‘มท.1’ ยันมีมาตรการเข้มแก้ฝุ่นพิษ เผย15 จังหวัดประกาศเขตห้ามเผา ฮึ่มขู่ ‘ผู้ว่าฯ’ หากปล่อยปละ ต้องถูกเด้งเข้ามาอบรมที่กระทรวง หนุน ‘หน่วยงานรัฐ-เอกชน’ ทำงานที่บ้าน เตรียมให้ ‘ปภ.’ หาเครื่องจักร-น้ำมัน ช่วยชาวบ้านฝังกลบแทน
วันที่ 24 ม.ค.2568 ที่กระทรวงมหาดไทย(มท.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยว่า กระทรวงมหาดไทยมีมาตรการอยู่แล้ว โดยผู้ว่าราชการ 15 จังหวัดได้มีการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ห้ามเผา ให้ใช้วิธีฝังกลบ ซึ่งมันไม่ใช่เหตุการณ์ใหม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบอยู่แล้วว่าเมื่อพ้นเดือนธันวาคม ต้องเตรียมรับมือในเรื่องดังกล่าว ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ก็มีการดำเนินการอยู่แล้ว ส่วนกรุงเทพมหานครขอความร่วมมือในการใช้รถ ถ้าใช้ให้น้อยลง มีมาตรการเวิร์คฟอร์มโฮม ลดฝุ่นในสถานที่ก่อสร้าง ถ้าคอนโทรลเรื่องพรุ่งนี้ได้ปริมาณฝุ่นจะลดลง
เมื่อถามว่าในระยะยาวจะแก้ปัญหาอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ยอมรับว่า เป็นเรื่องของธรรมชาติจะห้ามไม่ได้ แต่สามารถบอกคนได้ เช่น ลดการใช้รถยนต์ แต่ให้ใช้รถขนส่งสาธารณะ เหมือนสมัยโควิด 2-3 อาทิตย์ มลพิษจะลดลงผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องใช้มาตรการอย่างเข้มข้น ไม่ใช่แค่เพียงแปะป้ายเตือนไม่ให้เผา แต่ต้องมีมาตรการ เช่นการปรับ หรือบังคับใช้กฎหมาย ถ้าแจ้งเตือนแล้ว ยังไม่เลิกต้องส่งดำเนินคดี ให้หลาบจำ ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาเรามีการปลูกต้นไม้และใช้พลังงานสะอาด จนจะล้นเกิน 3,600 เมกะวัตต์ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเตรียมการลดมลพิษ และไปร่วมกับปฏิญญา สหประชาชาติในการลดโลกร้อน ลดขยะ ตอนนี้ต้องขอความร่วมมือประชาชน และขออนุญาตใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น
เมื่อถามว่าในวันที่ 29 ม.ค.นี้ จะมีการประชุมเปิดศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน นายอนุทิน กล่าวว่า จะเป็นการประชุมถอดบทเรียนและนำไปปฏิบัติ ขณะที่จังหวัดทางภาคกลางก็จะมีการดำเนินการในลักษณะเช่นเดียวกันกับทางภาคเหนือ ที่ไม่ให้มีการเผาซากเศษวัสดุทางการเกษตร และต้องมีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเกษตร ให้เป็นพืชล้มลุก เพื่อไม่ให้มีการเผา ซึ่งจะมีการหารือกับอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะให้ไปช่วยชาวบ้านในการฝังกลบ เพราะเป็นภาวะฉุกเฉิน จะใช้งบฉุกเฉินในแต่ละจังหวัดไปช่วยเติมน้ำมัน จัดหาเครื่องจักร ให้เกษตรกรฝังกลบแทนการเผาหน้าดิน ขณะนี้ทุกจังหวัด ได้มีการกำหนดช่วงวันห้ามเผา ถ้าใครเผาถือว่าผิดกฎหมาย
นายอนุทิน ยังกล่าวถึง จุดฮอตสปอตในประเทศเพื่อนบ้านที่ยังสูงอยู่ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเจรจากันมาหลายปีแล้ว รวมถึงมีการหยุดซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่ซื้อมาจากเพื่อนบ้าน
ซึ่งมีการโวยวาย แต่โวยก็โวยไป หน้าที่นี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ บางทีเราทำอะไรหนัก เขาบอกให้เบา เพราะถ้าตนทำอะไร หนักอยู่แล้ว แต่ตนก็ต้องรับฟัง เช่น เรื่องเขาจับคนของเราไป เราก็จับคนของเขาจำนวนมากแต่ก็มีการขอมาให้เบาๆหน่อยเพราะมีการเจรจาอยู่
นายอนุทิน ยังกล่าวถึงการเวิร์คฟอร์มโฮมว่า สิ่งที่ดีที่สุดคือการให้หน่วยงานต่างๆรับรองให้พนักงาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในสมัยโควิดได้มีการล็อคดาวท์ประเทศแล้วเวิร์คฟอร์มโฮม ประสิทธิภาพงานนั้นสูงขึ้นกว่าเดิม ส่วนจะต้องให้หน่วยงานประกาศหรือไม่นั้น กรอบเดิมของการเวิร์คฟอร์มโฮมในสมัยโควิดนั้นยังอยู่ ไม่เกี่ยวกับว่ากล้าหรือไม่กล้า ปัจจุบันต้องดูประสิทธิภาพของงานเป็นหลัก อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ไม่มีปัญหา ขณะเดียวกันในฐานะที่ตนกำกับดูแลกระทรวงแรงงานได้ประสาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ขอความร่วมมือนายจ้าง ให้พนักงานเวิร์คฟอร์มโฮม
เมื่อถามถึงกรณีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาระบุ การแก้ปัญหาฝุ่นในกทม. ต้องขอความร่วมมือจังหวัดปริมณฑลด้วย ซึ่งพบว่าจังหวัดนครนายก ยังมีการเผาอยู่ และเมื่อได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่รู้จะแก้อย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงไหน คงไม่ใช่เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยเพราะกระทรวงมหาดไทย ติดต่อผู้ว่าราชการจังหวัด คงติดต่อเจ้าหน้าที่ทุกระดับไม่ได้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยออกคำสั่งไปนานแล้วให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดในเรื่องของการเผา
“ถ้ายังเผาอยู่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องถูกย้าย ซึ่งจังหวัดนครนายก สระบุรี พระนครศรีอยุธยาก็เป็นจังหวัดที่มีการประกาศ ถ้ายังปล่อยให้มีการเผา ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องมาเข้าห้องอบรมที่กระทรวงมหาดไทยสักพัก” นายอนุทินกล่าว