รัฐบาลเคาะงบปี 69 ยอด 3.78 ล้านล้านบาทเศษ เผยจัดทำขาดดุลน้อยกว่าปีที่แล้ว ขณะที่นายกรัฐมนตรีกำชับทุกส่วนราชการต้องใช้งบให้คุ้มค่ามีประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน เน้นต้องเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 3,780,600 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปึงบประมาณ 2569 – 2572) ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 โดยปี พ.ศ. 2569 นี้ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 27,900 ล้านบาท (ปี 2568 จำนวนเงิน 3,752,700 ล้านบาท) ร้อยละ 0.7
โดยจะมีรายได้สุทธิจำนวน 2,920,600 ล้านบาท และเป็นเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 860,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งปี 2569 นี้ เป็นการจัดทำงบประมาณขาดดุลลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจในปี 2569 ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงร้อยละ 2.3 – 3.3 (ค่ากลางร้อยละ 2.8) และอัตราเงินเฟ้อ (GDP Deflator) ในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.2) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
โครงสร้างงบฯ พ.ศ. 2569 ประกอบด้วยรายจ่ายประจำ จำนวน 2,645,858.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70.0 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 123,541.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.3 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน จำนวน 860,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.7 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 151,200 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.0 การจัดทำงบประมาณปี 2569 นี้
รัฐบาลได้ขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 อย่างเคร่งครัดดังนี้
1) ให้กระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยให้เทียบเคียงการดำเนินการกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับประเทศไทย
2) ให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด เพื่อให้มีความคุ้มค่า ประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน สำหรับการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้เสนอขอรับเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนของภาครัฐ
3) ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่มีเงินนอกงบประมาณ เงินรายได้ หรือเงินสะสม ให้นำเงินเหล่านี้มาใช้ดำเนินโครงการ / ภารกิจในความรับผิดชอบเป็นลำดับแรก รวมทั้งพิจารณาแหล่งเงินอื่นเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการของหน่วยงานตามความเหมาะสม
4) ให้ทุกกระทรวงและรัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งให้รัฐวิสาหกิจพิจารณาลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนและนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ “นายกรัฐมนตรีได้กำชับถึงการใช้เงินงบประมาณ โดยขอให้มุ่งเน้นการดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งเสริมสร้าง ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ทั้งปัญหาหนี้สิน รายได้ และค่าครองชีพตลอดจนสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตและการบริการ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว และพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางรากฐานของประเทศไทยให้เกิดความเท่าเทียมและยังยืน” นายจิรายุ กล่าว