วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 13, 2025
หน้าแรกHighlight‘ปชน.’ซัด‘พรรคร่วมรัฐบาล’ทำสภาฯล่ม สะท้อนรอยร้าวขวางแก้ไขรัฐธรรมนูญ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘ปชน.’ซัด‘พรรคร่วมรัฐบาล’ทำสภาฯล่ม สะท้อนรอยร้าวขวางแก้ไขรัฐธรรมนูญ

‘ปชน.’ แถลง ซัด ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ เซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่กดแสดงตน ทำสภาฯ ล่ม สะท้อนรอยร้าว ขวาง ‘แก้ รธน.’ จี้ ‘นายกฯ’ แสดงภาวะผู้นำคุมเสียงให้ได้

วันที่ 13 ก.พ. 2568 เวลา 12.30 น.ที่รัฐสภา พรรคประชาชน นำโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน แถลงภายหลังที่ประชุมรัฐสภาล่มเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ในวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พุทธศักราช … (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ว่า ยืนยันว่า รัฐสภามีอำนาจเต็ม ในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ซึ่งจากทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็วินิจฉัยอย่างชัดเจนว่า เราสามารถที่จะเดินหน้าแก้ไขมาตรา 256 ได้ในทันที อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็ไม่รับวินิจฉัย ในข้อสงสัยเรื่องของการทำหน้าที่ของรัฐสภาที่เกิดผลขึ้นแล้ว และการลงมติในญัตติแรก ที่จะมีการเลื่อนหรือไม่เลื่อน ในการพิจารณาว่าจะส่งไปศาลรัฐธรรมนูญก่อนหรือไม่นั้น ผลของการลงมติก็ออกมาแล้วว่า ให้รัฐเดินหน้าต่อในการพิจารณาร่างแก้ไขที่พรรคประชาชนได้เสนอเข้ามา แต่ปรากฏว่า ขณะที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในญัตติดังกล่าว ในการประชุมวาระที่หนึ่งของร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 นี้ มีการเสนอให้นับองค์ประชุม ซึ่งก็มีเพื่อนสมาชิกรัฐสภายู่ในห้องประชุม จากสายตาตนเชื่อว่า มีจำนวนมากกว่าคนที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอ ก่อนที่ประธานรัฐสภาจะสั่งปิดการประชุม

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ตนเชื่อว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า มีเพื่อนสมาชิก โดยเฉพาะจากฝั่งรัฐบาลเอง ไม่กดแสดงตน ไม่เป็นองค์ประชุม ทั้งที่นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้พูดไว้ในห้องประชุมว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะเป็นองค์ประชุมในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญวันนี้  เป็นสิ่งสำคัญ ที่นายกรัฐมนตรี จะต้องแสดงให้เห็นถึงการควบคุมเสียงของฝั่งรัฐบาลเอง เนื่องจาก ผมเชื่อว่าถ้านายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนราษฎรอยู่ในห้องประชุมด้วย รวมถึงสามารถควบคุมเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลได้ วันนี้เราจะสามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ขณะเดียวกันได้รับข้อมูลมาเพิ่มเติมมาว่า ถึงแม้วันนี้จะมีการปิดประชุมเร็ว แต่ว่าในวันพรุ่งนี้ประชุมอีกครั้งหนึ่ง และมีการขอให้ลงชื่อเข้าไปร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง

“ผมอยากให้ทุกคนช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องให้ทางฝั่งรัฐบาล โดยเฉพาะยิ่งพรรคเพื่อไทย และนายกรัฐมนตรี ช่วยกำกับดูแล ในส่วนของเสียงฝั่งรัฐบาลมาเข้าร่วมประชุมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ ให้เป็นองค์ประชุมอย่างพร้อมเพรียง เพราะอย่างน้อยๆ ผมคิดว่าการเห็นด้วยหรือการไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 อย่างไร ก็ควรจะต้องเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในสภาก่อน หากมีข้อกังวลกับการลงมติจริง ภายหลังการเปิดอภิปรายเสร็จแล้ว ค่อยมาตัดสินใจก่อนที่จะลงมติอีกครั้งก็ยังได้ ไม่ควรที่จะเซ็นเซอร์อำนาจตัวเอง ถึงขนาดที่ว่าไม่กล้าให้เพื่อนสมาชิกรัฐสภา ไม่สามารถอภิปรายในรัฐบาลแห่งนี้ได้”หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าว

เมื่อถามถึงความจริงใจของพรรคเพื่อไทยในการแก้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากก็มี สส.ของพรรคเพื่อไทยหลายคนร่วมลงชื่อสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า มีร่างของพรรคเพื่อไทยเสนอเข้ามาด้วย เพราะฉะนั้น ตนจึงยังค่อนข้างมีความสับสนว่า ในเมื่อมีร่างที่ทางฝั่งพรรคเพื่อไทยเสนอมาด้วย ทำไมถึงไม่มีการแสดงตน หรือว่าไม่มีการแสดงความชัดเจนว่า อยากจะเริ่มเดินหน้าต่อในวันนี้ ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความตกลงกันไม่ได้ หรือความมีรอยร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจะต้องแสดงให้เห็นถึงภาวะความเป็นผู้นำ และการควบคุมเสียงพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันให้ได้ ซึ่งในวันพรุ่งนี้ก็จะเป็นอีกโอกาสหนึ่ง ที่พรรคเพื่อไทยและนายกรัฐมนตรีเอง จะแสดงให้เห็นว่าสามารถควบคุมเสียงรัฐบาลได้จริง

เมื่อถามว่า ถ้าเดินหน้าพิจารณาต่อ พรรคประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่า จะได้เสียงเห็นชอบจาก สส.ฝั่งรัฐบาล และ สว. นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ด่านแรก ถ้าอ่านตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวันนี้เอง เราก็ได้พิมพ์ก๊อบปี้ในส่วนของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาแจกให้สมาชิกรัฐสภาทุกคนได้อ่านด้วย โดยระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่รับวินิจฉัยในเรื่องของข้อสงสัย และญัตติที่เสนอเข้าว่า จะส่งหรือไม่สามารถรู้ก่อนได้ สำหรับพรรคประชาชนเอง เราคิดว่าไม่จำเป็นต้องส่งศาล สามารถเดินหน้าต่อได้เลย ส่วนด่านที่ 2 ในเรื่องของการแก้ไขมาตรา 256 ร่างของพรรคเพื่อไทยและร่างของพรรคประชาชนมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งจริงๆในหลายๆ เรื่อง ตนเชื่อว่ายังสามารถไปพูดคุยกันได้ในวาระที่ 2 นะครับ และเรื่องที่มีเพื่อนสมาชิกรัฐสภาบางส่วน ไม่เห็นด้วยว่าจะให้มีการแตะหมวด 1 และ 2 หรือไม่นั้น ตนเชื่อว่ายังไม่เป็นสาระสำคัญในช่วงการลงมติของวาระที่ 1 เพราะฉะนั้น ถ้าดูโดยหลักการ การรับหรือไม่รับในวาระที่ 1 เราสามารถเดินหน้ารับหลักการได้ ไปถึงขั้นตอนในวาระที่ 2 และ 3 และหากถามถึงความเห็นของสมาชิกแต่ละฝ่าย ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในการเดินหน้าการแก้ไขนั้น สำหรับตนเอง ก็เป็นสิทธิ์ที่เขาจะลงมติ แต่อย่างน้อยๆ ควรเปิดให้มีการอภิปรายก่อน น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน

“ไม่อยากให้มองว่าเป็นการเมืองของคนดีหรือคนร้าย แต่ตนคิดว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประเทศในปัจจุบัน ที่เราตกอยู่ในหลุมดําของความรับผิดรับชอบ พูดง่ายๆ คือเราต้องการคนที่มีอำนาจใช้อำนาจของตัวเอง เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ แต่ผลปรากฏว่า สิ่งที่เราเห็นคือการเสนอญัตติเพื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง ดังนั้น เราต้องถามก่อนว่า ตกลงการมีอำนาจในการทำหรือไม่ทำนั้น สะท้อนให้เห็นว่า ตอนนี้เราตกอยู่ในภาวะที่ผู้มีอำนาจในรัฐ ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติ เรากำลังตกอยู่ในอุตสาหกรรมของความที่รัฐขาดความรับผิดรับชอบ ไม่กล้าใช้อำนาจตัวเอง ในขณะเดียวกัน เพราะว่าไม่กล้าที่จะรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจตัวเองเช่นเดียวกัน ดังนั้น เราก็อยากเรียกร้องไปยังทุกฝ่าย เนื่องจากตนเชื่อว่า สิ่งที่ประชาชนต้องการในตอนนี้ คือผู้ที่มีอำนาจในการกล้าที่จะตัดสินใจ ใช้อำนาจตัวเอง และพร้อมที่จะรับผิดชอบ”นายณัฐพงษ์ กล่าว

เมื่อถามว่ามองท่าทีสว.วันนี้อย่างไร นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ถ้าเราดูเมื่อช่วงเช้า ก็มีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แต่สุดท้าย หากถามว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน หรือว่าเสียงจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ก็จะต้องมีการลงมติก่อน แต่กระบวนการที่ผ่านมา มีเกมในสภาที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นว่า มีกระบวนการในการพยายามขัดขวาง เพื่อที่จะไม่ให้พวกเราเดินหน้าไปสู่การลงมติได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตนคิดว่า ประชาชนทุกคนไม่อยากเห็น

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img