‘กมธ.มั่นคงแห่งรัฐฯ‘ ดักคอรอข่าวดีถก ‘บอร์ดกฟภ.’ 29ม.ค.นี้ หวังเคาะมาตรการเฉียบขาดตัดไฟฟ้า ‘ประเทศเพื่อนบ้าน’ ทลายต้นตอ ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ ปัญหาเรื้อรังตามแนวชายแดน เชื่อกู้ภาพลักษณ์ศักดิ์ศรีประเทศได้
วันที่ 23 ม.ค.2568 เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมกมธ.ฯ ที่มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการฟอกเงิน การใช้บัญชีม้าในกระบวนการยาเสพติดที่เชื่อมโยงกับอาชญากรรม แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ รวมถึงการขายไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านว่า ในประเด็นการขายไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านมี17จุดสำคัญที่มีการขายไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งใน17จุดดังกล่าวนี้มีหลายจุดอยู่ในฝั่งประเทศเมียนมา อาจมีความสงสัยเชื่อมโยงเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขบวนการยาเสพติดหรือไม่ โดยเฉพาะ2จุดสำคัญ คือ 1.การขายไฟฟ้าจากชายแดนแม่สอด จ.ตาก ไปยังเมียวดี เมียนมา และ2.การขายไฟฟ้าจากอ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปยังท่าขี้เหล็ก
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า สำหรับจุดแรกทางฝั่งแม่สอด กมธ.ฯได้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับบริษัทคู่สัญญากับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) คือบริษัทเอสเอ็มทีวาย มีบุคคลสำคัญระดับคีย์แมนของบริษัทนี้คือพ.ต.ติ่งวิน เป็นบุคคลระดับแกนนำของกองกำลังพิทักษ์ชายแดนเมียนมา(BGF) หรือกลุ่ม KNA ที่มีพ.ท.หม่องชิตตู่ เป็นแกนนำคนสำคัญ โดยกองกำลังดังกล่าวมีบทบาทสำคัญคือให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์มาเช่าพื้นที่ทำการที่เมียวดี ดังนั้นบริษัทเอสเอ็มทีวาย น่าจะมีความเชื่อมโยงกับกองกำลังที่ดูแลพื้นที่เมียวดี แทบไม่ต่างอะไรกับการที่ กฟภ.ทำสัญญาขายไฟฟ้าให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์โดยตรง ส่วนจุดที่สองทางฝั่งแม่สายฯ กฟภ. มีการเปลี่ยนคู่สัญญาเป็นบริษัทใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ตามที่ กฟภ.ท่าขี้เหล็กเสนอมา คือบริษัทแอสตร้า อิเล็กทริค ที่มีจุดน่าสงสัยคือมีทุนจดทะเบียนเพียง1ล้านบาท แต่เบื้องต้นยังไม่มีการทำสัญญากับกฟภ. แต่เหตุใด กฟภ. ถึงยอมให้ กฟภ.ท่าขี้เหล็กเสนอบริษัทคู่สัญญาเข้ามา น่าจะใช้อำนาจตรวจสอบก่อน เนื่องจากมีข้อสงสัยว่ามีการขายไฟฟ้าให้นอมินีกลุ่มว้า ที่เป็นเครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่
นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า กมธ.ฯพยายามสอบถามแนวทางการการแก้ไขปัญหา ได้รับคำตอบว่า กฟภ.ไม่มีข้อมูลชี้แจงในลักษณะที่จะมีการตัดไฟเลย ดังนั้นในวันที่29ม.ค.นี้ จะมีการประชุมบอร์ด กฟภ. เพื่อหารือในเรื่องนี้ คาดว่าจะออกได้ทั้ง 3แนวทาง คือ 1.กฟภ. อาจคงสภาพการขายไฟฟ้าต่อไป โดยไม่สนใจว่าจะตกไปอยู่กับใคร 2.อาจมีการต่อขยายสัญญาบางส่วน โดยเฉพาะบริษัทเอสเอ็มทีวายที่สัญญาใกล้จะหมดลง และ3.มีการตัดไฟเพื่อไม่ให้ไปตกอยู่กับเงื้อมมือของอาชญากรข้ามชาติ ทั้งนี้ เหตุผลหนึ่งที่ กฟภ. มีท่าทีที่ยังไม่อยากตัดไฟในทันที เนื่องจากเป็นเพียงหน่วยงานไฟฟ้า รู้เพียงข้อมูลขายไฟฟ้า แต่ไม่มีศักยภาพพอที่จะทราบว่าไฟที่จ่ายไปจะตกไปอยู่ในมืออาชญากรข้ามชาติหรือไม่ จึงต้องรอให้หน่วยงานความมั่นคง อย่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ช่วยชี้จุดให้ ซึ่งสมช. ยอมรับว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกระทบกับความมั่นคง สมช.จึงต้องการเข้าร่วมประชุม กับบอร์ด กฟภ. ในวันที่29ม.ค. เพื่อให้ข้อมูลความเห็น และกมธ.ฯต้องการให้ กฟภ.รับฟัง เพราะข้อมูลค่อนข้างชัด รวมถึงกฟภ.ยังขอข้อมูลที่เมียนมาออกแถลงการณ์ ว่า สแกมเมอร์ยังคงอยู่ได้เพราะประเทศไทยขายไฟฟ้าให้ กมธ.ฯ จึงคาดหวังว่า วันที่29ม.ค.นี้ จะมีข่าวดี จะมีการตัดไฟเพื่อให้ขบวนการอาชญากรข้ามชาติโดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ่อนแอลง
นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันในที่ประชุมกมธ.ฯ ยังได้สอบถามเกี่ยวกับท่าเรือข้ามแดนจากฝั่งเมียนมามาไทย ที่จ.ตาก มีทั้งสิ้น59ท่า ถือว่าเป็นจำนวนมาก หน่วยงานความมั่นคงยอมรับว่าดูแลได้ยากลำบาก ส่งผลให้เกิดการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย จึงเห็นพ้องต้องกันว่าน่าจะมีการลดจำนวนท่าเรือข้ามแดนลงให้น้อยกว่าปัจจุบัน ส่วนจะต้องลดลงเท่าใด จะต้องมีการหารือกันต่อไป ซึ่งกมธ.ฯก็จะติดตามเรื่องนี้ นอกจากนี้ กมธ. มีมติตั้งคณะอนุ กมธ. เพื่อพิจารณาญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรศึกษากลไกการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาต่อผู้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการนำพาและขบวนการค้ามนุษย์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และบัญชีม้า เพื่อพิจารณาศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อนำข้อเสนอต่าง ๆ โดยมีนายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคประชาชน ในฐานะเลขานุการ กมธ.ฯ เป็นประธานคณะอนุ กมธ.
นายชุติพงศ์ กล่าวว่า ล่าสุดทราบข่าวว่าทางรัฐบาลเมียนมา ระบุว่า แก๊งสแกมเมอร์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่เติบโตขึ้นตามแนวชายแดน เกิดมาจากประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลไทยไม่ควรนิ่งเฉย ต้องปกป้องศักดิ์ศรีประเทศ แสดงความจริงใจแก้ปัญหา คณะอนุ กมธ. จะทำแนวทางข้อเสนอในการแก้ปัญหาเพื่อเสนอต่อรัฐบาล รวมถึงการเสนอกฎหมาย เพราะความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะคนไทย แต่คนทั่วโลกเสียหาย การท่องเที่ยวไทยเสียหาย ดังนั้น เป็นวาระเร่งด่วนที่เราจะต้องจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง หวังว่าคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยที่ควบคุม กฟภ. ใช้โอกาสนี้ในการเร่งรัดดำเนินการ อย่าให้คนไทยหรือใครต้องตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งเรื่องเงินและการค้ามนุษย์