วันอังคาร, มกราคม 14, 2025
หน้าแรกHighlight‘วุฒิฯ’รับหลักการ‘พรบ.แก้ไขการประมง’ ‘สว.’กังวลเกิดปัญหาตามมาในหลายมิติ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘วุฒิฯ’รับหลักการ‘พรบ.แก้ไขการประมง’ ‘สว.’กังวลเกิดปัญหาตามมาในหลายมิติ

มติวุฒิฯ รับหลักการ “พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง” “อัครา”ยันแก้ไขเพื่อป้องกันทำประมงผิดกม. -บรรเทาความเดือดร้อนชาวประมง พร้อมลดโทษ จากปรับสูงสุดไม่เกิน 30 ล้าน เป็นไม่เกิน 1 ล้านบาท ขณะที่ “สว.”กังวลเกิดปัญหาหลายมิติ ตัดตอนการเติบโตของสัตว์วัยอ่อน

วันที่ 13 ม.ค.2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีพล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณาเรื่องด่วน ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ก.การประมงปี 2558  ในวาระรับหลักการ

โดยนายอัครา พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่าในร่างกฎหมายฉบับนี้มีแก้ไข 71 มาตรา 24 ประเด็น เพื่อจัดระเบียบการประมงในประเทศไทย และน่านน้ำทั่วไปเพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำการประมงโดยผิดกฎหมาย เพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะเป็นแหล่งอาหารของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน และรักษาสภาพแวดล้อมให้ดำรงอยู่อย่างเหมาะสม รวมทั้งคุ้มครองสวัสดิภาพของคนประจำเรือและป้องกันการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย และส่งเสริมการมีส่วนร่วมสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นให้เกิดความเหมาะสม ทั้งนี้แก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับผู้ขอรับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านด้วยการกำหนดเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น ยกเลิกบทบัญญัติที่ห้ามผู้ได้รับใบอนุญาตทำประมงพื้นบ้านทำประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง เพื่อไม่ให้เป็นการจำกัดสิทธิ์ของประมงพื้นบ้าน แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การขออนุญาตและการขออนุญาตทำการประมงในเขตทะเลนอกเหนือน้ำไทยเป็นการส่งเสริมประมงไทยที่มีศักยภาพที่ต้องทำตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

นายอัครา กล่าวว่า แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการออกประกาศห้ามไม่ให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำขึ้นเรือประมง ให้การออกประกาศห้ามจับสัตว์น้ำ หรือนำขึ้นเรือประมง จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เพิ่มข้อยกเว้นให้สามารถใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรทำการประมงในเวลากลางคืนตามหลักเกณฑ์และประกาศกำหนด ที่ต้องกำหนดเรื่องใช้แสงล่อไว้ด้วย ปรับปรุงการกระทำที่กำหนดเป็นการทำประมงฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง แยกการทำประมงนอกน่านน้ำไทย และการประมงในน่านน้ำไทย พร้อมปรับปรุงบทกำหนดโทษโดยลดอัตราโทษ จากปรับสูงสุดไม่เกิน 30 ล้านบาท เป็นปรับสูงสุดไม่เกิน1 ล้านบาท หรือปรับจำนวน5 เท่าของจำนวนมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ซึ่งผู้ที่กระทำความผิดนี้จะถูกลงโทษ 5 เท่าของมูลค่าที่ได้สร้างความเสียหายต่อทรัพยากร และยังต้องโทษปรับตามขนาดเรือที่กระทำความผิดตามหลักสากล เป็นการลงโทษต่อ1คนไม่ใช่เรือ1 ลำ

”ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากกฎหมายนี้จะมีผลเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมง ผู้ประกอบอาชีพการประมงโดยสุจริตให้ได้รับความเป็นธรรมโดยเฉพาะการปรับปรุงบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับสภาพความร้ายแรงของการกระทำความผิด ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพการประมงและอุตสาหกรรมการประมงของประเทศฟื้นตัวอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับพันธะกรณีของประเทศ ควบคู่กับการรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อเป็นแหล่งอาหารต่อไป“ นายอัครา กล่าว

ด้านนายธวัช สุระบาล สว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การเกษตรและสหกรณ์ ของวุฒิสภา รายงานการ ว่าเหตุผลในการแก้ไขกฎหมายเนื่องจากมีบางมาตราไม่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพการทำประมงในประเทศไทย  และไม่ขัดต่อหลักการทำประมงสากลตามพันธะกรณีระหว่างประเทศ โดยในมาตรา 69 วรรคสอง ที่มีการกำหนดให้มีการทำประมงนอกเขต 12 ไมล์ทะเลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวต้องกำหนดในเรื่องการใช้แสงไฟล่อไว้ด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ จะต้องมีการระมัดระวังและรัดกุมอย่างยิ่งและการใช้ไฟลนั้นอาจส่งผลให้มีการจับสัตว์น้ำที่ไม่ได้อยู่ในเป้าหมาย และสัตว์น้ำวัยอ่อน ดังนั้นต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชนในการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งการปรับปรุงกฎหมายควรแยกความผิดเป็น2 กรณีคือในน่านน้ำไทยและทะเลนอกน่านน้ำไทย เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย

ทั้งนี้ หลังเปิดให้สมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นว่าร่างกฎหมายการประมง เปิดให้ใช้อวนตาถี่จับสัตว์น้ำในเวลากลางคืน หวั่นจับลูกสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยนายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร สว. แสดงความกังวลว่าจะทำให้เกิดปัญหาตามมาในหลายมิติ เช่น ลดทอนโอกาสในตลาดเศรษฐกิจ โดยหยิบยกการแก้ไขเปิดให้ใช้อวนตาถี่น้อยกว่า 2.5 เซนติเมตรจับสัตว์น้ำตอนกลางคืนในระยะกว่า 12 ไมล์ทะเลได้ เพื่อเปิดให้ประมงพาณิชย์จับปลากะตักได้มากขึ้น แต่จะทำให้จำนวนสัตว์น้ำทางเศรษฐกิจลดลง โดยเฉพาะการเปิดไฟล่อจับ ทำให้ในอนาคตจะจับสัตว์น้ำได้น้อยลง เกิดกรณีวิกฤติปลาทูไทยในช่วง6 ปีที่ผ่านมา ที่ไทยจะต้องนำเข้าร้อยละ 90 จึงเห็นว่าการแก้ไขปัญหาครั้งนี้เป็นการแก้ไขให้กับเฉพาะกลุ่มด้านเศรษฐกิจในกลุ่มระยะสั้น แต่ในระยะยาวกลุ่มภาคเศรษฐกิจษฐกิจประมง ทั้งประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรมแปลรูปอาหารทะเลจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการลดลงของสัตว์น้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่นายเศรณี อนิลบล สว. นำอวนตาถี่และปลาทูขนาดเล็ก 1 กิโลกรัม มาประกอบการอภิปรายว่า กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบมาชุมนุมเรียกร้องบริเวณหน้ารัฐสภาคือ กลุ่มประมงพาณิชย์ กับกลุ่มประมงพื้นบ้าน จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การแก้ไขมาตรา 69 ทำให้เกิดความไม่สบายใจและเป็นห่วง โดยเฉพาะการเปิดให้จับในเวลากลางคืน ให้มีไฟล่อตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ที่ประกาศ การนำอวนตาถี่มาทำประมงเช่นนี้ จะทำให้มีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นการตัดตอนการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อน อีกทั้งเป็นการทำลายห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศอย่างร้ายแรง ส่วนปลาทูขนาดเล็ก 1 กิโลกรัมที่นำมา ซึ่งตนนับมาแล้วมีปลาทูจำนวน 1,000 ตัว เป็นปลาแห้งมีปลาชิงชัง ปลากะตัก ไม่ถึงครึ่ง มีปลาทราบแดง ลูกกุ้ง ลูกปู และลูกหมึกปนมาด้วยใน 1 กิโลกรัมราคา 100 บาท หากปล่อยให้มีการทำประมงแบบนี้ จะส่งผลต่อสัตว์น้ำขนาดเล็ก และการปฏิบัติตามกฏหมายนี้อาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะกระทำผิดตามกฏหมาย แต่กรมประมงไม่สามารถตรวจจับเอาผิดได้

“มีคนเขานินทา เขาบอกว่าถ้าจะทำแบบนี้ต้องไปจ่ายตรงนั้นตรงนี้ อันนี้ผมไม่ได้พูด ผมฟังเขาพูดกันมาเขานินทากันว่าเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นการออกกฏหมายข้อนี้จะบังคับได้หรือไม่” นายเศรณีกล่าว

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ชี้แจงว่า ปลากะตักเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็กที่มีอายุขัย1ปี ซึ่งสัตว์น้ำจะเกิดใหม่อย่างรวดเร็วหากมีการบริหารจัดการที่ดี ทุกปีกรมประมงเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อประมวลจำนวนสัตว์น้ำในท้องทะเล แบ่งสัตว์น้ำเป็น3กลุ่ม สัตว์หน้าดิน -ปลาผิวน้ำ -ปลากะตัก ซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการพบว่า1 ปีจับได้ 2.1 แสนตัน และมีการนำไปพิจารณาออกใบอนุญาตจับสัตว์น้ำ โดยกรมประมงจะต้องนำข้อมูลทั้งหมดไปขอความเห็นชอบและกลับมาสู่กระบวนการตามกฏหมาย วิธีประเมินประสิทธิผลทางกฎหมาย คือการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง หากผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นว่ายังไม่มีข้อมูลเพียงพอ จำเป็นต้องใช้การทดลองทางวิชาการหรืออิงจากสถาบันใดเข้ามาช่วยก็ต้องมีการช่วยกันเพื่อนำทรัพยากรอันมีค่ามาใช้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เป็นการเสนอจากพรรคการเมืองและครม.ผ่านกลไกของรัฐสภา เป็นการสร้างบริบทในการยอมรับ บริบทของประเทศไทยในการใช้ทรัพยากร และไม่ได้ขัดต่อพันธะกรณีระหว่างประเทศ และมั่นใจว่าการบังคับใช้กฎหมายสามารถดำเนินการได้ตามที่มีการแก้ไขปรับปรุง

จากนั้นที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นด้วย 165  ไม่เห็นด้วย 11 งดออกเสียง 7 ไม่ลงคะแนน1 โดยตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณา 21 คน แปรญัตติภายใน 7 วัน ทั้งนี้ใน กมธ.วิสามัญฯ ไม่ตัวแทนจากภาคประชาชนตามข้อเรียกร้องของกลุ่มประมง โดยระบุว่าจะตั้งเป็นที่ปรึกษากมธ.ฯ

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img