“ประธานสภาฯ” รับนัด “กมธ.พัฒนาการเมือง“ หารือแก้ไข รธน. 27 พ.ย.นี้ เผย พร้อมบรรจุทุกร่างหากไม่ขัดรธน.- ข้อบังคับ ชี้ดูคร่าวๆร่าง “ปชน.”ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ เพราะแก้รายมาตรา พร้อมนัดวิป 3 ฝ่ายประชุม ต้น ธ.ค.เตรียมความเรียบร้อย-คุ้มค่า
วันที่ 13 พ.ย.2567 เวลา 11.50 น. ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน(ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาฯ ขอเข้าพบในวันที่ 27 พ.ย. เพื่อขอให้ทบทวนบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ตนได้นัดหมายกับกมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ตามร้องขอมาในวันที่ 27 พ.ย.แต่ยังไม่ระบุช่วงเวลาใด และพร้อมเปิดโอกาสอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะอยู่ในกมธ.ใด หากอยู่ในอำนาจหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นประธานสภาฯหรือรองประธานสภาฯ เรายินดีที่จะพบ เพราะจะทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประชาชน
ประธานสภาฯ กล่าวต่อว่า ทราบจากการให้สัมภาษณ์ของนายพริษฐ์ เป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางพรรคประชาชนได้ส่งร่าง มา 7-8 ฉบับ และยังมีร่างของรัฐบาลส่งมาอีก ซึ่งตนยังไม่ได้ตรวจสอบว่ามีจำนวนเท่าใด แต่ร่างไหนที่ส่งมาแล้ว หากไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ เราก็ยินดีจะบรรจุและพิจารณา แต่การพิจารณาจะผ่านหรือไม่ เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา เพราะตามรัฐธรรมนูญต้องมีการประชุมร่วมกัน โดยจะเชิญประชุมร่วม วิป 3 ฝ่าย ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และวุฒิสมาชิก หลังจากที่ได้รับร่างทุกฉบับเรียบร้อยแล้ว ก่อนเปิดสมัยประชุมสภาฯ โดยนัดไว้ในช่วงต้นเดือนธ.ค..เพื่อดูว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีจำนวนกี่ฉบับ และจะใช้ระยะเวลาพิจารณาประชุมกี่วัน เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและคุ้มค่า
เมื่อถามว่า คาดหวังว่าฝ่ายบริหารจะตอบรับเชิญของกมธ.และสนับสนุนเรื่องดังกล่าวอย่างไร หลังจากที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้ตอบรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับว่ากมธ.เชิญใครบ้าง หากไม่มาต้องรายงานถึงผู้บังคับบัญชาสูงสุด เช่น หากเชิญอธิบดีไม่มาต้องรายงานต่อรัฐมนตรี หรือหากเชิญรัฐมนตรีไม่มาต้องรายงานต่อนายกรัฐมนตรี และอาจหารือในที่ประชุมใหญ่ก็ได้ เพื่อขอความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา
“เมื่อเปิดสมัยประชุมสภาฯ จะเหลือเวลาอีก 2 ปีกว่าๆ จะหมดวาระสภาฯยุคนี้ อะไรที่ยังค้างคา เช่น กฎหมายประชามติ กฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งพูดกันว่ามีข้อบกพร่อง และทุกคนอยากแก้ ฝ่ายสภาฯพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ จะให้กฎหมายเหล่านี้มาแก้ไขและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่จะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่การประชุมและการเตรียมพร้อมของพรรคการเมืองทั้งหลาย ดังนั้นจึงต้องพูดคุยกัน หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน สร้างความเข้าใจ ผมว่าอะไรต่างๆ ที่เป็นปัญหาจะลุล่วงไปด้วยดี แต่ถ้าไม่คุยกัน ต่างคนต่างพูดคุยกันคนละทิศคนละทาง อาจเป็นปัญหาที่ไม่เสร็จตามที่ประกาศได้“ประธานสภาฯ กล่าว
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวยืนยันว่า สำหรับสภาฯ ไม่ต้องห่วง พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ จะพบเมื่อใดก็ได้ แต่ทั้งหมดตนไม่อาจทำได้ตามที่ตนต้องการ หรือสิ่งที่ใครเรียกร้อง แต่ต้องดูว่าขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือขัดแย้งต่อคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือผิดกับข้อบังคับหรือไม่ หากดูคร่าวๆตามที่รายงานมา ร่างของพรรคประชาชน พยายามไม่ให้ผิดต่อรัฐธรรมนูญ หรือข้อบังคับ คือการแก้ไขเป็นรายมาตรา แต่ก็ต้องดูในเนื้อหาและรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นอาจจะพิจารณาว่าจะต้องทำประชามติตอนไหน จึงเปนเรื่องจำเป็นที่ต้องมีการหารือกัน