สส.หารือรับมือแผ่นดินไหว “ครูจวง” แนะเปิดหลักสูตรวิชา”การเอาตัวรอด”จากภัยพิบัติให้ นักเรียน-คนไทยทุกคน ทั้งภาคปฎิบัติ-ทฤษฎี “สส.ปชน.”เร่งเตรียมระบบเตือนภัย-เยียวยา ขณะที่”หมอทศ”หวั่นซ้ำรอย เหตุศูนย์ราชการจ.แพร่ ที่กำลังก่อสร้าง รับเหมาเจ้าเดียวกับ สตง.
วันที่ 2 เม.ย.2568 เวลา 09.00 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระ ได้เปิดให้สมาชิกหารือปัญหาความเดือนร้อนในพื้นที่ โดยนายภัทรพงษ์ ภัทรประสิทธิ์ สส.พิจิตร พรรคภูมิใจไทย หารือว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลจะจริงจังกับเรื่อสินค้า มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.)เพราะไม่ใช่แค่เหล็กและอุปกรณ์ก่อสร้าง ยังรวมไปถึงของเล่นเด็ก อุปกรณ์ไฟฟ้า เพราะ จ.พิจิตรเกิดปัญหาไฟไหม้หลายครั้ง ซึ่งหลายครั้งที่เกิดเหตุเกิดจากสินค้าไม่ได้มาตรฐาน จากเบรกเกอร์ ปลั๊กพ่วง ที่ซื้อมาจากตลาด และรถเร่ จึงขอฝากไปยัง มอก.และกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าไปตรวจสอบด้วย
ด้านนายปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน หารือว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวนี้ ตนเห็นว่าปัจจุบันนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างยิ่งที่นักเรียน และผู้ใหญ่คนไทยทุกคน จำเป็นจะต้องได้เรียนและฝึกทักษะอย่างจริงจังในวิชาการเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกรูปแบบ และในรอบปีที่ผ่านมาเกิดไฟดูดที่จ.ตรัง ,รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ และล่าสุดแผ่นดินไหน ดังนั้นตนคิดว่าภัยธรรมชาติ รวมถึงอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอด จึงเห็นว่านักเรียนและคนไทยทุกคนต้องเรียนกับทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฎิบัติ
โดยเน้นต้องได้ลงมือปฏิบัติซ้ำๆ จนเกิดทักษะและสมรรถนะเอาตัวรอดให้ได้ เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องออกแบบวิชานี้ในโรงเรียน รวมถึงหลักสูตรอบรมระยะสั้น ระยะยาว สำหรับประชาชนทั่วไป โดยต้องเป็นความร่วมมือของทุกหน่วยงานทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรเอ็นจีโอ ภาคประชาสังคมต่างๆ ให้เร่งสร้างวิชานี้ขึ้นมา
ขณะที่นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง สส.ขอนแก่น พรรคประชาชน หารือว่า จากเหตุแผ่นดินไหวมีพี่น้องประชาชนจังหวัดขอนแก่นยังติดอยู่ในซากประหลักหักพังของตึกสตง.ถึง 3 คน คือนายสาทิตย์ เหล่าทา 2.น.ส.อนุสรา พรมมา และ3. นายขวัญชัย เหล่าเพ็ง ที่ยังไม่ทราบชะตากรรม และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขอเรียนไปยังนายกฯ ในการตรวจสอบและประเมินความเสียหาย สาเหตุของการถล่ม พร้อมทั้งการวางแผนฟื้นฟูการป้องกันเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต รวมไปถึงการทบทวนมาตรฐานในการก่อสร้างความปลอดภัยในการทำสัญญาว่าจ้างระหว่างหน่วยงานภาครัฐและบริษัทผู้รับเหมา ซึ่งอาจจะไม่มีมาตรฐานในการดำเนินงาน รวมถึงการเลือกใช้วัสดุที่อาจจะไม่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งการเตรียมระบบเตือนภัยให้กับพี่น้องประชาชนไว้ด้วย รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาที่รัฐบาลต้องพิจารณา เพราะไม่เฉพาะต้องสูญเสียชีวิต แต่เป็นการสูญเสียรายได้หลักของครอบครัว
ส่วน น.พ.ทศพร เสรีรักษ์ สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย หารือว่า ที่จ.แพร่ มีศูนย์ราชการที่กำลังก่อสร้างแต่ประสบความล่าช้า ทราบว่าผู้รับเหมา อยู่ในกลุ่มบริษัทเดี่ยวกันกับที่สร้าง ตึกสตง. จึงขอให้จังหวัดแพรเร่งตรวจสอบด้วย เพราะหากผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการ เข้าไปทำงานในตึกใหม่ที่จะเสร็จแน่นาคตอาจจะต้องทำงานด้วยความวิตกกังวล