“สมพงษ์” นำฝ่ายค้านยื่น 5 ร่างแก้รธน.ราย “พิธา” ยันเอกภาพพรรคร่วมฝ่ายค้านยังเหนียวเเน่น ขณะที่ “ชวน” เร่งเข้าวาระ 23 มิ.ย.นี้
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.64 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมด้วยตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ยื่นครั้งนี้มี 5ร่างประกอบด้วย 1.การแก้ไขมาตรา 256 ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ไปยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเว้นหมวด1และ2 โดยมีสมาชิกพรรคฝ่ายค้านเข้าชื่อบางส่วน
2. การแก้ไขมาตรา272 ตัดอำนาจส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นร่างที่มีส.ส.ฝ่ายค้านลงชื่อกันอย่างพร้อมเพรียง 3.การแก้ไขเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ อาทิ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด3 มาตรา29 เรื่องการเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม มาตรา45 และ47 เรื่องสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
4.การแก้ไขมาตรา 83 ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ ให้มีส.ส.แบ่งเขต 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แทนระบบจัดสรรปันส่วนผสม 5.ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 275 และ279 ในเรื่องการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการยกเลิกอำนาจคสช. ยืนยันว่า การขอแก้ไขมาตรา 256 ให้ตั้งส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น สามารถดำเนินการได้ตามกระบวนการรัฐสภา ไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเมื่อร่างพ.ร.บ.ประชามติผ่านความเห็นชอบจากสภาโดยสมบูรณ์ ก็จะสอดคล้องกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายค้านเสนอไป ส่วนเรื่องระบบเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอมานานแล้ว ยึดแนวทางเก่าที่พรรคเพื่อไทยเคยทำมา เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี40 เราอาจมีความคิดไม่ตรงกันบ้างบางประเด็น แต่เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในชั้นกมธ. จะเกิดการถกเถียงจนมีทางเลือกดีที่สุดแก่ประชาชน
ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกล จะร่วมกับพรรคเพื่อไทย ในการจะร่วมเสนอแก้ไขโดยเฉพาะมาตรา 272 เรื่องตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ เพราะเป็นต้นตอความบิดเบี้ยว เวลาสื่อสารไม่อยากให้สับสนเพราะการเสนอแก้ไขรอบนี้ เเต่ละพรรคมีหลายประเด็น ขณะนี้อะไรก็ไม่สำคัญเท่าเอา ส.ว. 250 ออกจากการเมืองไทย
เมื่อถามถึงกรณีพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย เห็นไม่ตรงกันเรื่องระบบเลือกตั้งหรือบัตรเลือกตั้ง นายพิธา กล่าวว่า ไม่เเปลกสำหรับประชาธิปไตยมีการถกเถียงในหลายรูปแบบ ซึ่งบัตรเลือกตั้ง 2 ใบมีหลายรูปแบบ ก็คงมีการหารือกันว่า ยังไม่ตกผลึกว่าแบบใดเหมาะสมการเมืองไทยมากที่สุด ยืนยันพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล มีเอกภาพ โดยเฉพาะเรื่องตัดอำนาจ ส.ว. ส่วนเรื่องที่เหลือมีโอกาสพูดคุยในวาระต่อๆ ไป ยืนยันในความเห็นต่างยังสามารถพูดคุยกันได้
เมื่อถามอีกว่า แต่ยังมีส.ส.ก้าวไกลออกมาโพสตเฟซบุ๊กตอบโต้โจมตีพรรคเพื่อไทย เรื่องบัตรเลือกตั้ง นายพิธา กล่าวว่า ไม่เรียกว่าการโจมตี ที่ผ่านมาเราพูดคุยกันตลอด ยืนยันอะไรเห็นร่วมกันก็สนับสนับผลักดันให้เกิดขึ้น อะไรที่ต่างกันก็พูดคุยถกเถียง ส่วนการโพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้นั้น เพราะยังไม่ถกผลึกกัน ไม่ใช่ว่าเราจะปฏิเสธไม่เข้าร่วม เราพูดกันตรงไปตรงมาในฐานะเพื่อนผู้ร่วมประชาธิปไตยประเด็นสำคัญตอนนี้คือ ส.ว. ไม่ใช่ระบบเลือกตั้ง ตอนนี้ไม่ว่าจะระบบเลือกตั้งจะเป็นแบบไหน เเต่ถ้าส.ว.ยังอยู่ ผลลัพธ์ก็ไม่ต่างกัน.
ขณะที่ นายชวน ระบุว่า ได้กำหนดวาระประชุมรัฐสภา ระหว่างวันที่ 22-23 มิ.ย. โดยวันที่ 22 มิ.ย.เป็นการประชุมร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ ส่วนวันที่ 23มิ.ย.จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะจะพยายามทำให้เสร็จในวันเดียว หากไม่เสร็จจะต่อการพิจารณาในวันที่ 24 มิ.ย.อีกหนึ่งวัน ในส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จะดูว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคเสนอร่างแก้ไขมาจำนวนเท่าใด เพื่อจะได้นำไปพิจารณาพร้อมกับฉบับของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ยื่นมารอไว้แล้ว โดยมาตรการประชุมรัฐสภานั้น ยังคงเคร่งครัดเรื่องมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยให้สวมหน้ากากอนามัย 100% ส่วนการเว้นระยะที่นั่งคงทำได้ไม่เต็มที่ เพราะจำนวนสมาชิกค่อนข้างมาก สิ่งที่ดีที่สุดคือ การสวมหน้ากาก