“บัญญัติ”ทำนายปี 68 “ปีแห่งความรุ่มร้อน” จาก 3 ปัจจัยหลัก สารพัดปัญหารุมเร้า รัฐบาลมีเอกภาพจอมปลอม เล่นเกมหยุมหัว ชิงความได้เปรียบกันตลอด จนเกิดปรากฎการณ์ใหม่ “พรรคร่วมอันดับรอง” ดัน “พรรคแกนนำ” ให้พ้นอำนาจ คาด “ฝ่ายค้าน” สบช่องเปลี่ยนแผนยื่นซักฟอก ม.151 แทนอภิปรายทั่วไป
เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.67 นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การเมืองในปี 2568 ว่า น่าจะเป็นปีแห่งความรุ่มร้อนและร้อนรุ่ม ด้วย 3 เหตุผล คือ 1.การเมืองในปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าค่อนข้างจะร้อนกันอยู่แล้ว ทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ประชาชนประสบความยากลำบากจากปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือน แล้วยังเกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ ยิ่งซ้ำเติมให้เดือดร้อนมากขึ้น
ขณะเดียวกัน การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านมา ใช้นโยบายประชานิยม ที่เป็นนโยบายเฉพาะหน้า ทำได้เพียงชั่วครั้ง-ชั่วคราว ไม่ได้แก้ที่รากฐานเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน แม้รัฐบาลจะประกาศว่า จะทำให้ตัวเลขจีดีพีทางเศรษฐกิจเติบโตให้อยู่ที่ 2.6 และ 2.8 ตอนนี้ดูแล้ว ไม่เห็นมีปัจจัยอะไรที่สามารถค้ำจุนเศรษฐกิจ ให้มั่นคงแข็งแรงถาวรได้ ตอนนี้เศรษฐกิจของเราอยู่ได้จากการส่งออกกับรายได้จากการท่องเที่ยว รัฐบาลกำลังทุ่มให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวมากเป็นพิเศษ แต่ถ้าสังเกตให้ดี นโยบายฟรีวีซ่ากับชาวต่างชาติ ที่รัฐบาลภาคภูมิใจหนักหนา ต้องการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมีการใช้จ่ายสูง และเข้ามาพักหลายวัน แต่หลายคนในแวดวงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้น กลับไม่เป็นเช่นนั้น นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามา กลายเป็นพวกที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้การใช้จ่ายในประเทศไทย ไม่มากเท่าที่ควร และสักระยะหนึ่งทุกอย่างจะแผ่วลง
ส่วนเรื่องรายได้จากการส่งออกที่หลายคนเป็นห่วง จากกรณีที่สหรัฐอเมริกาอาจจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายที่มีต่อจีน และอีกหลายประเทศที่เขามองว่าเสียดุล โดยหนึ่งในนั้นมีไทยด้วย ตนจึงคิดว่า ไทยอาจอยู่ในเป้าหมายของสหรัฐฯด้วย และอาจโดนสองต่อ คือถ้าสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าจากไทย 10 เปอร์เซ็นต์ เราก็จะแย่ และถ้าสหรัฐฯไปเล่นงานจีนหนัก ก็จะกระทบกับไทยด้วย เพราะจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของเรา ขณะเดียวกันก็มีสินค้าราคาถูกจำนวนมาก เข้ามาตีตลาดกับไทย ตนจึงเห็นว่า เศรษฐกิจในปีหน้ายังหวังอะไรไม่ได้ ประชาชนก็ยังประสบความลำบาก และยังรุ่มร้อนต่อไป และถ้าระดับเพิ่มมากๆ ทุกคนก็จะมากดดันมายังรัฐบาลให้ร้อนรุ่มไปด้วย
นายบัญญัติ กล่าวว่า 2.ปัญหาที่จะรุมเร้ารัฐบาลมาก ทั้งปัญหาสังคมเช่นยาเสพติด การฉ้อโกง การลักเล็กขโมยน้อย แต่สิ่งที่จะทำให้ประชาชนรู้สึกอึดอัด โดยเฉพาะผู้ที่ตื่นตัวทางการเมือง คือความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม และการเลือกปฏิบัติ ถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก แค่เฉพาะเรื่องกรณีของกรมราชทัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตนมองว่าเป็นปัญหาที่น่ากลัวมาก แม้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และแพทยสภาเริ่มเคลื่อนไหวแล้ว แต่ก็ต้องติดตามดูว่า ท้ายที่สุดจะออกมาเป็นอย่างไร ยังบอกไม่ได้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณในเรื่องนี้ จะไปให้ถ้อยคำกับทางป.ป.ช.อย่างไร
ส่วนเรื่องที่ดินเขากระโดง ที่จ.บุรีรัมย์ ตนเห็นว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ได้เหมือนกัน เพราะคาราคาซังมานาน แม้ศาลจะมีคำพิพากษาแล้ว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ยังไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล และเมื่อดูจากฝ่ายผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าว ไม่ใช่บุคคลธรรมดา และเขาพยายามออกมาต่อสู้ ไม่ยอมแพ้ จึงไม่แน่ใจว่า เรื่องจะบานปลายมาก-น้อยแค่ไหน รวมถึงเรื่องปัญหาที่ดินอัลไพน์ที่ถูกพูดถึงอย่างมาก และดูเหมือนจะมีคนยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระตรวจสอบแล้วเช่นกัน จึงถือว่าเรื่องเหล่านี้น่ากลัว
นายบัญญัติ กล่าวอีกว่า ปัญหาข้อขัดแย้งกรณี MOU 44 ระหว่างไทยกับกัมพูชา ก็ยังเกิดเป็นประเด็นได้ แม้รัฐบาลพยายามอธิบายว่า เป็นข้อตกลงที่ทำร่วมกันไว้ เพื่อทำให้ไทยและกัมพูชามีการเจรจา โดยสิ่งที่น่าห่วงคือ คำพูดของนายทักษิณที่บอกว่า หากการปักปันหรือแบ่งเขตพื้นที่ทับซ้อนยังมีปัญหา ก็ให้ไปตกลงแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเลกันเสียก่อน เพราะถ้ายิ่งทิ้งเวลาไว้นาน ก็จะยิ่งไร้คุณค่า เพราะในอนาคต คนจะหันไปใช้พลังงานบริสุทธิ์มากขึ้น และยิ่งหากจะให้ไปแบ่งผลประโยชน์แบบ 50:50 ตนมองว่า มันทำไม่ได้ ส่วนฝ่ายที่ออกมาต่อต้านเรื่องนี้ ก็มีเหตุผล เพราะเขาเรียกร้องให้จัดการพื้นที่เขตทับซ้อนบริเวณไหล่ทวีปให้เสร็จเสีย ก่อนที่จะไปแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรทางทะเล และถ้าแบ่งเขตพื้นที่ได้อย่างตรงไป-ตรงมา ตนเชื่อว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของทรัพยากรในพื้นที่นี้จะเป็นของไทย แต่ถ้าจะแบ่งกันแบบ 50:50 หรือ 60:40 สังคมก็จะคัดค้าน และที่หนักกว่านั้น หากไปตกลงแบ่งทรัพยากรกันก่อน ก็จะดูเหมือนเรายอมรับการอ้างสิทธิ์ของฝ่ายกัมพูชาว่ามีมูล หลายคนเกรงว่า หากปล่อยไว้นาน ไทยจะเจอกฎหมายปิดปากแบบคดีเขาพระวิหาร
“เรื่องการตั้งคณะกรรมการเจทีซี ตามเอ็มโอยูที่ยังคาราคาซัง ผมมองว่าการที่รัฐมนตรีเข้าประชุมครม.ไม่ครบ จนทำให้นายทักษิณอารมณ์เสีย ไปอาละวาดข้างนอก เพราะรัฐมนตรีกลัวเรื่องนี้ด้วย วันนั้นรัฐมนตรีหลายคน กลัวอยู่สองเรื่อง คือการแต่งตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ กับการแต่งตั้งคณะกรรมการเจทีซี เขาจึงไม่อยากไปรับรู้ด้วย”นายบัญญัติ กล่าว
นายบัญญัติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีหลายเรื่องที่มีการร้องเรียนต่อองค์กรอิสระ โดยเฉพาะ ป.ป.ช.ที่จะผุดขึ้นมาในปี 2568 ซึ่งเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว ทั้งเรื่องความไม่ชอบธรรม ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม การเลือกปฏิบัติ จะยิ่งปรากฎชัดขึ้น และสังคมจะเกิดความรุ่มร้อนเหลืออดเหลือทนจนต้องลงมาบนถนน อาจเกิดขึ้นได้
“ความรู้สึกเชื่อมั่นต่อรัฐบาลจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลจะมีเสียงมากก็จริง แต่ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริงนั้น ไม่น่าจะมี เพราะสังเกตได้ว่า ในระยะหลัง มักจะมีการช่วงชิงความได้เปรียบ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองมาตลอด นับตั้งแต่เริ่มตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองอันดับสอง ใช้เกมช่วงชิงอำนาจกดดันพรรคแกนนำออกไปจากการเป็นผู้นำ ซึ่งในอดีตเราไม่เคยเห็นปรากฏการณ์นี้ มีแต่พรรคแกนนำอันดับหนึ่ง เป็นตัวกดดันพรรคร่วมรัฐบาลให้ออกไป แล้วเอาพรรคอื่นเข้ามาแทน แต่นี่กลับเล่นเกมกันตลอด โดยดึงพรรคที่ประกาศตอนหาเสียงว่า หัวเด็ดตีนขาดก็จะไม่ร่วมรัฐบาลมาร่วมด้วย ดังนั้นการร่วมรัฐบาลครั้งนี้เรียกได้ว่า เป็นการร่วมแบบหลวมๆ และจะช่วงชิงความได้เปรียบ-เสียเปรียบกันตลอด โดยเกมนี้จะร้อนแรงตลอดในปี 68 แน่นอน”นายบัญญัติ ระบุ
นายบัญญัติ กล่าวอีกว่า รวมถึงการช่วงชิงระดับท้องถิ่นในการเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ก.พ.68 ตรงนี้จะเป็นการตอกย้ำความกินแหนงแคลงใจ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน แต่ที่น่าอันตรายกับการพัฒนาประชาธิปไตย คือการช่วงชิงท้องถิ่นของ “บ้านใหญ่” เพื่อให้เข้ามาค้ำจุนเสถียรภาพของรัฐบาล ดังนั้นการจะแก้ปัญหาผู้มีอิทธิพลในสังคมไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ ก็จะทำได้ยาก เมื่อท้องถิ่นที่มีอิทธิพลเชื่อมกับการเมืองใหญ่ จะยิ่งมีอิทธิพลมากขึ้น ทำให้ข้าราชการยิ่งเกรงใจ
ในส่วนของฝ่ายค้าน นายบัญญัติ มองว่า บทบาทของฝ่ายค้านจะมีมากขึ้น การอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 คงไม่เกิดขึ้น แต่จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามมาตรา 151 มากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และเป็นหน้าที่ที่ควรทำ หากสามารถทำให้รัฐบาลตั้งอยู่ในหลักในเกณฑ์ รัฐสภามีความแข็งแกร่งแก้ปัญหาของประเทศได้ ความจลาจลที่อาจเกิดขึ้นก็จะลดลง แต่ตนไม่มั่นใจว่าจะทำสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน ได้แต่ภาวนาว่าขอให้ทำได้ มิฉะนั้นอาจเกิดวิกฤตในประเทศอีกครั้งก็เป็นได้ ส่วนจะมาในรูปแบบไหนนั้น ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่ความรู้สึกอึดอัดที่ได้รับมาตลอดในปี 2567 ตนยังมั่นใจว่าบทบาทของฝ่ายค้านในปีหน้า น่าดูชมได้พอสมควร
เมื่อถามว่า ขณะนี้ทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาลยังไม่อยากให้รีบมีการเลือกตั้งใหม่ จึงต้องช่วยประคองกันให้อยู่ครบ 4 ปี เพื่อแต่ละพรรคจะได้เก็บทรัพยากรให้ได้มากที่สุด นายบัญญัติ กล่าวว่า ก็เป็นเช่นนั้น ตนเคยพูดว่า “เขาคงโกรธง่ายหายเร็ว” เพราะถ้าลำดับปัญหาให้เห็นแล้ว ว่ามันมีมากมาย ถ้ายังใช้นโยบายเดิมๆ คิดแค่กระตุ้นเศรษฐกิจ ถามว่าจะเอางบมาจากที่ไหน ในเมื่อหนี้สาธารณะเกือบจะชนเพดานแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลคิดหนักว่าจะอยู่ล่มไปพร้อมๆกันหรือไม่
เมื่อถามว่า ตัวที่เร่งให้การเมืองร้อนรุ่มมากยิ่งขึ้น คือนายทักษิณด้วยใช่หรือไม่ นายบัญญัติกล่าวว่า นายทักษิณมีคนชื่นชมมาก แต่ก็มีคนที่เกลียดอยู่จำนวนไม่น้อย ตามคำโบราณที่ว่า “คนรักเท่าผืนหนัง คนชั่งเท่าผืนเสื่อ” พอมีการขับเคี่ยวกันหนักๆ มีการหยิบกยกพฤติกรรมในอดีต และความล้มเหลวในระบอบทักษิณ มาพูดให้สังคมรับรู้มากขึ้น ยกตัวอย่างวันนี้ หลายสื่อมีการหยิบยกคดีที่นายทักษิณแพ้ในอดีตขึ้นมาพูด และบางคดีที่ยังคาราคาซัง ตนมองว่าจะมีการหยิบยกมาพูดอีก ซึ่งก็เป็นการดีสังคมจะได้รับรู้ และเป็นบทเรียนด้วยว่า ดูนักการเมือง อย่าดูเฉพาะหน้าฉาบฉวย หรือดูแต่นโยบายประชานิยมอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูพฤติกรรมด้วย ว่าอดีตที่มาเป็นอย่างไร และอนาคตจะเป็นอย่างไร