“วราวุธ” ย้ำจุดยืนชทพ.แก้รธน.ต้องไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 แนะใช้ ส.ส.ร. ที่มาจากหลากหลายสาขา ดำเนินการดีที่สุด ชี้ ไม่ว่าฉบับใดก็มีข้อด้อย-ข้อดี
วันที่ 10 ม.ค.68 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า พรรคชทพ. ยังยืนยันจุดเดิมคือ การได้มาซึ่ง ส.ส.ร. โดยเฉพาะหมวด 1 หมวด 2 ที่จะไม่แตะต้องหรือทำอะไรเด็ดขาด ถ้าเป็นตามนี้ยินดีสนับสนุน แต่หากแตกต่างไปคงต้องสงวนความเห็นไว้ เพราะสิ่งที่เราพูดมาตั้งแต่แรกจนถึงวันนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง พรรค ชทพ.ทำงานโดยคงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ จะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรก็แล้วแต่หมวด 1 หมวด 2 เราไม่เข้าไปยุ่งด้วย
เมื่อถามว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของเพื่อไทย โดยเฉพาะที่มาของ ส.ส.ร. ดูแล้วเป็นอย่างไร นายวราวุธ กล่าวว่า ต้องหารือกัน เพราะบางส่วนเป็นการคัดเลือกมาเหมือนสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ที่ทำไว้ ซึ่งมาจากหลากหลายวงการ ทั้งการเลือกตั้งและการเลือกมาจากสาขาอาชีพ แต่ปี 2540 ขั้นตอนและสาขาอาชีพวันนั้นกับวันนี้แตกต่างกันออกไป ดังนั้น เมื่อเวลาเปลี่ยน ส.ส.ร.ควรต้องสะท้อนถึงองค์ประกอบของประชาชน ที่สะท้อนถึงสังคมในปัจจุบัน
เมื่อถามถึง กรณีที่มีคนขู่เรื่องทำประชามติ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง ซีเรียสหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ขอให้ดูแนวทางคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญก่อน ไม่ว่า 2 หรือ 3 ครั้ง อยากทำให้ถูกต้อง เพราะกลัวว่าถ้าทำ 2 ครั้ง มันอาจจะเร็ว แต่ถ้าถูกตีตกหรือมีอะไรขึ้นมา ก็ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ ที่สำคัญการแก้รัฐธรรมนูญ อย่างไรเสียคงไม่ทันในรัฐบาลนี้ ก็เหมือนสมัยนายบรรหาร เป็นนายกฯ ช่วงรัฐบาลปี 2538 ได้ริเริ่มการแก้รัฐธรรมนูญ แต่มาคลอดในปี 2540 ซึ่งไม่ใช่รัฐบาลบรรหาร แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของ ส.ส.ร. เพราะฉะนั้น รัฐบาลนี้ก็เช่นกัน รัฐธรรมนูญจะไปเสร็จในรัฐบาลใดก็แล้วแต่ แต่หากเลือกตั้งเสร็จแล้ว ถ้าพรรค พท.ได้เป็นรัฐบาลอีกครั้ง ก็อาจจะมาตั้งรัฐบาลกันใหม่ ถือว่าเป็นคนเริ่มต้นและรัฐธรรมนูญมาคลอดในรัฐบาลพรรค พท.เช่นกัน
เมื่อถามว่า จะทำอย่างไรให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เห็นด้วย นายวราวุธ กล่าวว่า ต้องมาเจรจาพูดคุยกันถึงแนวทางว่ามีความเห็นอย่างไร หาจุดลงตัวอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนตัวมีปัญหากับรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ทุกรัฐธรรมนูญมีข้อด้วยและข้อดี อย่างฉบับปี 2540 ที่บอกว่าดีที่สุด ยังมีข้อด้อย เราต้องหาวิธีปรับแก้ในปี 2560 ต้องดูว่าจะแก้อย่างไร แต่ยังเชื่อในรัฐธรรมนูญที่มีที่มามาจาก ส.ส.ร. จะได้แก้ข้อครหาจากหลายฝ่ายได้