ทุกข์ของชาวนา! “วุฒิสภา” ถกญัตติราคาข้าวตกต่ำ สว.รุมถล่ม “ก.พาณิชย์” ถามทำอะไรอยู่ “สว.เดชา” เปิดหน้าด่าแรง “พิชัย” เป็นขยะ! เจ็บใจ กล่าวหาชาวนาเป็น “ภาระ” บอก “รัฐบาล” ถ้าแก้ปัญหาแบบนี้ บอกไปเลยให้ยกเลิกทำนาทั้งประเทศ ด้าน “สว.เศรณี” ถามทำไมประเทศไทยเป็นแบบนี้ “เกษตรกร” เหมือนขอทาน ลงถนนทีต้องกราบไหว้ สุดท้ายกลายเป็นบุญคุณหาเสียง
วันที่ 3 มี.ค.2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา (สว.) ที่มีพล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม นายธวัช สุระบาล สว. เสนอญัตติขอให้วุฒิสภาพิจารณาปัญหาราคาข้าวตกต่ำ โดยนายธวัช เสนอหลักการว่า สถานการณ์ข้าวในปัจจุบัน ราคาตกต่ำลดลงอย่างรวดเร็ว แม้จะผลิตเข้าได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากอินเดียกลับมาส่งออกข้าว รวมถึงเวียดนามและปากีสถานยังลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ราคาขายข้าวในตลาดโลก นอกจากนี้ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าไทยได้ชะลอการซื้อข้าว หลังจากที่ราคาข้าวในสถานการณ์ต่ำกว่าที่ตกลงซื้อไว้
“ภาครัฐทำอะไรอยู่ คำแถลงของคณะรัฐมนตรีเมื่อ 12 ก.ย. 2567 ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ เป็นวจีกรรมที่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ตลาดในตลาดค้าข้าว เรายังจมอยู่ในวังวนเดิม รัฐบาลบอกว่าเราต้องการที่จะเห็นเกษตรกรนั้นทำเกษตรยุคใหม่ เป็นเกษตรยุคทันสมัย แต่ตัวเกษตรกรขาดทั้งการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างจริงจัง ขาดทั้งเทคโนโลยี เราต้องมองความเป็นจริงนะครับว่าเรามีพื้นฐานทางด้านการเกษตร หน้านี้นั้นก่อนหน้านี้นั้น เราพึ่งพาภาคอุตสาหกรรม ณ วันนี้ ย้ายฐานทั้งตลาดในประเทศและการย้ายฐานการผลิต เราไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว” นายธวัช กล่าว
นายธวัช กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างจริงจังตามเป้าหมายที่จะเป็นครัวไทยสู่ครัวโลก แต่เกษตรกรนั้นกำลังจะสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องหันกลับมามอง พร้อมตั้งคำถามว่า กระทรวงพาณิชย์ทำอะไรไปแล้วบ้างในการช่วยเหลือปัจจัยการผลิต ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง ค่าเครื่อง ขึ้นแล้วไม่ลง
“เมื่อก่อนนั้นมันอยู่ในวังวนของคำว่าประกันราคาข้าว จำนำข้าว สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราก็ไม่อยากให้มันเกิดขึ้น เพราะบิดเบือนกลไกตลาด เป็นการแทรกแซง ผมอยากถามว่าในเรื่องของตลาดทั้งในและต่างประเทศนี้ กระทรวงพาณิชย์ค่อยคุยหารือกับสมาคมผู้ค้าข้าว สมาคมโรงสี สมาคมผู้ส่งออก สมาคมข้าวถุงหรือไม่ เราจะมารณรงค์ให้คนกินข้าวกันมากขึ้น มันไม่ได้! ขณะที่เรารณรงค์เรื่องของสุขภาพ ลดการกินแป้ง แล้วข้าวเป็นแป้ง ให้กินผักเพื่อสุขภาพ แต่ชาวนากำลังจะตาย” นายธวัช กล่าว
นายธวัช ชำแหละปัญหาว่า นอกจากกระทรวงพาณิชย์แล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำอะไรบ้าง ต้องมาดูเรื่องเมล็ดพันธุ์ ตอนนี้ไม่มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิมาหลาย 10 ปีแล้ว เราต้องติดเขี้ยวเล็บให้เกษตรกร เมื่อก่อนนี้เวียดนามต้องมาดูพันธุ์ข้าวของไทย ตอนนี้น่าอับอายหรือไม่ครับ ไทยต้องไปดูการผลิตข้าวของเวียดนามแล้วว่าเขาล้ำหน้าเราไปเท่าไหร่ ส่วนมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติที่เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรังว่าเป็นการต่อลมหายใจให้กับเกษตรกร แต่สมควรจะทำหรือไม่ เพราะเป็นการช่วยเหลือที่ปลายเหตุ รัฐบาลทำอะไรอยู่
ด้านนายเดชา นุตาลัย สว.กลุ่มชาวนา อดีตประธานสภาเกษตรกรกรุงเทพฯ อภิปรายว่า กระทรวงพาณิชย์ไม่ควบคุมเลย รู้อยู่แล้วว่าต้นทุนการทำนาเท่าไหร่ แต่ไม่สนอกสนใจ ทุกอย่างต้องใช้เงินทั้งนั้น ตอนนี้ต้นทุนแพงใครเป็นคนทำ รัฐบาลทั้งนั้น ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ออกมาพูด
“ผมเป็นชาวนาผมก็เจ็บใจ ว่าเกษตรกรชาวไร่ชาวนาเป็นภาระ ผมเจ็บใจนะ ถ้าผมเป็นภาระ ท่านก็เป็นขยะแหละครับ ฝากไปกรอกหูด้วยนะ วันนี้ไม่มีอะไรกลัวกันแล้ว เพราะวันนี้อาชีพเราออกมาเต็มถนน เพราะการที่เขาตะลอนๆ ไม่สนใจปล่อยให้เป็นภาระดักดาน ไม่สนใจจริงจัง” นายเดชา กล่าว
นายเดชา กล่าวอย่างดุเดือดว่า ช่วยเกษตรกรตรงไหน มีแต่ช่วยนายทุนทั้งนั้น ชาวไร่ชาวนาได้อะไร ทำไมไม่ให้สิทธิ์ซื้อน้ำมันราคาถูก ไปควบคุมราคาเคมีภัณฑ์ เรื่องที่ควรแก้ไม่แก้ จะหวังให้ชาวไร่ชาวนาไทยไปพึ่งพิงลูกฟลุคจากเพื่อนบ้านหรือ เพื่อให้ชาวนามีกินมีใช้ ถ้าทำแบบนี้ ประกาศนโยบายมาเลยว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่เอาแล้ว ไม่ต้องให้ชาวนาทำนา ยกเลิกไปเลย
ขณะที่นายเศรณี อนิลบล สว.กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง อภิปรายว่า รัฐบาลขัดขวางการพัฒนาพันธุ์ข้าว ตั้งทุนจดทะเบียนไว้สูงลิ่ว กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ไหนจะไหว เมล็ดพันธุ์ข้าวท้องถิ่นต่างๆที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ต้านทานโรคและแมลงเยอะแยะ สิ่งเหล่านี้เป็นภาระของพี่น้องเกษตรกรทั้งสิ้น
“ผมไม่อยากจะเอ่ยชื่อกรมหนึ่งที่เกี่ยวกับข้าว ได้รับงบประมาณปีหนึ่งเฉียดหมื่นล้านบาท แต่ไม่มีปัญญาที่จะดูแลพี่น้องชาวนา ให้ประกอบอาชีพได้อย่างปกติ ไม่หนำซ้ำการต่อยอดงานวิจัยต่างๆ ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพี่น้องเกษตรกร ในการเอาข้าวแต่ละสายพันธุ์มาแปรรูป ก็ขาดการสนับสนุนส่งเสริม พอชาวนามาประท้วงมีปัญหา กระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการออกมา ถามว่ามาตรการที่ออกมา มันเป็นมาตรการเมื่อ 10-20 ปีแล้ว พอชาวนาประท้วงครั้งหนึ่ง ก็งัดมาตรการนี้ออกมา แล้วมันแก้ปัญหาได้หรือไม่ครับ ” นายเศรณี กล่าว
นายเศรณี กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า อย่าไปตีกินว่าประเทศอินเดียงดส่งออกข้าว แล้วก็เลยปลูกกันฉิบหายวายป่วงหมด สิ่งเหล่านี้ทำให้บ้านเรามีวงเวียนวัฏจักรอยู่แบบนี้ กระทรวงพาณิชย์ผูกขาดกับบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่เกิน 5 บริษัท
“พอเดือดร้อนทีก็ออกมาประท้วงกัน ไปเรียกร้องต่อรัฐบาลยิ่งกว่าขอทานอีกครับ พี่น้องเกษตรกรไทยเหมือนขอทาน พอไปขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลก็ตกเป็นบุญคุณกัน มันใช่หรือครับประเทศไทย พอรัฐบาลไปช่วยก็กลายเป็นนโยบายหาเสียง ถ้ามีความจริงใจคุณต้องออกนโยบายมาเลยว่าวันนี้ประเทศไทยควรจะปลูกข้าวพันธุ์อะไรบ้าง … ไม่ใช่ปล่อยให้มาอยู่กลางถนน ต้องมาเรียกร้อง ต้องมากราบไหว้ ประเทศไทย ทำไมถึงเป็นแบบนี้” นายเศรณี กล่าว
ท้ายที่สุด ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะและให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาส่งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป และมอบหมายให้คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรมนำไปพิจารณาศึกษาเพิ่มเติม