“กมธ.พัฒนาการเมือง” พบ “วันนอร์” ตื้อยื่นแก้รธน. “พริษฐ์” จ่อชง 2 ข้อมูลใหม่ดันร่างแก้ม.256 ทวงสัญญารัฐบาลมีรธน.ใหม่ก่อนลต. แจงไทม์ไลน์ประชามติ 2 ครั้ง แย้มมีโอกาสกลับมติบรรจุร่าง
วันที่ 27 พ.ย.2567 เวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าพบนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เพื่อหารือถึงการผลักดันการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา256 ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้าที่ประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา256 ของพรรคก้าวไกล โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชนก่อนแก้รัฐธรรมนูญ
โดยนายพริษฐ์ เปิดเผยภายหลังเข้าพบว่า สิ่งที่เป็นข้อถกเถียงขณะนี้คือ การทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะเป็น 2หรือ3ครั้ง หากย้อนไปต้นปี2567 พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เคยริเริ่มแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่สภาฯ โดยให้ทำประชามติ 2ครั้ง มีส.ส.ร.มาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ปรากฏว่า คณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่มีเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน ให้ความเห็นต่อประธานรัฐสภา ไม่ให้บรรจุร่างแก้ไขดังกล่าว โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ 3ครั้ง เป็นเหตุให้ประธานรัฐสภา ไม่บรรจุวาระดังกล่าว กลายเป็นความเห็นต่างการตีความ
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ดังนั้นการเข้าพบประธานรัฐสภาในครั้งนี้ ได้นำข้อมูลเพิ่มเติม 2อย่างมายื่นต่อประธานรัฐสภาคือ 1.คำวินิจฉัยส่วนตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9คน ที่มีการระบุชัดเจนว่า ทำประชามติ 2ครั้งก็เพียงพอ 2.ข้อมูลที่กมธ.พัฒนาการเมืองฯเข้าพบประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อเป็นข้อมูลใหม่ในการพิจารณาบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา256 โดยตั้งส.ส.ร. เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง โดยให้คณะกรรมการประสานงาน และเสนอความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปวินิจฉัยอีกครั้งว่า จะต้องทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ 3ครั้งหรือ 2ครั้ง หวังว่า ข้อมูลใหม่ทั้ง 2อย่าง จะเพียงพอให้คณะกรรมการประสานงานฯ วินิจฉัยว่า ทำประชามติแค่ 2 ครั้งก็เพียงพอ
เมื่อถามว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ นายพริษฐ์กล่าวว่า รัฐบาลเคยสัญญากับประชาชนจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป หรือตอนที่พรรคเพื่อไทยฉีกเอ็มโอยูพรรคก้าวไกลช่วงจัดตั้งรัฐบาล ก็ระบุว่า จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง แล้วจะยุบสภาฯ คืนอำนาจให้ประชาชน ฉะนั้นเห็นชัดว่า รัฐบาลได้สัญญาจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนเลือกตั้งครั้งถัดไป แต่หากรัฐบาลยังเดินตามแผนเดิมให้ทำประชามติ 3ครั้ง โอกาสที่จะมีรัฐธรรมนูญก่อนเลือกตั้งครั้งหน้า จะเป็นจริงน้อยมาก หนทางเดียวที่จะทำให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นจริงได้คือ ลดการทำประชามติจาก 3 ครั้งเหลือ 2ครั้ง หากเดินตามแผนเดิม โอกาสเสร็จทันก็น้อย สิ่งที่อยากเห็นคือ ความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะรักษาสัญญากับประชาชน เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลและพรรคประชาชนเห็นพ้องกัน จึงอยากเห็นรัฐบาลมาร่วมมือ และมุ่งมั่นทำเรื่องนี้ด้วยกัน
เมื่อถามว่า จะคุยกับแกนนำพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตอนออกหนังสือขอเข้าพบนั้น ออกพร้อมกัน 3ฉบับคือประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรี แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี เป็นเจตนารมณ์ของเราอยู่แล้วที่อยากเข้าพบฝ่ายบริหาร ซึ่งเหลือเพียงคำตอบของฝ่ายบริหารว่าจะให้เราเข้าพบเมื่อไหร่
เมื่อถามว่า หากทำประชามติ 2 ครั้ง ประเมินว่าจะได้เห็น ส.ส.ร.ใหม่ทันปี 2568 หรือไม่ นายพริษฐ์ตอบว่า หากมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตั้งส.ส.ร. และคณะกรรมการประสานงานฯ ตัดสินใจบรรจุวาระในรอบนี้ ก็จะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 1 ได้ทันที ในการเปิดสมัยประชุมสภาเดือนธ.ค. ก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะผ่าน 3วาระ ภายใน 3-6 เดือน หากเป็นเช่นนั้น ประชามติรอบแรกจะเกิดขึ้นหลังผ่านวาระ3 อาจเป็นช่วงหลังปี2568 เมื่อประชามติผ่านแล้วจะต้องมีกระบวนการเลือกตั้งส.ส.ร. หากทำทุกอย่างเสร็จได้ภายในปี2568 ส.ส.ร.จะมีเวลาปี2569 จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และทำให้สามารถนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปทำประชามติรอบ2 ได้ช่วงต้นปี 2570 ก็จะเสร็จทันก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไป วันนี้อยากให้มีการทบทวนการตัดสินใจเรื่องการบรรจุวาระแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา256 ใหม่ จึงจำเป็นต้องยื่นร่างเดิมเข้าไปอีกครั้ง ให้คณะกรรมการประสานงานฯมีข้อมูลใหม่ประกอบการพิจารณา
ด้านว่าที่ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในฐานะประธานกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อได้ข้อมูลใหม่ที่กมธ.พัฒนาการเมืองฯยื่นต่อประธานรัฐสภาแล้ว จะนำไปประกอบคำวินิจฉัย เพื่อพิจารณาว่า คณะกรรมการประสานงานฯจะกลับมติที่เคยให้ความเห็นไม่บรรจุวาระการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา256 โดยการตั้งสสร.มายกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามที่พรรคก้าวไกลในขณะนั้นยื่นร่างเข้ามา คณะกรรมการประสานงานฯอาจเรียกนายพริษฐ์ มาให้ข้อมูลเพื่อพิจารณาทบทวนความเห็น แม้คำวินิจฉัยที่เป็นความเห็นของตุลาการรัฐธรรมนูญรายบุคคล
“จะไม่มีผลทางกฎหมายเหมือนคำวินิจฉัยกลางศาลรัฐธรรมนูญ แต่อาจนำมาใช้พิจารณาประกอบแนวทางคำวินิจฉัยกลางศาลรัฐธรรมนูญว่า จะต้องทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ 2หรือ3ครั้ง ก็มีโอกาสที่คณะกรรมการประสานงานฯจะกลับมติก่อนหน้านี้ได้ ถ้าข้อมูลใหม่ช่วยให้คำวินิจฉัยกลางมีความกระจ่างมากขึ้น เพราะเรายึดคำวินิจฉัยกลางเป็นหลัก และใช้คำวินิจฉัยส่วนบุคคลมาประกอบ”เลขาธิการสภา กล่าว