐขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการยกเลิก MOU 44 และแก้ปัญหาเขตแดนทางทะเล โดยเห็นความสำคัญของข้อตกลงในเรื่องเขตแดนทางทะเล และอำนาจอธิปไตย ยิ่งไปกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยจะต้องรักษาทรัพยากรของชาติไว้ให้ลูกหลานสืบไป” นายชัยมงคล กล่าว
ด้านนายธีระชัย กล่าวว่า ข้อความในเอกสาร MOU 44 ประกอบแผนที่แนบ แสดงว่าสองประเทศได้ยอมรับว่ามีพื้นที่พัฒนาร่วมเพื่อให้ทำการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ปิโตรเลียม แต่ขอบพื้นที่ดังกล่าวด้านทิศตะวันตก ใช้เส้นเขตแดนในทะเลที่ประกาศโดยกัมพูชาในปี 2515 โดยมีจุดตั้งต้นในเส้นที่พาดผ่านเกาะกูด ทั้งนี้ ได้ตรวจสอบหลักฐานแล้ว พบว่าขัดกับสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 ดังนั้น จึงมีความเห็นว่าพื้นที่พัฒนาร่วมตามที่ระบุใน MOU44 ซึ่งขัดกับสนธิสัญญาฯ ย่อมทำให้เอกสาร MOU44 ทั้งฉบับผิดกฎหมาย
“ผมไม่ขัดข้องที่รัฐบาลจะเจรจาหาทางลงทุนร่วมกับกัมพูชา แต่ขัดข้องถ้าหากรัฐบาลจะใช้ MOU 44 เป็นกรอบในการเจรจา เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจจะทำให้ไทยเสียดินแดนอีกด้วย ถ้าหากกัมพูชายอมรับว่าไทยมีเอกสิทธิ์ในเกาะกูดอย่างสมบูรณ์แต่ผู้เดียวจริง กัมพูชาจะต้องยอมรับไทยลากเส้นห่างจากชายฝั่งของเกาะกูด 200 ไมล์ทะเลตามกติกาสากล ไม่ใช่ลากเส้นพาดผ่านเกาะกูด ซึ่งการที่ใน MOU44 ไทยยอมรับเส้นพาดผ่านเกาะกูดนั้น ย่อมหมายความได้ว่าไทยยอมให้กัมพูชามีสิทธิ์ในเกาะกูดครึ่งหนึ่ง เป็นการทำให้ไทยเสียดินแดนชัดเจน” นายธีระชัยกล่าว
ด้าน ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า ความแตกต่างที่ต้องระวังอย่างยิ่งของพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (MOU44) 1. ไทยและมาเลเซีย ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายสากลแล้ว ยังเกิดพื้นที่พิพาท 7,250 ตร.กม. ใช้เวลา 7 ปี จึงตกลงกันได้ มาเลเซียเห็นว่ามีบ่อน้ำมันกลางพื้นที่ หากแบ่งเส้นกึ่งกลางจะเกิดปัญหาจึงเสนอการพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกันในปี 2523 2. ไทยและเวียดนาม ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายสากลแล้ว มีพื้นที่ทับซ้อนกันกลางอ่าวไทย เนื้อที่ 6,000 ตร.กม. ได้ตกลงเมื่อ 9 ส.ค.2540 กินเวลา 6 ปี เลือกวิธีแบ่งเขตทางทะเล เพราะมุ่งหมายแก้ปัญหาการทำประมงและโจรสลัด ไทยได้เนื้อที่ 67.75% ส่วนเวียดนามได้ 32.25% ผลสําเร็จเกิดขึ้นบนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ 3. ไทยและกัมพูชามีการเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเล ปี 2513 โดยไทยยึดมั่นตามอนุสัญญาเจนีวา 1958 ระหว่างเจรจา ฝ่ายกัมพูชาก็ประกาศเส้นเขตแดนในปี 2515 โดยมิได้เป็นไปตามกฎหมายสากล เพื่อรักษาสิทธิฝ่ายไทยจึงมีประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยฝั่งอ่าวไทย ปี 2516 ทำให้เห็นว่า เส้นที่ฝ่ายกัมพูชาประกาศไปนั้น เป็นการล่วงล้ำพระราชอาณาเขต ทำให้การเจรจายุติลง แต่เพียงสองเดือนของรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ในปี 2544 รัฐบาลได้นำเรื่องนี้ขึ้นมาอย่างเร่งรีบ โดยเริ่มเจรจา 21 เม.ย.2544 และตกลงเซ็นต์ MOU44 ในวันที่ 4 มิ.ย.2544 รวมเวลาเจรจา 44 วัน โดยไทยเปลี่ยนท่าทีจากเดิม คือไม่รักษาสิทธิอันพึงมีของไทยตามกฎหมายสากล กลับยอมรับเส้นของกัมพูชาขีดทับอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยเป็นครั้งแรก จนเกิดพื้นที่ทับซ้อนที่ใหญ่โตมากถึง 26,000 ตร.กม. ทั้งที่ พื้นที่นี้ เดิมทีไม่มีกฎหมายรับรอง
“รัฐบาลอ้างการการพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกันบดบังสาระสำคัญที่ไทยเปลี่ยนสถานะจากผู้ที่เป็นฝ่ายถูกเพราะยึดมั่นในกฎหมายสากล กลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบทันที เพราะเปิดโอกาสให้กัมพูชานำพื้นที่ที่ได้มาโดยไม่มีกฎหมายสากลรับรองเข้ามาเจรจาได้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีไทย-มาเลเซียอย่างชัดเจน พรรคพลังประชารัฐ จึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิก MOU44 โดยเร็วที่สุด เนื่องจากแผนที่แนบท้าย MOU44 เขตของกัมพูชา ได้รวมเอาน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด เกาะกูด และทะเลอาณาเขตของไทยเข้าไปด้วย ทำให้ไทยตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและมีโอกาสเสียดินแดน เช่นเดียวกับเขาพระวิหาร คล้ายกับกรณีฝรั่งเศสที่เข้ายึดพื้นที่ของสยามเพื่อเป็นตัวประกันในการเจรจาต่อรอง” ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว