วันอังคาร, เมษายน 1, 2025
หน้าแรกHighlight‘นายกฯ’ยันไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำอ่าวเบงกอล บิมสเทค
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘นายกฯ’ยันไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำอ่าวเบงกอล บิมสเทค

‘นายกรัฐมนตรี’ ยืนยัน ไทย พร้อมเป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้นำ 6 ชาติประชุมผู้นำอ่าวเบงกอล บิมสเทค ที่กรุงเทพฯ พร้อมชวนคนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพต้อนรับ 3-4 เม.ย. นี้

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เตรียมความพร้อมให้การต้อนรับผู้นำและผู้แทนจาก 6 ประเทศสมาชิกบิมสเทค (ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) 

ได้แก่ ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ, ดาโช เชริง โตบเกย์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน, นายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐอินเดีย, นายเค พี ศรรมะ โอลี นายกรัฐมนตรีแห่งเนปาล, ดร.ฮารินี อมราสุริยะ นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งเบื้องต้นจากการรายงานข่าวสำนักข่าวต่างประเทศ โฆษกรัฐบาลเมียนมา ได้แถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา(28 มี.ค.) แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีเมียนมา จะเดินทางมาร่วมประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6  ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 3-4 เม.ย. ที่ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพมหานคร ในครั้งนี้ด้วย  

โดยนายกฯ แสดงความมั่นใจว่า ประเทศไทยและกรุงเทพมหานครมีความพร้อมจัดการประชุมครั้งนี้  จึงเชิญชวนคนไทย ทุกภาคส่วนร่วมกันเป็นเจ้าบ้านให้การต้อนรับผู้ร่วมประชุม  ซึ่งการประชุมบิมสเทคครั้งที่ 6 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพนี้เป็นการประชุมระดับนานาชาติครั้งแรกของรัฐบาลปัจจุบัน จะเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะแสดงศักยภาพในฐานะเจ้าภาพ เพื่อผลักดันความร่วมมือระดับภูมิภาคกับประเทศสมาชิก ในการเสริมสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน พร้อมกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือหลากหลายด้าน ซึ่งที่ประชุมจะรับรองเอกสารผลลัพธ์สำคัญหลายฉบับ อาทิ ปฏิญญาการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ของสมาชิกในการขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมโยงในภูมิภาค และความมั่นคง 

นอกจากนี้ที่ประชุมจะรับรองวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 (BIMSTEC Bangkok Vision 2030) ที่มุ่งเน้นความมั่งคั่ง ยั่งยืน และการเปิดกว้างของบิมสเทค โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมการค้า การลงทุน และความร่วมมือด้านการขนส่ง รวมถึงการรับรองกฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานภายใต้กรอบบิมสเทค เพื่อเสริมสร้างการบริหารจัดการและการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

สำหรับภารกิจสำคัญของนายกฯในวันพฤหัสบดีที่ 3 เม.ย. จะเป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา เพื่อต้อนรับผู้นำรัฐสมาชิกหรือผู้แทนทั้ง 6 ประเทศ และในวันศุกร์ที่ 4 เม.ย. จะเป็นประธานเปิดการประชุมผู้นำบิมสเทค ซึ่งจะมีการหารือประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุน การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน และการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านความมั่นคงทางอาหาร

“การประชุมครั้งนี้ในฐานะไทยเป็นเจ้าภาพ จะเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยแสดงบทบาทสำคัญในการผลักดันวิสัยทัศน์และนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมภายในภูมิภาคอ่าวเบงกอล จึงเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนร่วมกันต้อนรับและเป็นเจ้าภาพการประชุมบิมสเทคครั้งที่ 6 นี้” นายจิรายุกล่าว

ทั้งนี้การประชุมบิมสเทค (BIMSTEC)”ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ” ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.40 โดยมีไทยเป็นผู้ริเริ่ม ร่วมกับประเทศสมาชิก ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา โดยเป็นกรอบที่เชื่อมเอเชียใต้เข้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการในภูมิภาคอ่าวเบงกอล และเน้นการเชื่อมโยงในหลายมิติ อาทิ การค้า การลงทุน ความมั่นคง การเกษตร ความเชื่อมโยง และความยั่งยืน เป็นต้น นายจิรายุ กล่าว 

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img