‘ทนายอั๋น บุรีรัมย์’ ยื่น ‘กมธ.ที่ดิน’ สอบปมร้อน ’เขากระโดง‘ โวยแหลกเล่นเกมการเมืองเตะถ่วงยื้อเวลา เมินประชาชน ผลประโยชน์ตกนายทุน ซัดแรง ‘สุริยะ’ เสแสร้ง ทำเป็นขึงขัง แต่ไม่จริงใจ ทุเรศ ข้องใจ ’การรถไฟฯ‘ ทำไม่ไม่ฟ้องขับไล่ เรียกค่าเสียหาย
วันที่ 14 พ.ย.2567 เวลา 15.00 น. ที่รัฐสภา นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือทนายอั๋น บุรีรัมย์ ทนายความ ตัวแทนกลุ่มคนรุ่นใหม่ ประชาธิปไตย บริสุทธิ์ ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่กรรมาธิการในการพิจารณาให้มีตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ และการดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ กรณีเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมถึงให้พิจารณาเรียกผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และกรมที่ดิน มาชี้แจง โดยมีนายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะเลขานุการกมธ.ฯ เป็นตัวแทนมารับหนังสือ
โดยนายภัทรพงศ์ กล่าวว่า ตนในฐานะคนบุรีรัมย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เกิดและโตที่นั่น แต่วันนี้เขากระโดงถูกหน่วยงานรัฐ และเกมการเมืองดึงเตะถ่วงยื้อกันไป กรณีเขากระโดงเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงประมาณปี2462 จนถึงปัจจุบัน ผ่านกระบวนการพิจารณาในชั้นศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ภาค3 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ และศาลจังหวัดอุบลราชธานี พิจารณาหลักฐานทุกอย่าง รวมถึงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ระบุว่า ที่ดินเขากระโดงเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) โดยเฉพาะคำสั่งศาลปกครองเมื่อปี66 ระบุให้กรมที่ดิน และรฟท. มาร่วมกันรังวัดแนวเขต และเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินไป แต่ทางกรมที่ดินกลับไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินทับซ้อนเขากระโดง ทำให้คนไทยช็อคทั้งประเทศ แต่ที่ช็อคมากกว่า คือการเสแสร้งของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม รวมถึงฝ่ายการเมือง พรรคการเมือง โดยเฉพาะสส.พรรคการเมืองไม่ยืนข้างประชาชน กลับเดินวอล์คเอ้าท์ออกจากการประชุมกมธ.การที่ดินฯ วานนี้(13พ.ย.)ที่มีการพิจารณาถึงเรื่องดังกล่าวนายสุริยะ ไม่มีความจริงใจในการปกปักรักษาที่ดินของการรถไฟฯ คือการเตะถ่วงเรื่องเขากระโดงไปยังศาลปกครอง ทั้งที่มีคำพิพากษาศาลปกครองออกมาแล้ว ที่บอกให้ไปว่ากันที่ศาลยุติธรรม
“นายสุริยะทำเป็นขึงขัง มีท่าทีบอกจะไม่ปล่อยแม้แต่ตารางวาเดียว แต่การส่งไปที่ศาลปกครอง คำถามคือ มีประเด็นใหม่หรือไม่ เพราะศาลปกครองตัดสินมาแล้วว่าไม่ยุ่ง ที่ไร้สาระคือหนังสืออธิบดีกรมที่ดิน ฉบับลงวันที่21ต.ค.67 ส่งถึงผู้ว่ารฟท. ที่บอกว่าไม่เพิกถอน ตรงท้ายหนังสือมีการท้าทาย หากการรถไฟฯคิดว่ามีสิทธิดีกว่าก็ไปฟ้องศาล แล้วการรถไฟฯทำไมไม่ไปฟ้องศาลฯ ผมทราบมาว่าการรถไฟฯมี3แนวทาง 1.ฟ้องตระกูลดังในจังหวัดบุรีรัมย์ 2.ฟ้องชาวบ้าน และ3.เตะถ่วงส่งไปยังศาลปกครอง แต่การรถไฟฯเลือกใช้วิธีที่3 ซึ่งไม่ใช่ทางออก ไม่มีความจริง เป็นเรื่องที่กระจอก เพราะที่ดินเขากระโดงศาลจังหวัดบุรีรัมย์ และศาลฎีกาพิพากษา มีการขับไล่ ยกเลิกเพิกถอนโฉนดไปแล้ว ดังนั้นแนวทางที่ทำได้ง่ายสุดคือการไปฟ้องขับไล่ เรียกค่าเสียหาย แต่การรถไฟฯทำไมไม่ทำ นายสุริยะ อย่ามาบอกว่าขึงขัง มันทุเรศ ผมไม่ให้น้ำหนักอธิบดีกรมที่ดิน เนื่องจากในปี2541 กฤษฎีกาวินิจฉัยไว้แล้วว่า ที่ดินแยกเขากระโดงเป็นของการรถไฟฯ เหตุที่มีคำวินิจฉัย เพราะมีผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้นนำมวลชนออกมา ซึ่งเป็นพ่อของอธิบดีกรมที่ดินคนปัจจุบันด้วย นอกจากนี้ในการฟ้องขับไล่จนไปสู่การตัดสินของศาลสูงสุด ทนายความของชาวบ้านที่ไปฟ้องการรถไฟฯ ไม่กี่ปีต่อมาก็มานั่งเป็นที่ปรึกษาบอร์ดของการรถไฟฯ ในสมัยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรี บ้านเมืองนี้เล่นอะไรกันอยู่ เขากระโดงเป็นเพียงเกมการเมืองซื้อเวลา ผลประโยชน์ตกกับนายทุน“ นายภัทรพงศ์ กล่าว