“วุฒิฯ” ถกญัตติผลกระทบ “แผ่นดินไหว” สะเทือนไทย “สว.รมสิทธิ์” ลุกฉายภาพสับสนอลหม่าน น่าเวทนาประชาชนตื่นตระหนก-ทำอะไรไม่ถูก บอกคนทั้งประเทศอยากเห็นการบัญชาการวิกฤติของผู้บริหารประเทศ สว.รุมสับ “รัฐบาล” สื่อสารในภาวะวิกฤติล้มเหลว “วุฒิพงศ์” เล่าเหตุการณ์ตึกถล่ม บอกคนวิ่งโกลาหลเหมือนโลกแตก ฉะมิจฉาชีพยังส่งข้อความเร็วกว่ารัฐ แถมแนบลิงก์มาด้วย ด้าน “นันทนา” เดือด ซัด “นายกฯอิ๊งค์” ไม่เอาประสบการณ์ “สึนามิ-น้ำท่วม” จากรุ่นพ่อ-รุ่นอามาใช้ ลั่นประชาชนตะลึงตึงตึงไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำผู้สูงอายุโทษตัวเอง เป็นเพราะ “โรคความดัน-หัวใจ-บ้านหมุน”
วันที่ 31 มี.ค.2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร สว.เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้ที่ประชุมพิจารณากรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ในประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา
โดย พล.ต.ต. รมย์สิทธิ์ แถลงหลักการว่า แผ่นดินไหวดังกล่าว เป็นแผ่นดินไหวในระดับสูงมาก แม้ศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้จะเกิดในประเทศเมียนมาก็ตาม แต่ก็เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงไม่คาดคิดดว่าสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ จะเกิดขึ้นในประเทศไทยของเรา ภัยพิบัตินี้ไม่ได้เกิดการสั่นไหวแค่ไหนพื้นดินเท่านั้น แต่เกิดการสั่นไหว หวั่นวิตกของพี่น้องชาวไทยทั้งประเทศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แผ่นดินไหวในครั้งนี้ เราได้เห็นภาพวิปโยคในหลายมิติ
“เราเห็นตึกสูง 30 ชั้นถล่มลงมาต่อหน้าต่อตา มีผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย และล่าสุดวันนี้เกิดตึกเอียงทรุดเป็นหลุมต่อเนื่อง จนต้องมีการอพยพผู้คน สถานการณ์เหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าหวั่นวิตกสำหรับพี่น้องคนไทยอย่างยิ่ง” พล.ต.ต. รมย์สิทธิ์ กล่าว
พล.ต.ต. รมย์สิทธิ์ ยังขอฉายภาพสำคัญ 3 ภาพ ระบุว่า ภาพแรกเป็นภาพของการสับสนอลหม่าน ตื่นตระหนก ทำอะไรไม่ถูกของผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นภาพที่น่าสมเพชเวชทนาอย่างยิ่ง ต้องยอมรับว่าการให้ความรู้เรื่องกระบวนการรับมือกับภัยพิบัติ แผ่นดินไหว ถ้าจะพูดกันแบบตรงไปตรงมา แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นเลยในประเทศไทย หลายท่านคงเหมือนกับตนที่ยังไม่เคยได้รับการถ่ายทอดการรับมือกับแผ่นดินไหว จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดภาพที่น่าสมเพชเวชทนากับพี่น้องคนไทยเป็นอย่างยิ่ง อีกภาพหนึ่งคือภาพของการเร่งรีบ ลุกลน ของผู้ที่เป็นเจ้าของยวดยานที่จะรีบนำยานพาหนะของตัวเองออกจากอาคารจอดรถทั้งหลาย จนทำให้เกิดปัญหาความแออัดของถนนทุกเส้นทางในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นซอยเล็กซอยน้อย จนกระทั่งทำให้เกิดเดตล็อกทั้งกรุงเทพ ถนนเป็นอัมพาตต้องใช้เวลาคลี่คลายไม่น้อย ที่สำคัญคือทำให้หน่วยกู้ชีพไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมและความล้มเหลวของการบริหารสถานการณ์ในภาวะวิกฤตได้อย่างชัดเจน
“ผมอยากจะกล่าวคือการสื่อสาร เราจะพบว่าการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ เป็นอะไรที่ล่าช้า ไม่เท่าทันสถานการณ์ มีพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับ SMS ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ ผ่านมา 20 ปีแล้วระบบการแจ้งเตือนของประเทศไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่พี่น้องคนไทยทั้งชาติอยากเห็น คือการบัญชาการบริหารเหตุการณ์วิกฤตของผู้บริหารประเทศ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. เราไม่เห็นภาพนั้นเลย ด้วยเหตุผลในลักษณะที่ผมกราบเรียนดังกล่าวนี้เอง จึงทำให้เกิดปัญหา ภาพที่ไม่อยากจะเห็นจึงได้เห็น จึงนำมาสู่วันนี้ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชนและคนทั่วไปว่า ณ เวลานี้ บ้านเมืองของเรายังจะมีความมั่นคงปลอดภัยอยู่หรือไม่” พล.ต.ต. รมย์สิทธิ์ กล่าว
จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ สว.อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ด้านนาวาตรีวุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สว.อภิปรายว่า ช่วงเกิดเหตุ ตนได้ออกจากรัฐสภา เผอิญไปผ่านที่ไหนก็ไม่ผ่าน ดันไปผ่านถนนกำแพงเพชรในเวลานั้นเวลานั้นพอดีเลย ในเวลานั้นมีแผ่นดินไหว และเห็นตึกถล่มลงมากับตาสองข้าง เราก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น มองไปทางขวาก็เห็นน้ำกระฉอกจากตึกเต็มไปหมดเลย ขับรถไปอีกสักพัก คนก็วิ่งลงจากตึกจำนวนมาก เหมือนกับในภาพยนตร์ เรื่องโลกจะแตกอะไรทำนองนั้น ตนคิดว่าประชาชนมากมายก็สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบของประเทศไทย ทำไมการเตือนภัยพิบัติหลังจากเกิดเหตุแล้ว ตั้งแต่สึนามิ ผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว จนถึงปัจจุบันนี้ เราไม่มีอะไรดีขึ้นเลยหรือ จึงย้อนกลับไปศึกษา เพื่อนำมาอภิปรายในวันนี้ การแจ้งเตือนของภาครัฐแทบจะไม่มาเลย SMS ก็ไม่มา บอกว่าจะส่ง ส่งเมื่อไหร่ กี่โมงกว่าจะได้ บางคนเขาก็ได้ ตอนประมาณเกือบ 1-2 ทุ่ม ซึ่งคือหลังจากเกิดเหตุแล้วประมาณ 5- 6 ชั่วโมง แบบนี้ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาเร่งด่วนหรือไม่
“คนตกอกตกใจส่งอะไรกันเรื่อยๆเปื่อย มิจฉาชีพยังส่งข้อความได้เร็วกว่าภาครัฐอีก แถมส่งลิงค์มาด้วย เสร็จแล้วคนกดพลาด เข้าไปก็นึกว่าเตือนภัยจากภาครัฐ ที่ไหนได้ กลายเป็นมิจฉาชีพอีกแล้ว หน่วยงานของรัฐยิ่งไปกันใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และกระทรวงมหาดไทย ไม่มีหน่วยงานที่ชัดเจนประชาชนก็ไม่รับการฝึกซ้อมอย่างดี ถึงเวลาแม้กระทั่งอาจงอาจารย์ชั้นนำ ที่เป็นไอคอนของประเทศนี้ ยังวิ่งออกมาก่อนเลยจากศูนย์สิริกิติ์ ก็เพราะมันไม่มีการซ้อม ตั้งแต่เด็กจนโต ผมก็ไม่เคยเห็นการสอน ในสภาแห่งนี้ก็เพิ่งเริ่มตื่นเต้นกัน” นาวาตรีวุฒิพงศ์ กล่าว
นาวาตรีวุฒิพงศ์ กล่าวว่า หน่วยงานของภาครัฐใช้งบประมาณไปมาก แต่ไม่เกิดผล รัฐบาลได้กำหนดให้ดำเนินการเกี่ยวกับ Cell Broadcast มานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำ ยังจัดซื้อจัดจ้างไม่แล้วเสร็จ พร้อมยกคำพูดนายกรัฐมนตรีที่กล่าวในที่ประชุม ที่บอกว่า ท่านต้องตอบคำถามตรงนี้ให้ได้ เพราะดิฉันต้องตอบคำถามประชาชน ดิฉันสั่งไปตั้งแต่ก่อน 14.00 น. แต่ระบบไม่ออก ก่อนจะย้ำว่า ถึงเวลาปฏิรูปแล้ว
ด้านน.ส.นันทนา นันทวโรภาส อภิปรายอย่างดุเดือดว่า แผ่นดินไหวที่ผ่านมาเปลือยเปล่าระบบราชการไทยและรัฐบาลอย่างชัดเจนที่สุด จนทำให้คนไทยตาสว่างกันเลยทีเดียว นี่เป็น Once in a lifetime แต่เราคงไม่ใช้คำว่าเป็นบุญที่ได้เจอแน่นอน แม้จะเป็นครั้งแรกที่ประสบ แต่รัฐบาลก็ไม่อาจแสดงความรักไร้เดียงสา ปฏิเสธความรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ถ้าจะว่าไปแล้วครอบครัวของท่านนายกฯ เคยเผชิญวิกฤตแล้ว รุ่นพ่อเจอสึนามิ รุ่นอาเจอน้ำท่วมใหญ่ มาถึงท่านนายกฯ น่าจะเอาประสบการณ์การบริหารภาวะวิกฤติมาใช้ได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่นี่หาได้มีความเป็นมืออาชีพไม่
น.ส.นันทนา กล่าวว่า แผ่นดินไหวสะท้อนการจัดการของรัฐบาลมากมาย 1.ขาดการสื่อสารในภาวะวิกฤติอย่างมีประสิทธิภาพ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ประชาชนตะลึงตึงตึง ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ผู้สูงอายุโทษตัวเองว่าโรคความดัน หัวใจ บ้านหมุน ทำอะไรไม่ถูก เพราะไม่มีใครมาบอกว่าเกิดอะไรขึ้น ต้องรอจนโซเชียลมาช่วยกันแชร์ภาพ ถึงได้รู้ว่านี่คือแผ่นดินไหว ก่อนหน้านี้หาทางออกชีวิตไม่เจอ 2.ปัญหาการบริหารจัดการ ขาดเจ้าภาพสั่งการในที่เกิดเหตุ หน่วยงานภาครัฐไปถึงช้ากว่าองค์กรพัฒนาเอกชน ที่สำคัญภาครัฐไม่มีใครบัญชาการสถานการณ์ ปล่อยตามธรรมชาติเรียกว่าตามมีตามเกิด 3. การช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ล่าช้า จนไม่รู้จะร้องขอความช่วยเหลือจากใคร มีแต่องค์กรพัฒนาเอกชนที่ประชาชนต้องช่วยกันเอง 4.ขาดการปฎิบัติการแบบมืออาชีพ ในสถานการณ์ที่ตึกถล่ม ไม่มีการปิดล้อมพื้นที่ทันทีที่เกิดเหตุ ทุกคนกรูเข้าไป ไม่มีการรักษาหลักฐาน คนที่บาดเจ็บอยู่ใต้ซากปรักหักพัง เขาต้องการการกู้ภัยแบบมืออาชีพ แต่กลายเป็นว่าทุกอาชีพเข้าไปอยู่ในพื้นที่ประสบภัย การช่วยเหลือจะมีประสิทธิภาพได้อย่างไร เรายังไม่ทราบเลยว่ามีกี่คนที่เขาไปทำงานในที่เกิดเหตุ เราจะเยียวยาอย่างไรถือเป็นเรื่องเร่งด่วนมาก
น.ส.นันทนา ระบุว่า การสื่อสารในภาวะวิกฤตเป็นเรื่องที่รัฐบาลทำช้าและทำน้อยเกินไป เพราะทันทีที่เกิดแผ่นดินไหว รัฐต้องแจ้งต่อประชาชนให้ทราบทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น มันจะต้องเกิดภัยพิบัติอีกเมื่อไหร่อี รัฐบาลถึงจะเตือนภัยประชาชน รัฐบาลไม่เคยสื่อสารให้ประชาชนอุ่นใจ มีแต่คอลเซ็นเตอร์เท่านั้นที่อยู่กับเรา แม้ว่าเราจะไม่ต้องการมันเลย ซึ่งเรื่องนี้ ตนทราบว่ารัฐบาลนี้ได้ตั้งงบประมาณพันล้านบาท เพื่อสร้างระบบเตือนภัย
“ท่านนายกฯ พูดว่าดิฉันสั่งการไปตั้งแต่ 14.00 น. แต่ระบบไม่ออก ปัญหาใหญ่ขนาดนี้ หน่วยงานภาครัฐเกี่ยงกันทำงานอีก มีกระแสข่าวว่าบริษัทอินเทอร์เน็ตทั้ง 2 ค่าย พร้อมส่ง SMS แต่ กสทช. และ ปภ.ไม่พร้อม ไม่รู้ว่าจะส่งข้อความอะไร มัวแต่ลังเลไป 23 ชั่วโมงผ่านไป ดิฉันได้รับ SMS ถึงวิธีการปฏิบัติตัวหากเกิดอาฟเตอร์ช็อก ดิฉันไม่แน่ใจว่า SMS นี้ ท่านส่งมาเตือนตัวเองหรือไม่ ให้รวบรวมสติแล้วรีบส่งข้อความอย่างเร็วไปให้ประชาชนรับรู้” น.ส.นันทนา กล่าว
ขณะที่พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย ลุกหารือว่า เหตุการณ์มันเกิดขึ้นแล้ว เรามาร่วมกันหาทางออกดีกว่าหรือไม่ ในวุฒิสภามีผู้มีความรู้ความสามารถ วิศวกรหลายท่าน แต่พลเอกเกรียงไกร กล่าวตัดบทว่า ที่อภิปรายอยู่ขณะนี้ มีคนเก่งๆ กำลังหาทางออกให้อยู่ เดี๋ยวจะให้รัฐบาลทำอะไรก็คงได้คุยกัน รวมถึงที่ทุกคนพูดถึงเมื่อเช้านี้ด้วย หลายคนปราดเปรื่องมาก จะเสนอให้รัฐบาลว่ากันไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการอภิปรายส่วนใหญ่ สว.พุ่งเป้าไปที่การแจ้งเตือนหลังเกิดเหตุ โดยยกประสบการณ์ตนเอง และหลายคนยกตัวอย่างการแจ้งเตือนของต่างประเทศที่รวดเร็ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. อภิปรายวว่า จากการตรวจสอบของงบประมาณตามกฎหมายงบประมาณปีที่ผ่านมา ส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัย (ปภ.) พบการตั้งงบประมาณเพื่อระบบแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตั้งงบผูกพันตั้งแต่ปี 67-69 กว่า 269 ล้านบาท และยังมีงบประมาณเพื่อสำหรับกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ในกรมอุตุนิยมวิทยา สังกัดกระทรวงดีอี ซึ่งระบุว่าจะมีเครือข่ายสมรรถนะสูง ตรวจเฝ้าระวังแผ่นดินไหว และสึนามิ ตั้งงบไว้ 271 ล้านบาท ตั้งแต่ปี67-69 แม้จะมีการชี้แจงถึงระบบเซลบรอดเคส ปลายไตรมาสสองของปีนี้ ตั้งงบไว้ปี2567 แต่ระบบแจ้งเตือนทางโทรศัพท์และการเฝ้าระวัง ทำไมถึงปล่อยให้ระบบเตือนภัยบกพร่องซึ่งระบบดังกล่าวควรเร่งรัด หากรอไปถึงปลายไตรมาสสองคงไม่ทัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่านอกจากที่สว.จะอภิปรายถึงระบบเตือนภัยของรัฐบาลที่ล้มเหลวและไม่ทันต่อการแจ้งเตือนช่วงเกิดภัยพิบัติแล้ว ยังพบว่ามมีการอภิปรายถึงการก่อสร้างอาคารที่มีผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นอาคารของส่วนราชการ เช่น อาคารสตง. อาคารศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ อาคารสำนักงานศาล จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบรายละเอียด เพราะกังวลว่าอาจมีการทุจริตเกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนแบบก่อสร้าง การแก้ไขเหล็กที่ใช้ก่อสร้างจนทำให้อาคารไม่สามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้
นายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา สว. อภิปรายถึงอาคาร สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่ากรณีที่เกิดขึ้นนั้น ตึกอื่นที่ก่อสร้างจำนวนมาก ไม่ถล่ม แต่ถล่มที่ สตง. แห่งเดียว ถือว่าน่าอับอายและทำให้ประเทศเสียภาพลักษณ์ ซึ่งบริษัทรับเหมาก่อสร้างซึ่งร่วมทุนกับนอมินีจีน มีบทลงโทษกับบริษัทด้อยคุณภาพ ไร้มาตรฐานการก่อสร้างอย่างไร และทำไมหน่วยงานที่รับผิดชอบและควบคุมการก่อสร้างละเลยทำไมไม่ตรวจสอบ ทำให้ถูกมองถึงความไม่โปร่งใส
นายยุคคล อภิปรายด้วยว่า ประเทศไทยมีนักธรณีวิทยา ได้แจ้งเตือนให้ประชาชนทราบถึงเหตุแผ่นดินไหวหรือไม่ รวมถึงมาตรการของรัฐบาลต่อการเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนอย่างไร รวมถึงการเตรียมรับมือ ต่อเหตุอาฟเตอร์ช็อก ที่จะตามมาอย่างไรเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่น
ขณะที่นางประทุม วงศ์สวัสดิ์ สว. อภิปรายโดยเชื่อว่ามีการคอรัปชั่นก่อสร้างตึกสตง.แห่งใหม่ แต่ไม่มีใครกล้าหาญจะพูด เพราะระบบอุปถัมภ์ค้ำคอ ทั้งนี้ตนขอเตือนไปยังหน่วยงานราชการว่าไม่ควรเพิกเฉย ละเลยสิ่งผิด ทั้งนี้อาคารที่มีปัญหานั้นส่วนใหญ่เป็นตึกของราชการ นอกจากนั้นแล้วในส่วนของอาคารรัฐสภามีหลายอย่างไม่ชอบมาพากลแต่นิ่งเฉย
“วันนั้นดิฉันอยู่ในเหตุการณ์ ไม่พบเสียงเตือน และต้องหนีลงบันไดหนีไฟ ซึ่งป้ายเตือนภัยสำคัญ ควรมีกล่องไฟแจ้งทางหนีไฟ ดิฉันลงบันไดหนีไฟ เพิ่งทราบจุดของบันไดหนีไฟ และเพิ่งทราบว่าบันใดหนีไฟสร้างด้วยไม้สักอย่างดี ขณะที่เพดานของห้องประชุมเป็นแผ่นไม้ หากเกิดอะไรขึ้นและตกลงมา ไม่มีใครทันใส่หมวกนิรภัยแน่นอน” นางประทุม กล่าว
หลังจากสว.อภิปรายแสดงความคิดเห็นเสร็จสิ้น จะให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาส่งข้อสังเกต และข้อเสนอแนะของสมาชิกไปยังครม.รับทราบ และมอบหมายให้คณะกรรมาธิการ(กมธ.)บริหารราชการแผ่นดินวุฒิสภาไปศึกษาเพิ่มเติม และเมื่อพิจารณาแล้วเสร็จให้เสนอผลการพิจารณาต่อที่ประชุมวุฒิสภาต่อไป