วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
spot_imgspot_img
หน้าแรกHighlight‘น้องกลับแบบพี่’ระวังกระชากอารมณ์คน ‘ตู่’เตือน‘อิ๊งค์’ถ้ามั่นใจMOU44 ก็ทำเลย
spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘น้องกลับแบบพี่’ระวังกระชากอารมณ์คน ‘ตู่’เตือน‘อิ๊งค์’ถ้ามั่นใจMOU44 ก็ทำเลย

“จตุพร” เตือน “รัฐบาลอิ๊งค์” ถ้ามั่นใจเรื่อง MOU 44 ก็แบ่งผลประโยชน์ 50:50 เลย เอาตามที่ลูกพี่สบายใจ แล้วจะได้วัดกันว่า ม็อบต้านจุดติดหรือไม่ ส่วนกรณี “กิตติรัตน์” วืดเข้า ครม. เชื่อรัฐบาลลังเล หวั่นเป็นปัญหาหัวเชื้อคนค้านขย่ม ชี้กรณี “ยิ่งลักษณ์” หากคิดกลับไทย ถ้าไม่รอบคอบ จะยิ่งทำให้ “อารมณ์คนไทย” พลุกพล่านระอุขึ้น

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ตั้งคณะกรรมการร่วมเจทีซี (JTC) เพื่อเจรจาปักปันเขตแดนในพื้นที่อ้างสิทธิ และ รมว.คลังไม่เสนอชื่อ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ให้ ครม อนุมัติเห็นชอบเป็นประธานบอร์ดแบ่งชาติ แสดงถึงอาการลังเล คงหวั่นจะเกิดปัญหาแรงต้าน จึงยากจะทำตามในสิ่งที่ต้องการผลประโยชน์เอาแต่ได้

ส่วนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ได้รับพักโทษคดีจำนำข้าวนั้น กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ ต้องมีบรรทัดฐานให้สิทธิพักโทษเสมอภาคกัน ซึ่งข้อเท็จจริงที่ผ่านมา ไม่เสมอภาค เพราะบางคดี กำหนดให้ผ่านฝึกอบรม แต่กรมราชทัณฑ์ไม่จัดฝึกอบรม จึงไม่เข้าเงื่อนไขการพักโทษ จนมีผู้ต้องขังติดค้างอยู่ในคุกจำนวนมาก

กรณีนายบุญทรง ได้พักโทษเร็ว เป็นเพราะระเบียบราชทัณฑ์แต่ละช่วง ไม่เหมือนกัน นายบุญทรงเข้าคุก ขณะกรมราชทัณฑ์ใช้ระเบียบเก่า จึงมีสิทธิได้รับพระราชทานอภัยโทษทุกปี ส่วนระเบียบใหม่ กำหนดได้รับพระราชทานอภัยโทษทั่วไป ต้องติดคุก 1 ใน 3 ของโทษก่อน หรือในคดีที่มีโทษมากต้องติดคุก 8 ปี

นายบุญทรงกับนายวัฒนา เมืองสุข มีชะตากรรมแตกต่างกัน โดยนายวัฒนา มีโทษจำคุก 50 ปี มากกว่านายบุญทรง 2 ปี แต่นายวัฒนาเข้าคุกหลังจากกรมราชทัณฑ์ประกาศระเบียบกำหนดการได้รับอภัยโทษทั่วไปใหม่แล้ว จึงต้องติดคุกอย่างน้อย 8 ปีก่อน จึงจะเข้าเงื่อนไขมีสิทธิได้รับพระราชทานอภัยโทษทั่วไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อนายบุญทรงรับโทษถึง 2 ใน 3 แล้ว และเหลือโทษอีก 3 ปี 5 เดือน จึงได้รับพิจารณาพักโทษ โดยมีคณะกรรมการพิจารณา แต่ที่น่าสนใจคือ หลังจากนี้นายบุญทรงจะวางตัวอย่างไรในช่วงถูกติดกำไรขา คุมความประพฤติ และจะแสดงความคิดเห็นอะไรได้บ้างหรือไม่

แม้การได้รับอิสรภาพของนายบุญทรงเป็นเรื่องน่ายินดี แต่สื่อมวลชนรุกถามการพักโทษจะเกี่ยวข้องกับการกลับหรือไม่กลับของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือไม่ จึงน่าจับตาดูท่าทีของนายบุญทรง จากนี้จะทำอย่างไร และต้องคิดมาก ถ้าผิดเงื่อนไขพักโทษ ต้องถูกนำตัวกลับไปอยู่เรือนจำตามเดิม ดังนั้น ต้องใช้ชีวิตที่เหลือช่วงพักโทษอย่างระมัดระวัง

นายจตุพร กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์สามารถกลับมาไทยได้ทุกเมื่อ เพียงแต่จะเลือกแนวทางอย่างไร ถ้าเลือกเข้าคุกแล้วขอพระราชทานอภัยโทษ เป็นการ “เฉพาะราย” ก็ได้ แต่หากเลือกเส้นทางไม่ต้องติดคุกสักวัน เหมือนอย่างนายทักษิณ ชินวัตร พี่ชายแล้ว จะกระชากอารมณ์ไม่พอใจของคนไทย ให้ระอุพลุกพล่านยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้คงต้องคิดหนัก

ส่วน ครม.ยังไม่อนุมัติเห็นชอบให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาตินั้น นายจตุพร กล่าวว่า แม้ความเห็นของกฤษฎีการะบุคุณสมบัติไม่เข้าข่ายข้าราชการการเมือง แต่ไม่ได้หมายความว่า จะใช้อ้างในศาลรัฐธรรมนูญ และจะชนะทุกกรณีไป โดยสมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ความเห็นกฤษฎีกา ยังแพ้ทุกคดี ดังนั้น ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ เป็นข้าราชการการเมืองหรือไม่ ยังไม่เป็นที่ยุติชัดเจน

นายจตุพร กล่าวว่า ถ้าทุกอย่างง่ายดาย บัดนี้การแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ ต้องเรียบร้อยมาตั้งแต่การประชุม ครม.สัญจรที่เชียงใหม่แล้ว และการประชุม ครม.ที่กรุงเทพวันที่ 3 ธ.ค. ยังไม่อนุมัติเห็นชอบอีก จึงสะท้อนว่า การแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไม่ง่ายเลย เพราะฝ่ายคัดค้านเป็นระดับตัวเป้ง มีความพร้อมที่จะสอยให้พ้นตำแหน่งได้เหมือนกัน

นายจตุพร ยังกล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการร่วมเจทีซี เพื่อเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิระหว่างไทยกับกัมพูชาว่า เรื่องนี้เป็นของร้อนและคนที่ประชาชนเชื่อมั่นก็ไม่อยากเป็น เพราะเหมือนกับการเอามือซุกหีบและสุ่มเสี่ยงถ้าเกิดอะไรผิดพลาดขึ้นมา ส่วน MOU 44 นั้น ฝ่ายคัดค้านให้ข้อเท็จจริงอย่างมีระบบ แต่ฝ่ายรัฐไม่เคยชี้แจงอย่างเป็นระบบเลย ดังนั้น ถ้าตั้งเจทีซี ขึ้นมาแล้วจะทำตามเป้าหมายอะไร จะเดินตามทางของนายทักษิณ ต้องการให้แบ่งผลประโยชน์ 50:50 หรือ จะเอาตามนายกฯอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร กำหนดว่า “เธอกับฉันตกลงกันไม่ได้ ก็แบ่งผลประโยชน์กัน”

“ถ้าเจทีซี ได้รับโจทย์อย่างนี้แล้ว สถานการณ์ข้างหน้าคืออะไร ดังนั้น ถ้าตราบใดไม่ยึดเจรจาดินแดนทั้งบนบกและทะเลก่อน แต่มุ่งไปตกลงเรื่องผลประโยชน์พลังงานเป็นจุดหมายหลัก ซึ่งพลังงานเป็นสัมปทานของเชฟรอน โดยประชาชนได้แต่ค่าภาคหลวง อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลไม่พูดถึงสัมปทานของเชฟรอนเลย”นายจตุพร กล่าวและว่า ถ้ารัฐบาลเดินไปตามธง ปักกำหนดเรื่องตกลงผลประโยชน์ก่อนก็ตาม แต่ปัญหาคือ สามารถทำได้จริงหรือไม่ เพราะจะสุ่มเสี่ยงกับกฎหมายปิดปากถูกนำมาอ้างสิทธิเขตแดน เมื่อกฎหมายแบ่งกันครึ่งๆ ได้ ดินแดนย่อมถูกแบ่งครึ่งๆ ด้วยเช่นกันหรือไม่

นายจตุพร กล่าวย้ำว่า MOU 44 จะเป็นช่องทางให้เกิดความสุ่มเสี่ยงเสียดินแดนทั้งทางบกและทะเล เมื่อประชาชนต้องออกมาคัดค้าน แต่รัฐบาลขู่จะถูกทหารยึดอำนาจ ดังนั้น ใครควรหยุดก่อนกัน เพื่อป้องกันทหารยึดอำนาจ สำหรับประชาชนคัดค้านเพราะกลัวเสียดินแดน ส่วนรัฐบาลอยากเดินหน้าเพื่อต้องการแบ่งประโยชน์ 50:50 อีกอย่างรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา ทั้งยุคทักษิณและยิ่งลักษณ์ ยังไม่กล้าเจรจาในเรื่องนี้กับกัมพูชา แล้วทำไมความกล้าจึงมาอยู่ในยุคของนายกฯอุ๊งอิ๊ง ดังนั้นรัฐบาลต้องหยุดการกระทำก่อนเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

นายจตุพร ยังเชื่อว่า กรณี MOU 44 จะเป็นชนวนเบื้องต้น ให้เสียงคัดค้านรวมตัวกัน จากนั้นยังมีเรื่องตั้งบ่อน ขนส่งทางราง ที่ให้ที่ดินสองข้างทางเป็นของสัมปทานเอกชน รวมทั้งดิจิทัลวอลเล็ต และแลนด์บริดจ์ จะเป็นปัญหาใหญ่ประเดประดังเข้าใส่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่หยุดหย่อน ถึงที่สุดเชื่อว่า การแบ่งผลประโยชน์กับกัมพูชานั้น รัฐบาลเพื่อไทยจะพยายามทำให้ได้ เพราะเป็นผลประโยชน์ก้อนโตที่มองเห็นอยู่ข้างหน้า ดังนั้น ถ้ารัฐมีความมั่นใจก็ทำเลย หรือจะทดสอบความรักชาติของประชาชนก็ได้ เอาเลย รีบทำเลย อย่าลังเล

“เมื่อแบ่งประโยชน์เหนืออื่นใดกันแล้ว ราคาน้ำมัน ก๊าซ ค่าไฟฟ้าล้วนยังแพงอยู่เหมือนเดิม ประชาชนไม่ได้รู้สึกมีผลประโยชน์ร่วมด้วยเลย แต่เชฟรอนกลับครอบครองผลประโยชน์ฝ่ายเดียว ดังนั้น ถ้ารัฐบาลเพื่อไทยยังมีความเชื่อมั่นมากๆ ก็ทำเลย หากเชื่อว่าประชาชนไม่รู้สึกรู้สาอะไร ม็อบจุดไม่ติดแล้ว ถ้ากล้าก็เอาเลย แล้วก็วัดกัน เอาตามสบายเลย ลูกพี่ว่ามาเลย” นายจตุพร กล่าว พร้อมย้ำว่า รัฐบาลต้องเจรจาปักปันเขตแดนให้เรียบร้อย และจนสองประเทศพึงพอใจ ส่วนไทยขณะเจรจาก็รื้อสัญญา 52 ปี ที่มอบสัมปทานให้เชฟรอนมาตรวจสอบและพิจารณาใหม่ เพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์มากว่าบริษัทต่างชาติกอบโกยเอาไป สิ่งสำคัญรัฐบาลไม่พูดถึงกรณีสัมปทานเชฟรอนเลย น่าเป็นพิรุธอย่างมาก

ประเทศไทยต้องมาก่อน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img