มติ“รัฐสภา” รับหลักการร่าง “ปราบทุจริต” ฉบับ“ครม.-วิโรจน์” ขณะที่ “สว.” เสียงแตก หนุน-ค้าน โยก คดีทุจริตกองทัพให้ศาลทุจริต “วันนอร์” แจ้งนัดประชุม 2 วัน 14-15 ม.ค.68 แก้ไขรัฐธรรมนูญ เหตุบรรจุวาระไว้แล้ว
วันที่ 20 ธ.ค.2567 เวลา 12.00 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา และรองประธานรัฐสภา เป้นประธารการประชุม มีวาระพิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่…) พ.ศ… ซึ่งเสนอโดย คณะรัฐมนตรี (ครม.) และฉบับที่เสนอโดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ทั้งนี้ที่ประชุมได้รวมการพิจารณาไปในคราวเดียวกัน แต่แยกลงมติแต่ละฉบับ
สำหรับสารสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับแก้ไข ที่เสนอโดย ครม. นั้น เป็นการเพิ่มเนื้อหาสาระว่าด้วยการกำหนดบทคุ้มครองผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลแก่ หรือแสดงความเห็นต่อป.ป.ช. เกี่ยวกับการทำผิดที่อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของ ป.ป.ช. ไม่ให้รับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย รวมถึงกำหนดมาตรการช่วยเหลือบุคคลที่ให้ข้อมูล เบาะแสดังกล่าวด้วย นอกจากนั้นยังกำหนดมาตรการปล่อยตัวชั่วคราวให้กับบุคคลที่ถูกกล่าวโทษ หรือถูกฟ้องร้องเพื่อปิดปาก ทั้งนี้เพื่อให้เป็นมาตรการช่วยเหลือประชาชนให้มีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ขณะที่ฉบับของนายวิโรจน์ มีสาระสำคัญ คือ ให้บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีทุจริตประพฤติมิชอบ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาและพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จากเดิมที่ พ.ร.บ.ฯ พ.ศ.2561 กำหนดให้อยู่ในขอบเขตของธรรมนูญศาลทหาร และให้อัยการทหารดำเนินการ รวมถึงโอนย้ายคดีทุจริตประพฤติมิชอบที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของศาลทหารไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
ทั้งนี้ในการแสดงความคิดเห็นของ สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ สว. และ สส.พรรคประชาชน ที่อภิปรายแสดงท่าทีสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.ฯ ทั้ง 2 ฉบับ เพราะมองว่าเป็นมาตรการสำคัญของการป้องกันการทุจริต ประพฤติมิชอบได้ อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าในส่วนของ สส.พรรคร่วมรัฐบาลที่ลุกอภิปรายได้แสดงความเห็นสนับสนุนร่างแก้ไข พ.ร.บฯ ฉบับที่ ครม. เสนอเพียงฉบับเดียว ยกเว้นในส่วนของพรรคภูมิใจไทย โดยนายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย อภิปรายสนับสนุน ทั้ง2ฉบับ และตั้งข้อสังเกตว่า ร่างพ.ร.บ.ฯของครม. กำหนดบทคุ้มครองพยานและผู้ร้องเพื่อประโยชน์ในทางคดีของ ป.ป.ช. ทั้งนี้หากมีกรณี 1.ผู้แจ้งและพยานมีเจตนากลั่นแกล้ง 2.พยานกลับคำให้การในชั้นพนักงานสอบสวน 3.ผลการตัดสินพิจารณาของ ป.ป.ช. คณะใหญ่ยกคำร้อง 4.ป.ป.ช.ยื่นอัยการแต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง และ 5.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกตัดสินไม่ผิดคดีทุจริตที่ ป.ป.ช.ส่ง นั้น ผู้แจ้งเบาะแส พยานนั้นได้รับความคุ้มครองหรือไม่
นายณัฏฐ์ชนน กล่าวต่อว่า กรณีที่ถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบ บุคคลที่ถูกร้องจะมีผล กระทบต่อการเลื่อนขั้น รวมถึงมีผลทางการเมือง ที่สส.ไม่สามารถได้เป็นรัฐมนตรีเพราะถูก ป.ป.ช. สอบ นักการเมืองที่มีมลทินจะไม่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะเขาไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายใดๆ ถูกริดรอนสิทธิ ดังนั้นกมธ.วิสามัญที่ตั้งขึ้น ควรให้ความเป็นธรรมผู้แจ้งเบาะแส ผู้กล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหา หน่วยงานของรัฐที่เสียหาย และหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบด้วย
ขณะที่ พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา สว. อภิปรายว่า ตนไม่เห็นด้วยกับ ร่างพ.ร.บฯ ที่เสนอโดยนายวิโรจน์ เนื่องจากขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 199 ที่กำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของทหาร ทั้งนี้คดีทุจริตถือเป็นคดีอาญาประเภทหนึ่ง นอกจากนั้นแล้วศาลทหารใช้ระบบไต่สวน ตั้งแต่ พ.ศ.2559 พร้อมกับศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบ ได้ประสานการปฏิบัติมาตั้งแต่ต้นและเริ่มพร้อมกัน ทั้งนี้ศาลทหารได้พัฒนาบุคลากร ตั้งแต่การอบรมและการศึกษา รวมถึงพัฒนาเครื่องมือมีความพร้อมซึ่งได้เชิญวิทยากรจากกระบวนการยุติธรรม
“ขอให้พูดเรื่องความจริง อย่าพูดเรื่องเท็จ ในปี2565-2566 พบว่ามีการดำเนินคดี 98% มีคดียกฟ้อง 1% ดังนั้นกล่าวอ้างว่าทหารรช่วยเหลือกันเล่นพรรคเล่นพวก แต่ศาลทหารทรงความยุติธรรม ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องแก้ไข และคิดว่าประชาชนกำลังดูเราอยู่ ที่พบว่าฉบับของนายวิโรจน์บอกว่าทำเพื่อประชาชน ดูจากผลการรับฟังความเห็น รวม 60 วัน ผลการรับฟังความเห็น มีผู้ร่วมชม 399 คน มีผู้แสดงความเห็น 14 คน เห็นด้วย 6 คน ไม่เห็นด้วย 7 คน ไหนอ้างว่าฉบับนี้ทำเพื่อประชาน ผมอยากรู้ว่าประชานทราบเรื่องนี้มากแค่ไหน ผมคิดว่าหากผมได้รับฟังความเห็นและประชาชนสนใจมากแบบนี้ น่าจะยกเลิกเรื่องนี้ ไม่น่าจะเป็นภาระของสภา” พล.อ.สวัสดิ์ กล่าว
หลังสมาชิกรัฐสภา อภิปรายเสร็จสิ้น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานที่ประชุม ให้ที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการหรือไม่รับหลักการ ที่ละฉบับ โดยร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับ ครม.เป็นผู้เสนอ เห็นด้วย 493 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนนไม่มี ถือว่าที่ประชุมรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 35 คน แปรญัตติ 15 วัน
จากนั้นลงมติ ร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับนายวิโรจน์ เห็นด้วย 354 เสียง ไม่เห็นด้วย 129 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง จึงถือว่าที่ประชุมเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยใช้กมธ.ฯชุดเดียวกับฉบับ ครม.เสนอ โดยใช้ร่างของครม.เป็นร่างหลัก
ก่อนปิดประชุมนายวันมูหะมัดนอร์ ได้แจ้งว่า จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาอีกครั้งเพื่อพิจารณาวาระเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่บรรจุระเบียบวาระไปแล้ว ในวันที่ 14-15 ม.ค. 68