วันพฤหัสบดี, มกราคม 23, 2025
หน้าแรกNEWS“ผู้พิพากษา” กังวลหลักสูตร “บ.ย.ส.” ลดความน่าเชื่อถือองสำคัญ เอื้อระบบอุปถัมภ์
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ผู้พิพากษา” กังวลหลักสูตร “บ.ย.ส.” ลดความน่าเชื่อถือองสำคัญ เอื้อระบบอุปถัมภ์

‘กมธ.พัฒนาการเมืองฯ’ ถกหน่วยงานเกี่ยวข้องยกเลิกหลักสูตร บ.ย.ส.-วปอ.-วตท. หวั่น เอื้อระบบอุปถัมภ์ ด้าน ‘พิพากษา’ ชี้ ความน่าเชื่อถือเป็นเรื่องสำคัญของอาชีพนี้-ถ้าไม่มีพวกจะเป็นกลางได้อย่างสนิทใจ

วันที่ 23 ม.ค.2568 เวลา 13.00 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) เป็นประธาน กมธ.ฯ วาระ พิจารณาข้อเสนอยกเลิกหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) และกำหนด ไม่ให้ผู้พิพากษาเข้าร่วมอบรมหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเมืองการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย (ปปร.) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) หรือหลักสูตรอื่นในลักษณะเดียวกัน

โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจงดังนี้ 1.นายกรัฐมนตรี 2. ประธานศาลฎีกา 3. ผู้อำนวยการหลักสูตร บ.ย.ส. 4.ผศ.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง 5.ศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ 6. นายบุญเขตร์ พุ่มทิพย์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลางช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา กรรมการบริหารศาลยุติธรรม และ 7.นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล ผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการตุลาการ

โดยนายบุญเขตร์ กล่าวว่า ยังมีผู้พิพากษาอีกหลายท่านที่มีความกังวลในเรื่องนี้ แต่เชื่อว่ามีจำนวนเกินครึ่ง การเป็นผู้พิพากษาต้องทำด้วยความสุจริตปราศจากอคติเป็นกลาง การทำงานในลักษณะนี้เราจะรู้อยู่แกใจเพียงอย่างเดียวไม่ได้แต่ต้องให้สังคมรู้ด้วย จึงจะนำมาซึ่งความเชื่อถือ และความน่าเชื่อถือถือเป็นเรื่องสำคัญมากของอาชีพผู้พิพากษา

ด้านอนุรักษ์ กล่าวว่า จากที่ตนเคยเรียนหลักสูตรเหล่านี้ ก็ได้เห็นความแตกต่างของแต่ละหลักสูตร ซึ่งก่อนที่จะมีหลักสูตรเหล่านี้ ความฉุดฉาดของผู้พิพากษานั้นมีน้อยกว่าปัจจุบันมาก แต่คนที่รู้เขาจะยกมือไหว้ แต่ปัจจุบันนี้มีผู้พิพากษาจำนวนไม่น้อยกลับมีแบรนด์เนมเหมือนนักการเมือง รู้สึกเป็นความนิยมด้วยซ้ำ สมัยนั้นมีการตัดสินคดีอย่างเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศ แต่ในปัจจุบันคำพิพากษาที่มีหลักคิด คมๆ เช่นนั้นหาได้ยาก เพราะหลังจากที่เราไหลไปร่วมกับผู้คนในบริบทสังคมมากขึ้น ลักษณะการทำงานก็กลายเป็นรูทีนมากขึ้น ไม่มีมุมมองที่แตกต่าง การที่เราอยู่แบบเก็บตัว กลายเป็นเราอยู่นิ่งแล้วมองสังคม เห็นสังคมหลากหลายมิติ กลายเป็นเมื่อเราไม่มีพวก เราก็สามารถเป็นกลางได้อย่างสนิทใจ นี่เป็นที่มาของการเสนอเรื่องนี้เพราะมีประสบการณ์ตรงในเรื่องประโยชน์บุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งอาจจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายสังคมชนชั้นสูง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ หากปล่อยให้สังคมของศาลกลมกลืนไปกับสภาพสังคมเช่นนี้ โดยที่ผู้พิพากษาไม่มีความเป็นกลาง ผลก็จะตกอยู่ที่สังคม

ขณะที่นายพริษฐ์ กล่าวว่า เรื่องหลักคือข้อกังวลในมุมหากอยากให้ผู้พิพากษา สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นธรรม เที่ยงตรงจริงๆ ควรจะมีการส่งเสริมในหลักคิด ที่ไม่อยากให้ผู้พิพากษา เข้าสังคมร่วมกับคนที่ผู้พิพากษาจะต้องเข้าไปตัดสิน แต่เมื่อมีหลักสูตร บ.ย.ส.นี้ เข้ามา ก็กลายเป็นทำให้ผู้พิพากษา สามารถใกล้ชิดกับบุคคลภายนอกมากขึ้นไปโดยปริยาย อีกทั้งหลักสูตรเช่นนี้ ยังมีบางอย่างที่สุ่มเสี่ยง รวมไปถึงประโยชน์ส่วนรวมที่ได้ อาจไม่ได้มากเท่าประโยชน์ส่วนตนที่ผู้เรียนได้ ตลอดจนวัฒนธรรม ที่อาจไปขัดต่อหลักการที่ควรจะเป็นในระบบยุติธรรม

ผศ.ดร.เข็มทอง กล่าวว่า การดำรงตนของผู้พิพากษาเป็นเรื่องสำคัญมาตั้งแต่โบราณ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคติ 4 ก่อนลงมูลคดี เพราะนอกจากจะต้องมีความรู้แล้ว ความไม่ลำเอียงก็เป็นเรื่องสำคัญ แม้จะไม่ใช่เรื่องคอร์รัปชันหรือทุจริต แต่ก็เป็นเรื่องที่อาจขัดกันจนนำไปสู่เรื่องนั้นได้ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่ทำหรือไม่ทำอะไร แต่คือมุมมองภายนอกของคนที่มองเข้ามา ว่าเขาเป็นอย่างไร

ผศ.ดร.เข็มทอง ยกตัวอย่าง เครือข่ายชนชั้นสูง ที่ชี้ให้เห็นถึงเครือข่ายที่จะส่งผลให้การช่วงชิงอำนาจรัฐ หรือเข้าถึงได้มากกว่าประชาชน ทั่วไป รวมถึงยังมีกรณีที่มีบุคคลสำคัญเข้าไปเรียน จนต้องมีคนวิ่งเต้นเพื่อให้ได้เข้าไปเรียนร่วมกันนั้น ความยุ่งยากของเรื่องนี้ คือเราไม่สามารถคัดกรองคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน จากหลักสูตรออกไปได้

ฉะนั้น จึงทำให้เกิดปัญหาในภาพรวม ตัวอย่าง ปี 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยมีมติคณะรัฐมนตรี และมีการส่งหนังสือเวียน สั่งข้าราชการไปเรียนหลักสูตรพิเศษ และจัดทำหลักสูตรพิเศษ ซึ่งสุดท้ายไม่สำเร็จ เนื่องจากเป็นเพียงการกำชับให้ระมัดระวังในเรื่องการคัดเลือก สะท้อนให้เห็นว่า เครือข่ายเหล่านี้มีพลังมาก เพราะขนาดคนที่กุมอำนาจสูงสุดในประเทศ อย่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อมาชนกับเครือข่ายชนชั้นนำแล้ว ก็ถอย ไม่กล้าไปรื้อเครือข่าย ยิ่งเมื่อลงลึกไปดูในหลายๆ หลักสูตร ก็มักจะเจอผู้สอนคนเดียวกัน บางคนเข้ารุ่นแรก เป็นผู้เรียน แต่เมื่อถึงรุ่นสอง กลับมาเป็นผู้สอน

ขณะที่ การลงโทษผู้พิพากษา ก็ไม่มีการประกาศข้อมูลว่า ทำอะไรผิด อย่างมากก็ประกาศชื่อถอดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังนั้น หากต้นทางไม่รักษาความเป็นกลางให้ดี ศาลก็แทบจะไม่มีกลไกในการแก้ตัว หรือยืนยันในความเป็นกลางของตัวเองเลย และทำให้หลักสูตรนี้ขัดกับจริยธรรมตุลาการ เพราะต้องยอมรับว่า หลักสูตรนี้ส่งผลต่อสถาบันผู้พิพากษาทั้งสถาบัน ดังนั้น ข้อเสนอในการทบทวนการมีอยู่ของหลักสูตรนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

นายบุญเขตร์ กล่าวชี้แจงว่า ในระบบประชาธิปไตย ความโปร่งใส การตรวจสอบเป็นเรื่องสำคัญมากโดยเฉพาะศาล เพราะจะได้รู้ว่าศาลเราทำหน้าที่ตามอุดมการณ์ของผู้พิพากษาหรือไม่ ซึ่งตนมองว่าหลักสูตรเหล่านี้มีความจำเป็นสำหรับผู้ที่จะเจริญเติบโตในส่วนของพลเรือน ไม่ใช่ผู้พิพากษา และผู้พิพากษาส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับหลักสูตรดังกล่าว นอกจากนี้ ตนก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้งบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชนไปใช้ในหลักสูตรดังกล่าว ซึ่งตนเคยเข้าไปแสดงแนวคิดที่จะไปยกเลิกหลักสูตรเหล่านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าหลักสูตรนี้บางครั้งอาจจะเป็นรางวัลสำหรับอะไรหลายๆ อย่างในองค์กรหรือเป็นเครื่องมือบางอย่าง ทั้งนี้ การที่ตนเสนอจะยกเลิกหลักสูตร บ.ย.ส.ไปจะมีการนำเข้าที่ประชุม บ.ย.ส.ในวันที่ 27 มกราคมนี้ แต่ไม่ทราบว่าจะมีใครหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหรือไม่ โดย บ.ย.ส.หรือหลักสูตรอะไรก็ตาม ข้าราชการ อัยการ ทนาย หรือชาวบ้าน ไม่สามารถมาเรียนกับผู้พิพากษาได้ ซึ่งไม่ใช่เพราะผู้พิพากษาดีหรือสำคัญกว่าคนอื่น แต่เพราะในอนาคตอาจจะมาเป็นคู่ความกันได้

นายอนุรักษ์ กล่าวถึง เรื่องอำนาจแฝงในการตัดสินใจ เนื่องจากผู้พิพากษาจะมีโควตาตามศาล และเป็นดุลพินิจของผู้มีอำนาจ ว่าจะให้ใครเข้าอบรม จุดเริ่มต้นหลักสูตร จากราชการ มากลายพันธุ์เป็นเอกชนร่วมกับรัฐ ตอนหลังก็มีภาคการเมืองร่วมด้วย ซึ่งก็มีหลายคนถามตนเข้ามาว่า สามารถปรับให้มีจำนวนผู้พิพากษาเรียนมากขึ้นได้หรือไม่ ไม่ต้องยกเลิกก็ได้ ตนจึงตอบกลับแค่เพียงว่า เราควบคุมผู้มีอำนาจไม่ได้ เนื่องจากเขาเป็นคนตัดสินใจ สิ่งที่ดีที่สุด คือต้องเลิกไปเลย เพื่อไม่ให้หลงเหลือดุลพินิจอยู่

นายพริษฐ์ จึงถามถึงจำนวนงบประมาณต่อปี และโมเดลนี้ มีการอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดินทั้งหมดหรือไม่ หรือมีบางส่วนที่ผู้เข้าเรียนจ่ายเอง และมีเกณฑ์หรือไม่ ในกรณีผู้พิพากษาที่เรียนร่วมกับผู้บริหารบริษัทใดๆ แล้วจะต้องตัดสินคดีของบริษัทนั้น จากถูกห้ามไม่ให้พิพากษาหรือไม่

นายบุญเขตร์ ชี้แจงว่า ปกติในจำนวนผู้เรียน 90 คน จะมีการของบประมาณ 21 ล้านบาท แต่จำนวนล่าสุดอยู่ที่ 109 คน จึงไม่ทราบว่ามีการจัดสรรงบเพิ่มเติมมาอย่างไร ของจำนวนที่เพิ่มขึ้นอีก 20 คน หรือมีระบบการคัดเลือกเข้ามาอย่างไร เนื่องจากตนเองถูกกันไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงไม่ทราบ

นายอนุรักษ์ กล่าวว่า ไม่มีหลักเกณฑ์ที่จะห้ามผู้ที่เรียนร่วมกัน ไม่ตัดสินคดีกัน แต่มีกฎหมายและประมวลจริยธรรมในเรื่องนี้อยู่ ว่าไม่พึงพิจารณาคดีกับคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง และควรถอนตัว โดยเฉพาะคดีอาญาทางการเมือง ที่เคยมีข้อครหาในเรื่องนี้ ดังนั้น จึงเป็นสำนึกของแต่ละคนที่เห็นว่าจะเกิดข้อครหามากน้อยเพียงใด แต่ที่ยิ่งร้ายกว่านั้น เมื่อผู้ที่อยู่ในหลักสูตร ผู้เป็นเจ้าของสำนวน หรือเป็นองค์คณะ โดยที่องค์คณะอื่นไม่รู้ จนทำให้เพื่อนกลายเป็นเครื่องมือไปด้วย

ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวว่า ตนในฐานะที่เคยเรียนหลักสูตรนี้ ในสมัยที่ยังไม่มีเอกชนเข้าร่วม มีความกังวลในรุ่นหลังๆ คือ ผู้เรียนที่เข้าร่วมมีจำนวนมากขึ้น รวมถึงมีกิจกรรมทางสังคมจำนวนมาก ตนก็ไม่แน่ใจว่า การแลกเปลี่ยนความสนใจ มุมมองทางกฎหมาย ได้ประโยชน์จริงหรือไม่ แต่หากคงสปีริตของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไว้ให้พอเหมาะพอสมได้ ตนก็มองว่ายังสามารถใช้ได้อยู่ ส่วนในฝ่ายบริหาร เคยหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือกันหรือไม่นั้น ตนยังไม่เคยได้ยินการพูดคุยกันในระดับนโยบาย

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img