“กมธ.พัฒนาการเมืองฯ” หารือ กกต. ทบทวนวันเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศเป็นวันอาทิตย์ที่ 2 ก.พ. อำนวยความสะดวกกลุ่มปชช.ติดงาน-เดินทางมาใช้สิทธิ์ พร้อมแนะแก้กฎหมายท้องถิ่นล็อควาระกันนายก อบจ.เลือกใหม่อยู่ได้ปีเดียว ประหยัดงบ-เพิ่มแนวโน้มเลือกตั้ง อบจ.ได้พร้อมก
วันที่ 28 พ.ย.2567 ที่กกต. นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าหารือกับ เลขาธิการ กกต.และผู้บริหารสำนักงาน กกต. ว่า ประเด็นหลักที่พูดคุยกัน คือการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งก็แยกออกมา 2 ประเด็น คือประเด็นแรกเป็นเรื่องเฉพาะหน้า และประเด็นที่สองการแก้ไขหรือปรับปรุงพ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อให้มีกติกาที่มีประสิทธิภาพ และเปิดกว้างการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น
ประเด็นแรกเป็นเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทั้งนายก อบจ. และสมาชิก อบจ.ที่จะหมดวาระ ตามที่เราทราบ กกต.ได้กำหนดเลือกตั้งทั่วประเทศเป็นวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.68 โดยก่อนหน้านี้ตนเองก็เคยตั้งข้อสังเกตว่าทำไมต้องเลือกตั้งวันเสาร์ เพราะเห็นว่าถ้าเรายึดเอาประโยชน์ของประชาชนวันอาทิตย์น่าจะสะดวกกว่า อย่างที่ทราบผู้มีสิทธิ์เป็นทั้งพนักงานในโรงงาน ที่มีแนวโน้มจะทำงานวันเสาร์มากกว่าวันอาทิตย์ รวมถึงบางคนอาจจะทำงานในจังหวัดที่แตกต่างจากจังหวัดที่ตนเองมีสิทธิ์ เขาอาจจะต้องการเวลาในวันเสาร์เพื่อเดินทางกลับมาใช้สิทธิ์ อีกทั้งเมื่อเราย้อนกลับไปดูทุกการเลือกตั้งจะเห็นว่า กกต. กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันอาทิตย์ทั้งนั้น
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ทาง กกต.เองได้ให้คำตอบว่าที่เลือกวันเสาร์นั้นเพราะกลัวเสี่ยงต่อข้อกฎหมายกรอบเวลา 45 วัน ที่วันอาทิตย์ที่ 2 ก.พ. ครบกรอบ 45 วันพอดี ซึ่งตนมองว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร เพราะกฎหมายกำหนดกรอบ 45 วัน ก็สามารถจัดวันที่ 45 ได้ ในวันที่ 2 ก.พ. แต่เพื่อจะช่วย กกต.ให้คลายข้อกังวล เราก็ได้ออกหนังสือถามความเห็นเชิงกฎหมายไปยังสำนักกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็ได้คำตอบว่า สามารถจัดได้ วันนี้เราจึงมาเสนอให้เลขาธิการ กกต.ได้นำเรื่องดังกล่าวนี้ไปทบทวนเรื่องของวันเลือกตั้ง อบจ.
ส่วนเรื่องของแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นที่ทาง กมธ.พัฒนาการการเมืองฯ เราทำมาอย่างต่อเนื่อง วันนี้จึงได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกับ กกต. โดยมี 2 ประเด็นที่เราแลกเปลี่ยนกัน คือ ประเด็นที่ 1 เรื่องปัญหาที่ผู้บริหารท้องถิ่นได้ลาออกก่อนหมดวาระเลยทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นในจังหวัดหนึ่งๆ ต้องเกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง ซึ่งกกต.ได้บอกว่าต้องใช้งบประมาณมากและผู้มาใช้สิทธิ์ก็ลดลง ซึ่งเราเสนอไปว่าถ้าอยากให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นพร้อมๆกันมีแนวทางคือให้กำหนดวาระที่ล็อคไว้เลย เช่น เมื่อได้รับเลือกมาเป็นนายก อบจ.วาระ 4 ปี ผ่านไป 3 ปีแล้วมีการลาออกก็จะมีการเลือกตั้งใหม่ แต่คนใหม่ที่ได้รับเลือกมาก็จะมีวาระงานเพียง 1 ปีที่เหลือ หรือถ้าไม่อยากให้มีการเลือกตั้งระหว่างวาระ ก็ให้ระบุไว้เลยว่าใครคือรองนายก อบจ.คนที่ 1 หรือ 2 ที่จะขึ้นมาทำหน้าที่แทน
“หากนายก อบจ.ออกจากตำแหน่ง ไม่ว่าจะกรณี ลาออก เสียชีวิต หรือให้พ้นจากตำแหน่ง ก็เป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เกิดขึ้นพร้อมกัน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนมาใช้สิทธิ์ และตัวของ กกต.เองที่จะช่วยประหยัดงบประมาณบางส่วน ส่วนประเด็นที่สอง การขยายสิทธิ์ให้ประชาชนในการเลือกตั้ง เช่น สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในและนอกเขต นอกราชอาณาจักรที่อาจจะพิจารณาให้มีการเลือกทางไปรษณีย์”นายพริษฐ์ กล่าว
เมื่อถามว่า การกำหนดวันที่ต้องไปทบทวนใหม่นั้นต้องให้ กกต.ใช้เวลาเท่าไหร่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตอนนี้กรอบเวลายังทันอยู่ ตราบใดที่วาระของ อบจ.ยังไม่หมด ซึ่งจะหมดลงวันที่ 19 ธ.ค.67 เราได้เสนอไปว่าถ้าทาง กกต.พอใจแล้วกับคำตอบของสำนักงานกฎหมาย สภา ก็สามารถทบทวนได้เลย แต่ถ้าต้องการความเห็นเพิ่มเติมให้ทำเรื่องสอบถามไปยังกฤษฎีกา ทำเช่นนี้จะทำให้ทาง กกต.สะดวกและสบายใจมากขึ้นในการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 2 ก.พ.68
เมื่อถามว่า สุดท้ายแล้วถ้ายังใช้วันที่ 1 ก.พ.เลือกตั้งอยู่ จะมีผลกระทบอย่างไร นายพริษฐ์ กล่าวว่า ในฐานะ กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ก็เชื่อว่าอาจจะกระทบกับประชาชนบางกลุ่มที่จะต้องมาใช้สิทธิ์ในวันเสาร์ แต่ท้ายที่สุดก็เป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะหาทางออกให้กับคนกลุ่มนั้นเพื่อรักษาสิทธิ์ของเขาไว้ ส่วนในนามพรรคประชาชนเราในฐานะผู้สมัครพรรคหนึ่งเราคงต้องพร้อมแข่งขันกับทุกกติกา พรรคเราจะทำอย่างเต็มที่ในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเปิดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต นอกราชอาณาจักรได้
เมื่อถามว่ามองหรือไม่ว่าคนอาจจะมองว่าเป็นการแก้กฎหมายเอื้อประโยชน์ให้พรรคประชาชนเอง เพราะตลอดมาพรรคเองได้ย้ำว่าปัจจัยในการเลือกตั้ง คือคนมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกเขต นอกราชอาณาจักร นายพริษฐ์ กล่าวว่า ในฐานะกมธ.พัฒนาการเมืองฯ เราให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ดังนั้นเราได้เจาะจงแค่การเลือกตั้งล่วงหน้า แต่เรามองถึงทุกความเป็นไปได้พยายามให้ประชาชนมีความสะดวกในการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ดังนั้นเราไม่ได้กังวลถึงการจะมองแบบนั้น ส่วนในนามพรรคประชาชนก็ขอว่าอย่าไปคิดแทนประชาชน ว่าผู้ที่เลือกตั้งล่วงหน้าเขาจะเลือกผู้สมัครคนไหนเลย