รัฐบาลเดินหน้าแก้หนี้ภาคประชาชน โรงรับจำนำรัฐ นำร่องลดดอกเบี้ยผู้ถือบัตรคนจน ชวนเข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.64 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยสถานการณ์หนี้ภาคประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน และถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ประชาชนบางกลุ่มขาดรายได้ จนทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง จึงสั่งการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งกำหนดแนวทางช่วยบรรเทาภาระหนี้ประชาชน
โดยข้อมูลจากกรมบังคับคดีรายงานว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 63-เม.ย. 64) มีคดีแพ่งเข้าสู่การบังคับคดีจำนวน 138,997 คดี คดีส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น 80-90% เป็นหนี้ครัวเรือน คือหนี้บัตรเครดิต เช่าซื้อรถ รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม คดีที่เข้ามาสู่การบังคับคดีนั้นส่วนใหญ่ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นมาก่อนการระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ ตามข้อสั่งการนายกฯ หลายหน่วยงานได้ร่วมกันออกมาตรการแก้ปัญหามาระยะหนึ่งแล้ว อาทิ มหกรรมไกล่เกลียหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นความร่วมมือระหว่างทางธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานศาลยุติธรรม และกรมบังคับคดี ซึ่งประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก มีสินเชื่อที่ขอรับความช่วยเหลือแล้ว กว่า 7 แสนบัญชี เข้าเงื่อนไขได้รับการช่วยเหลือประมาณ 30%
ผู้ที่สนใจยังสามารถขอไกล่เกลี่ยหนี้ฯได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.นี้ และยังมี มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อรถยนต์ออนไลน์ เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานศาลยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พร้อมกับผู้ให้บริการ 12 แห่ง โดยผู้เช่าซื้อสามารถเจรจาปรับลดวงเงินรายเดือน ยืดหนี้ ลดดอกเบี้ย หรือพักหนี้ได้หากจำเป็น นับตั้งแต่เริ่ม เมื่อ 1 มิ.ย. มีจำนวนผู้เช่าซื้อสนใจลงทะเบียนแล้ว 13,450 คัน และจะเปิดให้เข้าร่วมมหกรรมฯถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้ สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูล ได้ที่ 1213 ของธนาคารแห่งประเทศไทย
รวมทั้ง สถานธนานุเคราะห์ (สธค.) หรือโรงรับจำนำของรัฐ ทั้ง 40 แห่ง ได้ออกมาตรการช่วยเหลือ แบ่งเบาภาระรายจ่ายดอกเบี้ย ร่วมฝ่าวิกฤติโควิด-19 แล้ว เป็นการจัดโปรโมชั่น “จ่ายคนละครึ่ง” ลดดอกเบี้ย 50% แก่ผู้มาใช้บริการที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงินจำนำไม่เกิน 5,000 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2564 จำกัด 1 คน 1 สิทธิ์ ต่อ 1 รอบตั๋วจำนำ โดยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ สามารถส่งดอกเบี้ยที่ ณ สาขา หรือผ่านร้าน 7-11 หรือกรุงไทย NEXT ได้
“ท่านนายกฯ มีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้เบ็ดเสร็จ โดยมอบหมายคณะทำงาน ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่มีรองนายกรัฐมนตรี สุพัฒนพงศ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นผู้รับผิดชอบ โดยเน้นการขับเคลื่อน 3 เรื่องควบคู่กัน คือ การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน การกำกับดูแลเจ้าหนี้เพื่อให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม และการปรับโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน ” น.ส.รัชดา กล่าว
ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติจะประกอบด้วยมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว อาทิ การใกล่เกลี่ยหนี้สินลดการดำเนินคดี เช่น หนี้กยศ. หนี้สหกรณ์ การปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ อาทิ สหกรณ์ สินเชื่อรายย่อยPICO และ NANO การส่งเสริมการแข่งขันให้ดอกเบี้ยถูกลง การเพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุน เป็นต้น ซึ่งความคืบหน้าการแก้ปัญหาจะมีการรายงานให้ท่านนายกทราบอย่างต่อเนื่อง