“นพดล”แจงเอ็มโอยู44ยันเนื้อหาเป็นประโยชน์ต่อการเจรจา วอนอย่าใช้วาทกรรมเสียดินแดนจนทำให้เกิดความเสียหายเช่นในอดีต
เมื่อวันที่ 10 พ.ย. นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าหลังการปั่นกระแสเสียเกาะกูดซาลงไป ก็ยังมีการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก เอ็มโอยู 44 แล้วทำเอ็มโอยูใหม่ โดยมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงและกฎหมาย 2 ประเด็นใหญ่ คือ
ประเด็นแรก กล่าวหาว่าเอ็มโอยู 44 ไปยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศ และจะทำให้ไทยเสียสิทธิทางทะเล ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจาก 4 เหตุผลคือ 1)ไม่มีเนื้อหาของเอ็มโอยู 44 ใดๆเลยที่ไปยอมรับเส้นที่กัมพูชาลาก 2) ฝ่ายไทยไม่เคยมีการกระทำหรือพฤติกรรมไปยอมรับเส้นของกัมพูชา 3) ยิ่งกว่านั้น เนื้อหาในข้อ 5 ของเอ็มโอยู 44 ระบุไว้ชัดเจนว่าตราบใดที่ยังไม่มีข้อตกลงเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล ให้ถือว่า เนื้อหาเอ็มโอยู 44 และการเจรจาตาม เอ็มโอยู 44 จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของทั้งไทยและกัมพูชา และ 4) แผนผังแนบท้ายเอ็มโอยูระบุไว้ทั้ง 2 เส้นที่ไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิ์ ถ้าตีความว่าการทำเอ็มโอยูเท่ากับไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา มันก็ต้องตีความในทำนองเดียวกันว่ากัมพูชายอมรับเส้นที่ไทยยึดถือด้วยใช่หรือไม่ ซึ่งกรมสนธิสัญญาและกฎหมายแถลงไปแล้วว่าเอ็มโอยูเป็นเพียงข้อตกลงไปเจรจา ไม่ใช่เป็นการยอมรับเส้นของอีกฝ่าย
ส่วนประเด็นที่สองที่กล่าวหาว่าถ้ารัฐบาลนี้เจรจากับกัมพูชาแล้วขุดน้ำมัน และแก๊สในพื้นที่พัฒนาร่วมมาใช้ก่อน จะทำให้ไทยเสียสิทธิในเขตทางทะเลแน่ เรื่องนี้ทฤษฎีถูก แต่ข้อสันนิษฐานผิด เนื่องจากรัฐบาลและคณะกรรมการเจทีซีจะทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะการเจรจา ก) แบ่งเขตทางทะเล และ ข) พื้นที่พัฒนาร่วมหรือ JDA ต้องทำคู่ผูกติดกันไป แยกจากกันไม่ได้ ตามที่ระบุในข้อ 2 ของ เอ็มโอยู 44 นี่คือข้อดีของเอ็มโอยู แล้วจะเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 ทำไม ทั้งๆที่มันป้องกันความกังวลของคนคัดค้าน มันย้อนแย้ง
นอกจากนั้น ถ้ายกเลิกเอ็มโอยู44 จะมีผลตามมาคือ 1) การประกาศเขตไหล่ทวีปของแต่ละฝ่ายยังคงอยู่ พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน 26,000 ตร.กม.จึงยังคงอยู่ 2) ไทยและกัมพูชาไม่สามารถเข้าไปสำรวจขุดเจาะน้ำมันและแก๊สในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนได้ 3) ทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีความผูกพันที่จะต้องเจรจาเรื่องแบ่งเขตทางทะเลและพัฒนาร่วมควบคู่กันไป ซึ่งไม่เป็นผลดี และ 4) ถ้ายกเลิก ข้อผูกพันให้มีการเจรจาเรื่องแบ่งเขตทางทะเลตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ตามที่ระบุในข้อ 3 ของเอ็มโอยูก็จะสิ้นผล ซึ่งเมื่อไทยไม่ยอมรับเส้นของกัมพูชา นี่คือช่องในการเจรจาให้ได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์
นายนพดล กล่าวต่อว่าในประเด็นเอ็มโอยู 44 นี้ คนที่สงสัยโดยสุจริตก็มี แต่น่าเสียดายที่มีหลายคนที่ในอดีตเคยร่วมสร้างวาทกรรมเสียดินแดนในปี 2551 เพื่อหวังล้มรัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ โดยใช้ความเท็จใส่ร้ายว่าตนซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ทำให้ไทยเสียปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาทั้ง ๆ ที่ไทยยกปราสาทให้กัมพูชาตามคำตัดสินศาลโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 2505 ซึ่งข้อเท็จจริงในปี 2551 คือกัมพูชาเอา 1)ตัวปราสาท และ 2)พื้นที่ทับซ้อนไปขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่รัฐบาลไทยเจรจาจนกัมพูชายอมตัดพื้นที่ทับซ้อนออก และยอมขึ้นทะเบียนมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาทซึ่งเป็นของเขามาเกือบ 50 ปีแล้ว แต่ตนถูกโจมตีใส่ร้ายเท็จและไปฟ้องเอาผิดตน ซึ่งต่อมาในปี 2558 ศาลฎีกาฯก็ได้พิพากษายกฟ้องตนและในคำพิพากษาก็ได้ระบุว่าสิ่งที่ตนทำถูกต้องตามสถานการณ์ ไม่กระทบสิทธิในดินแดนของไทยและไทยจะได้ประโยชน์จากการกระทำของตน ตนจึงไม่อยากเห็นการสร้างวาทกรรมเสียดินแดนอีก เพราะเคยสร้างความเสียหายให้ประเทศเมื่อครั้งจุดประเด็นเรื่องเขาพระวิหารในปี 2551 ซึ่งทำให้มีการปะทะตามแนวชายแดน มีทหารเสียชีวิต และทำให้ในปี 2554 กัมพูชากลับไปยื่นตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 2505 ส่งผลให้ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาเสื่อมทรามลงในเวลานั้น