“เลขากฤษฎีกา” เผย ร่าง Entertainment Complex อยู่ระหว่างฟังความเห็นประชาชนเพิ่มเติม ย้ำไม่เน้นการพนันแต่เน้นแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นตามนโยบายรัฐ รับมีแนวคิดเบื้องต้นจำกัดคนไทยเล่นกาสิโนต้องมีเงิน50ล้าน
วันที่ 18 ก.พ.2568 นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex ว่าขณะนี้การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในวาระที่ 2 เมื่อร่างกฎหมายที่เสร็จไปในเบื้องต้น ได้มีการพิจารณาในหลักการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้พิจารณาในวาระที่ 2 กันอยู่ และได้นำไปรับฟังความคิดเห็น จากประชาชนโดยทั่วไป ที่สามารถแสดงความคิดเห็นมาได้ แล้วจะนำมาประกอบการพิจารณา ในวาระที่ 2 ต่อไป พร้อมยอมรับว่าในขณะนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังเร่งจัดทำ ร่างกฎหมายดังกล่าว และจะดำเนินการได้ทันภายในกรอบ 50 วันที่ได้กำหนดไว้ก่อนหน้านี้
เมื่อถามถึงร่างของคณะกรรมการกฤษฎีกา มีสาระสำคัญ คือการป้องกันอบายมุข ซึ่งแตกต่างจากร่างเดิมหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า รายละเอียดทั้งหมดจะอยู่ในการพิจารณาวาระที่ 2 โดยสาระสำคัญจะอยู่ในวาระแรกที่ดูในหลักการก่อน ว่ามีหลักการอย่างไรบ้าง และจะต้องเติมเต็มในด้านใดบ้าง ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยการจัดทำร่างขณะนี้ กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นเจ้าของร่าง และอำนาจซุปเปอร์บอร์ดยังคง หลักการเดิม แต่จะมีการใส่รายละเอียดใหม่ ในกระบวนการต่างๆ เช่น ใบอนุญาตต้องดำเนินการอย่างไร จะต้องมีแผนการลงทุนต่างๆ
เมื่อถามว่ามีข้อเสนอให้คนไทยมีเงิน 50 ล้านบาท จึงจะสามารถเข้าใช้บริการได้ นายปกรณ์ กล่าวว่า เป็นแนวคิดเบื้องต้น ซึ่งประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ เป็นตัวเลขเบื้องต้นเท่านั้น และยอมรับว่าไม่อยากให้ประชาชนไปหมกมุ่น อยู่กับเรื่องแบบนี้ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้เอาเรื่องการพนันเป็นหลัก แต่เน้นแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นหลัก ซึ่งส่วนตัวคิดว่าถ้าใส่เรื่องนี้แน่นๆ ก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้คนไทย เล่นการพนันซึ่งเป็นสิ่งมอมเมาต่างๆเหล่านี้ได้ แต่ก็เข้าใจว่า นโยบายของรัฐบาลหลักก็คือแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ได้เน้นการพนัน ขณะที่การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามหลักการแล้ว จะมีอยู่ 2 เรื่อง ที่คล้ายกันอยู่คือ รับฟังความคิดเห็น กับเรื่องประชามติ “การรับฟังความคิดเห็น จะนำไปประกอบการพิจารณา ของฝ่ายนโยบาย เมื่อรับฟังความคิดเห็นแล้ว จะดำเนินการต่อไปอย่างไร แตกต่างจากประชามติ โดยประชามติจะเป็นไปในลักษณะที่ว่า ถ้ามีความคิดเห็นอย่างไรก็ตกลงตามนั้น ดังนั้นต้องแยกกันให้ออก อย่านำไปปนกัน เพราะขณะนี้สังคมได้นำไปปนกันหมดแล้ว ทั้งเรื่องรับฟังความคิดเห็น และเรื่องประชามติ ดังนั้นเป็นเรื่องที่แตกต่างกัน ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าว อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย และรัฐบาลยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการต่อ ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล และรัฐสภาที่จะพิจารณาตามรายละเอียด ว่าจะแก้ไข ตามที่เห็นสมควรอย่างไร”นายปกรณ์ กล่าว