10วันอันตรายปีใหม่ผ่าน 1 สัปดาห์! ดับสังเวยพุ่ง 321 ราย เจ็บ1,894คน ‘สุราษฎร์’ ยังนำโด่งยอดสูญเสียสะสม ขณะที่‘6จังหวัดตายเป็นศูนย์’ ด้าน ‘ศปถ.’ กำชับคุมเข้มป้องกันลดอุบัติเหตุทางถนนต่อเนื่อง ตั้งจุดตรวจ – จุดพักรถบริการประชาชน ตรวจเช็คความพร้อมคน – รถโดยสารสาธารณะก่อนออกเดินทาง ติดตั้งไฟส่องสว่าง – ป้าย – สัญญาณไฟแจ้งเตือนบริเวณจุดเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัยผู้ใช้เส้นทาง
วันที่ 3 ม.ค.2568 เวลา 10.30 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 และประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 3 มกราคม2568 เปิดเผยว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางถึงกรุงเทพและพื้นที่เศรษฐกิจใหญ่แล้ว ทำให้เส้นทางสายหลักมีสภาพการจราจรที่คล่องตัวมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ขับขี่บางรายอาจใช้ความเร็วสูงในการขับรถ ซึ่งเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จึงได้กำชับทุกจังหวัดดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น โดยยังคงการตั้งด่านตรวจและจุดตรวจเพื่อป้องปรามไม่ให้ผู้ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และเพิ่มการตั้งจุดบริการประชาชนและจุดพักรถ เพื่อรองรับประชาชนที่ขับรถติดต่อกันเป็นเวลานานโดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการทำงานภายในจุดดังกล่าว เพื่อบริการประชาชนที่เหนื่อยล้าจากการขับรถและป้องกันอุบัติเหตุจากการหลับใน นอกจากนี้ ได้กำชับจังหวัดให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสารและรถขนส่งสินค้า รวมถึงสภาพรถและระบบความปลอดภัยก่อนออกเดินทางทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะในการเดินทาง ไม่เพียงเท่านั้น จากสถิติที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมในการขับขี่ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนศปถ. จึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดดำเนินการซ่อมแซม แก้ไข ติดตั้งไฟส่องสว่าง ป้าย หรือสัญญาณไฟแจ้งเตือน บริเวณถนนที่มีการก่อสร้าง ซ่อมแซม หรือชำรุด ทางร่วม ทางแยก และบริเวณจุดเสี่ยงซ้ำซาก พร้อมกับปรับปรุงเส้นจราจรให้มีความชัดเจน เพื่อช่วยให้การจราจรมีความเป็นระเบียบและเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้เส้นทาง
“ศปถ. ขอให้จังหวัดดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่อย่างเข้มข้น และขอฝากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งถือเป็นด่านหน้าในการดูแลความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของท่านเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ อัตราการได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตได้จริง ในส่วนของประชาชนซึ่งเป็นผู้ที่ใช้รถใช้ถนนโดยตรง ศปถ. ได้ขอให้จังหวัดเพิ่มการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ทั้งที่อยู่ในพื้นที่และอยู่ผู้ที่เดินทางสัญจรผ่านพื้นที่ ให้ตระหนักถึงการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย นำไปสู่ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดและการเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ เผยแพร่ข้อกฎหมายและข้อปฏิบัติในการขับขี่ยานพาหนะ อาทิ การสวมใส่อุปกรณ์นิรภัย สวมหมวกกันน็อค คาดเข็มขัดนิรภัย ดื่มไม่ขับ ใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด และลดความเร็วในกรณีไม่ชำนาญเส้นทาง ผ่านช่องทางการสื่อสารของจังหวัด“ นายเชษฐา กล่าว
ด้านนายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวเพิ่มเติมว่า ศปถ. ขอฝากให้ประชาชนที่อยู่ในระหว่างการเดินทางกลับกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่เป็นเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ รวมไปถึงประชาชนที่อยู่ในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวก่อนเดินทางหลับในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด สวมใส่อุปกรณ์นิรภัย ไม่ขับรถเร็วหากมีอาการง่วง อ่อนเพลีย หรือรู้สึกเหนื่อยล้าจากการเดินทาง ขอให้แวะพักยังจุดพักรถและจุดบริการประชาชนที่ทางราชการจัดสรรไว้เป็นระยะตลอดเส้นทาง สำหรับประชาชนที่พบเห็นหรือประสบอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 หรือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อนผ่าน Line@1784DDPM เพื่อประสานการให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ประจำวันที่ 2ม.ค.68 ซึ่งเป็นวันที่7ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 2ม.ค. เกิดอุบัติเหตุ 196 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 200 คน ผู้เสียชีวิต 43 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 40.31 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 26.02 ดื่มแล้วขับและทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 15.82 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 86.07 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 83.67 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 44.9 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 26.53
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 08.01-19.00 น. ร้อยละ 8.16 เวลา 11.01-12.00 น. เวลา 15.01-16.00 น. และ เวลา 17.01-18.00 น. ร้อยละ 7.14 เวลา 09.01-10.00 น. และเวลา 10.01-11.00 น. ร้อยละ 6.12 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 17.7 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,783 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,516 คน
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ตรัง (11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ตรังและลำปาง (จังหวัดละ 11 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (8 ราย)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (27ธ.ค.67 – 2ม.ค.68) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,938 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,894 คน ผู้เสียชีวิต รวม 321 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 6 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (72 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (82 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (20 ราย)