กมธ.ทหาร” กัดไม่ปล่อยขุดคุ้ยสอบค่ายทหารสร้างผิดที่ ประชดโดนอาถรรพ์ต้องระเห็จออกมา “วิโรจน์” ติดใจจ่อขอภาพถ่ายทางอากาศพิสูจน์บ่อหิน เหตุจุดสร้างเดิมเป็นบ่อหินทางรถไฟ เตรียมส่งข้อมูล “ปปช.-ผู้ตรวจการฯ” ค้นหาความจริง ลั่น “มนต์ดำ-คุณไสย” สู้ความถูกต้องไม่ได้
วันที่ 28 พ.ย.2567 เวลา 13.40 น. ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมกรณีการสร้างค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก หรือ ร. 23 พัน 4 โดยหลีกเลี่ยงพื้นที่เขากระโดงว่า มีประชาชนร้องเรียนว่าค่ายดังกล่าวไม่ได้สร้างในพื้นที่ที่ขออนุญาต และปรากฎว่าที่ตั้งของค่ายดังกล่าวในปัจจุบัน มีสนามกอล์ฟเขากระโดงด้วย จึงมีข้อสงสัยว่าไม่ได้สร้างในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต แต่กลับมาสร้างในพื้นที่อีกแปลงหนึ่งที่ห่างออกไปประมาณ 2 กม. ซึ่งประเด็นสำคัญคือทำไมค่ายหทารจึงไม่ไปตั้งในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต ซึ่งที่ได้รับอนุญาตคือ น.ส.ล.4130 ประมาณ 400 ไร่ ปรากฏว่าในนสล.4130 มีที่อีก 1 แปลงคือ 24 ไร่เศษ ซึ่งมีการฟ้องร้องกัน โดยผู้ครอบครองพื้นที่ฟ้องร้องการรถไฟ แต่การรถไฟฟ้องแย้งและสู้คดี 5 ปี จนมีคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาดว่าที่แปลงนั้นเป็นที่การรถไฟ โดยปัจจุบันผู้ที่ฟ้องการรถไฟก็ชำระค่าปรับและออกจากพื้นที่นั้นแล้ว
นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญที่จะมีการซักถามในที่ประชุมกมธ.คือ พื้นที่ 400 ไร่ดังกล่าวจริงๆ แล้วควรเป็น ค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก แล้วทำไมจึงไม่เป็นค่ายทหาร ทำไมค่ายทหารจึงต้องหนีห่างออกมา 2 กม.เศษ จนต้องไปฟ้องขับไล่ราษฎร เมื่อปี 2524 ซึ่งประชาชนมีความรู้สึกว่าหากจะนำพื้นที่เป็นค่ายทหารก็สามารใช้ได้ แต่กลับมีสนามกอล์ฟเขากระโดงขึ้นมา โดยสนามกอล์ฟดังกล่าวเพิ่งจะเข้าสู่ระบบทะเบียนเมื่อปี 2566 จึงถูกตั้งคำถามในเรื่องของการบริหารเงินนอกงบประมาณ
“วันนี้จึงต้องสืบหาข้อเท็จจริงว่าค่ายทหารสร้างถูกที่หรือไม่ และถ้าสร้างไม่ถูกที่ทำไมต้องหลบออกมา ทำไมไม่ไปสร้างที่เขากระโดง หรือเป็นพื้นที่ร้อน หรือมีใครลงอาถรรพ์หรืออย่างไร”นายวิโรจน์ กล่าว
เมื่อถามว่าสนามกอล์ฟที่เขากระโดงใครเป็นผู้บริหารหรือเป็นของกองทัพ นายวิโรจน์ กล่าวว่า สนามกอล์ฟเป็นของมณฑลทหารบกที่ 26 หรือ มทบ.26 ซึ่งเป็นการบริหารจัดการและเป็นธุรกิจของกองทัพเพื่อสวัสดิการกองทัพ ส่วนที่กองทัพยอมถอย เราต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนว่าค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกสร้างถูกที่หรือไม่ จากที่ขออนุญาตหนังสือสำคัญที่หลวง น.ส.ล.4130/2515 แต่ทำไมไปสร้างในที่ น.ส.ล. ที่บร.3239 ซึ่งเพิ่งขอในปี 2543 และได้รับอนุญาต หนังสือออกเมื่อปี 2544 และหนังสืออนุญาตจากผู้ว่าบุรีรัมย์ในขณะนั้นให้สร้างในพื้นที่ น.ส.ล.4130/2515 คำถามคือตกลงแล้วสร้างที่ไหนกันแน่ และถ้าสร้างผิดที่จะเอาอย่างไร ก็จะเป็นกรณีที่ทางรถไฟเคยฟ้องกรมทางหลวงว่ามีการสร้างถนนทางหลวง สายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ที่ส่วนหนึ่งเข้าไปที่ของการรถไฟ ทำให้ต้องมีการเสียค่าเช่าย้อนหลังกัน
เมื่อถามว่า มีการเชื่อมโยงกับคนตระกูลใหญ่ในบุรีรัมย์ที่เป็นข่าวในขณะนี้หรือไม่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า เรื่องที่มาของที่ดินก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องนี้ก็คงต้องเชื่อมกับคนตระกูลใหญ่ แต่เราอย่าเพิ่งไปกล่าวหาใคร เพราะการได้ที่ดินมาเมื่อ 40 ปีก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นส.ค. 1 แล้วเอาไปออกโฉนด ซึ่งการออกโฉนดอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ เราอย่าเพิ่งไปกล่าวหาว่าเป็นเจตนาทุจริต หรือสุจริตอะไร แต่เบื้องต้นเราต้องตรวจสอบก่อนว่าค่ายทหารสร้างถูกที่หรือไม่ เพราะจริงๆแล้วในสมัยก่อนการปักหมุดที่ดินไม่ยากอะไร ถ้าผิดจริงก็ตกใจเหมือนกันเพราะอนุญาตให้สร้างแปลงนี้ แต่กลับมาสร้างอีกแปลงหนึ่ง
“เกิดอะไรขึ้น หรือมีโหรไปดูแล้วมีเหตุการณ์อะไรหรือไม่ จึงต้องระเห็จออกมาสร้างอีกที่หนึ่ง หรือที่ร้อนหรือไม่ วันนี้รู้กันสุดท้ายความจริงต้องปรากฎเวทมนต์ คุณไสยใดๆที่สร้างหมอกบังตา สร้างแดนสนทยาขึ้นมา สุดท้ายแพ้แสงตะวันอยู่แล้ว ถึงแม้จะไม่สว่างวันนี้ก็สว่างวันหน้า ผมหวังว่ากมธ.ทหารจะมีความขลังที่จะคลี่คลาย ฝุ่นควัน แดนสนธยาในพื้นที่นี้ ถ้าสายสิญจน์ที่วันนี้เราขึงไม่พอ ก็ต้องไปสู้กันต่อไป สักวันเวทมนตร์ มนต์ดำ คุณไสย สู้ความถูกต้องไม่ได้หรอก “ นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ในการพิจารณาของกมธ.วันนี้เราพยายามหาข้อสรุปให้ได้มากที่สุด ถ้ายังไม่ได้ข้อสรุปอย่างไร คิดว่าคงต้องได้เบาะแส และข้อเท็จจริงบางอย่าง ซึ่งกมธ.ทหารตั้งใจว่าอาจจะส่งเบาะแสไปต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน แสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม แลT คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ให้จับตาในกรณีนี้ว่าจะมีหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ทั้งการรถไฟ และกรมที่ดิน อาจจะมีพฤติกรรมและพฤติการณ์เข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เพราะค่ายทหารต้องอยู่ที่ น.ส.ล.4130/2515 หากไปอยู่ที่อื่นถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะพื้นที่ตรงนี้มีการสงวนไว้เป็นบ่อหินใกล้รางรถไฟ แต่ค่ายดังกล่าวในปัจจุบันกลับไปสร้างในอีกที่หนึ่ง ซึ่งไม่มีบ่อหิน ดังนั้น จึงต้องขอภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหารให้ช่วยชี้บ่อหินว่า น.ส.ล. ที่บร.3239 มีบ่อหินตรงไหน