หวิดวุ่นอีกรอบ! หลัง สส.ชิงเสนอญัตติ ‘กำแพงภาษีทรัมป์’ พรึ่บ ทำ ‘ปกรณ์วุฒิ’ ลุกท้วง เหตุระบบรวน โวยทำไมไม่ยึดตามมติวิป โผล่กันมาหน้างานเป็น 10 ญัตติ เดี๋ยวเป็นแบบครั้งแผ่นดินไหว ด้าน ‘ชลน่าน’ ติงประธาน ถ้ารับพิจารณาแล้ว จะเสนอซ้ำไม่ได้ ขณะ ‘จุลพันธ์’ บอก ‘นายกฯ’ สนใจมาก ขอนำ ขรก.ร่วมฟังประชุมด้วย
วันที่ 9 เม.ย.68 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งตามระเบียบวาระ จะเป็นเรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุม , การรับทราบรายงานของวุฒิสภา และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ….
ปรากฏว่า นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคกล้าธรรม ลุกขึ้นกล่าวว่า เรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ก็สำคัญ แต่สถานการณ์ที่มีการประกาศขึ้นภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทุกประเทศ แน่นอนว่าประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ตนคิดว่าเรื่องกฎหมายก็มีความสำคัญ แต่เรื่องภาษีที่จะกระทบต่อพี่น้อง โดยเฉพาะเกษตรกร มีความสำคัญยิ่งกว่า จึงขอเสนอญัตติด่วน เรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากนโยบายการขึ้นภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ
จากนั้น นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติด่วน เพื่อให้สภาขอให้ติดตามและการเก็บภาษีของสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน , รวมถึง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ที่เสนอญัตติด่วน เป็นคนที่ 3 ขอให้สภาฯ ศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขึ้นภาษีนำเข้าของประเทศสหรัฐอเมริกา แนวทางการเจรจา และมาตรการบรรเทาผลกระทบ
ต่อมาได้มี สส.จากพรรคต่างๆ เสนอญัตติด่วนในทำนองเดียวกันนี้ ประกอบด้วย นายจุติ ไกรฤกษ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ , นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา , นายประมวล พงษ์ถาวราเดช สส.ประจวบคีรีขันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ และนายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย
ขณะที่นายสิทธิพล วิบูลธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เสนอญัตติด่วน ขอให้สภาฯ พิจารณาแนวทางการรับมือผลกระทบของสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจไทย เพื่อให้กรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ศึกษาแนวทาง
ต่อมานายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นเตรียมเสนอ แต่นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ลุกประท้วงตัดหน้า ระบุว่าปกติเวลาเสนอญัตติอะไร จะมีการพูดคุยทางวิป 2 ฝ่ายก่อนว่าจะมีกี่ท่านและมีกี่ญัตติ อยากให้ยึดตามแนวทางวิป
“ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะเป็นแบบครั้งที่แล้ว (ญัตติแผ่นดินไหว) ที่โผล่กันมา 11 ญัตติกว่าจะเสนอกันเสร็จ กว่าจะจบ ครั้งที่แล้วมันยาวนานขนาดไหน ถ้าอยากจะตั้ง มันควรจะมีการประสานกันล่วงหน้า ไม่ใช่มาหน้างาน เรายกมือเสนอ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะมี 20 ญัตติ ก็ไม่ต้องพิจารณากันแล้ว” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
ทำให้นายภราดร กล่าวว่า ขอให้หารือกันก่อน นายธีระชัย จึงสวนว่าฝ่ายค้านก็มีอยู่ 2 ท่านที่เสนอเหมื
อนกัน นายภราดร ตัดบทว่าให้ปรึกษากับทางวิปก่อน
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส.เลย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนในฐานะวิปรัฐบาล อยากให้ขอพรรคละ 1 คนหรือถ้าเป็นตัวแทน ก็เป็นตัวแทนพรรคใดพรรคหนึ่ง
นายปกรณ์วุฒิ จึงกล่าวว่า นายสิทธิพลเป็นประธานคณะ กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ อยากจะนำเรื่องนี้เข้าไปศึกษาต่อ จึงเสนอด้วยตนเอง ตอนนี้จะมีฝั่งรัฐบาล 6 ญัตติ ฝ่ายค้าน 2 ญัตติ ซึ่งตนคิดว่าจำนวนก็ค่อนข้างเหมาะสม
จากนั้น พรรคประชาชาติ และพลังประชารัฐ ได้ขอลุกขึ้นเสนอญัตติในทำนองเดียวกันเพิ่ม ก่อนที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะคณะรัฐมนตรี ลุกขึ้นกล่าวว่า ในญัตติที่ สส. ได้เสนอขึ้นมา ทางรัฐบาลให้ความสนใจ นายกรัฐมนตรีเลยได้ดำริที่จะให้คณะรัฐมนตรีเข้ามามีส่วนร่วม โดยมอบหมายให้ตนและรัฐมนตรี ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามารับฟังข้อเสนอแนะและความเห็นในการนำไปเจรจากับประเทศสหรัฐอเมริกา
จากนั้น นายปกรณ์วุฒิ ลุกขึ้นขอหาหรืออีกครั้งทันที ว่าครั้งหน้า ต้องยึดตามจำนวนผู้เสนอญัตติที่ได้ตกลงกัน หากพรรคใดที่ประสงค์เสนอ ขอให้ส่งมาทางวิป ไม่ใช่เข้ามาเสนอในสภา ตอนแรกบอกไม่มีผู้เสนอ แล้วเข้ามาเสนอหน้างาน มันจะทำให้การวางแผนระหว่างวิปทั้ง 2 ฝ่ายสะดุดและติดขัดมากขึ้น
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นหารือด้วยว่า ในสมัยการประชุมนี้และสมัยที่ผ่านมามักจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งที่การเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ต้องอาศัยข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 66 ว่าด้วยการอภิปรายมาร่วมด้วย คือ ถ้าเปิดโอกาสให้สมาชิกเสนอญัตติด้วยวาจา ทุกคนมีสิทธิ์เสนอ และเมื่อรับญัตติไว้พิจารณาแล้ว จะเสนอญัตติในทำนองเดียวกันไม่ได้ ญัตตินั้นจะต้องตกไป ทำให้วิธีปฏิบัติในขณะนี้มีความคลาดเคลื่อน ทำให้มีผู้เสนอญัตติถึง 20 คน โดยไม่มีผู้อภิปรายสนับสนุนและอภิปรายสรุป ดังนั้นโดยหลักการแล้วเมื่อมีผู้เสนอญัตติประธานจะต้องให้มีผู้อภิปรายได้ 1 คน ที่เหลือจะเป็นการอภิปรายสลับระหว่าง2ฝ่าย เว้นแต่มีการเสนอเรื่องคล้ายกัน แต่ญัตติแตกต่างกัน เช่น คนหนึ่งเสนอส่งให้คณะรัฐมนตรี อีกคนเสนอส่งให้คณะ กมธ. ไม่เช่นนั้นจะเกิดเหตุการณ์เหมือนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา จึงขอให้ประธานพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม
ขณะที่นายภราดร กล่าวเห็นด้วยกับ นพ.ชลน่าน แต่ข้อได้เปรียบของผู้เสนอญัตติคือจะสามารถอภิปรายเปิดญัตติได้โดยไม่มีการจับเวลา ซึ่งในสมัยการประชุมที่แล้ว มีการกำหนดเวลาอภิปรายได้ไม่เกินคนละ 5-7 นาที จึงเป็นที่มาว่าผู้ที่ต้องการอภิปรายนานเปลี่ยนมาเป็นผู้เสนอญัตติเสียเอง จึงได้ขอให้วิป 2 ฝ่ายพูดคุยกันก่อนจะเริ่มต้นการประชุม โดยเสนอว่าฝ่ายค้าน 1 ญัตติ ฝ่ายรัฐบาล 1 ญัตติ แต่เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก พรรคการเมืองจึงอยากจะใช้สิทธิ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ในครั้งหน้าถ้าเป็นไปได้อยากให้เสนอญัตติฝ่ายละหนึ่งคน เพื่อไม่ให้เสียเวลา