“สว.พันธุ์ใหม่” หนุนร่างรธน.ฉบับ “ประชาชน” ลดอำนาจแก้สว. ด้าน “เทวฤทธิ์” มั่นใจแก้รธน.ทั้งฉบับ เปลี่ยนรูปแบบการปกครองไม่ได้ เหตุมี ม.255 ล็อค ยกที่ผ่านมา แก้หลายครั้ง ก็แตะหมวด 1-2 บอก “มีชัย” แก้มากที่สุด แปลกใจทำไมไม่จี้ถาม
วันที่ 7 ม.ค. 2568 เวลา 11.30 น. ที่รัฐสภา กลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ นำโดย น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. ,นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. ,นายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร แถลงจุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยน.ส.นันทนา กล่าวว่า ตามที่มีกระแสข่าวทั้งสนับสนุนและไม่สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน ในส่วนของกลุ่มสว.พันธุ์ใหม่เราได้มีมติร่วมกัน พร้อมแสดงจุดยืนว่าเราสนับสนุนร่างฉบับของพรรคประชาชน เรายินดีจะลดอำนาจของสว.ในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ. จากฉบับปัจจุบัน ที่ให้ใช้สว. 1ใน3 ซึ่งเรามองว่าสว.ไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรง กระบวนการที่ได้มาไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศได้
“เรายินดีจะสละอำนาจที่จะลงมติแก้ไขรธน. เพื่อให้ผู้ที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริงคือสส.ได้เป็นผู้ลงมติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นสิ่งที่ตรงกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด“ น.ส.นันทนา กล่าว และว่าส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เราสนับสนุนให้มีผู้แทนที่มาร่างรัฐธรรมนูญจากประชาชนโดยตรงคือการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซนต์ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นเจตจำนงของประชาชน บรรจุอยู่ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ
เมื่อถามว่า สว.พันธุ์ใหม่ มีความคิดเห็นต่อเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 และ 2 อย่างไร น.ส.นันทนา กล่าวว่า เราชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 มีที่มาจากการรัฐประหารเมื่อจุดตั้งต้นไม่ใช่มาจากประชาชน ตัวร่างรัฐธรรมนูญทั้งร่างจึงมีข้อกำหนด บทมาตราต่างๆที่บิดเบี้ยว และมีช่องโหว่มากมาย ดังนั้นถ้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ควรจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปแก้ไขรูปของรัฐ ระบอบการปกครอง
“แต่ที่แก้ทั้งฉบับเพื่อให้ที่มาของรัฐธรรมนูญมาจากประชาชนอย่างแท้จริง และบทบัญญัติทั้งหมดสอดคล้องกันทั้งฉบับไม่ใช่เป็นการแก้หมวดใดหมวดหนึ่ง แล้วละเว้นหมวดใดหมวดหนึ่ง เพราะสุดท้ายแล้วเท่ากับมรดกของเผด็จการยังอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าเราไม่ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ”น.ส.นันทนากล่าว
ด้านนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา กล่าวเสริมว่าตนเข้าใจว่าประเด็นนี้อาจจะมีการหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อกังวล หรือบางครั้งอาจจะถูกลากไปเป็นเกมการเมือง ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้หมายความว่าจะมีการแก้ไขหมวด1 และ2 แต่เป็นการย้ำว่าเป็นการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และที่สำคัญหมวดดังกล่าวก็เคยมีการแก้ไขในรัฐธรรมนูญหลายฉบับ โดยเป็นการแก้ถ้อยคำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และคนที่แก้มากที่สุดคือนายมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ. ) ตนแปลกใจว่าทำไมไม่ไปถามนายมีชัยกันบ้าง
นายเทวฤทธิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการกำกับไว้ในมาตรา 255 ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไปแก้ในรูปแบบการปกครอง หรือรูปแบบของรัฐไม่ได้ ดังนั้นหากใครกังวลเรื่องว่าจะมีการแก้รูปแบบการปกครอง หรือระบอบการปกครองของรัฐ ก็มีมาตรานี้กำกับ อีกทั้งกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญก็ต้องผ่านการทำประชามติอย่างน้อย2 ครั้ง หมายความว่าหากมีการแก้แล้วกระทบต่อรูปแบบของรัฐ ตนเชื่อว่าหากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยคงโหวตไม่รับ
“ผมเข้าใจเรื่องความแคลงใจหรือกังวลว่าจะมีการไปแตะหมวด1 และ2 แต่เรามีกฎหมายล็อคไว้อยู่แล้ว ในร่างของพรรคประชาชนก็ล็อคว่า มาตรา255ว่าจะไม่แก้รูปแบบการปกครอง ผมจึงไม่เข้าใจว่าที่กังวลนั้นเขากังวลจริงๆหรือกังวลเป็นเงื่อนไขทางการเมือง” นายเทวฤทธิ์กล่าว